เมื่อทุกชีวิตต้องตาย แต่ทำไมจึงไม่มีใครอยากศึกษาและปฏิบัติเพื่อให้จิตหลุดพ้นจากความตาย?

เจ้าชายสิทธัตถะทรงพิจารณาเห็นชีวิตที่เต็มไปด้วยความสุขว่ามันไม่เที่ยง ไม่ยั่งยืน เป็นของลวง เป็นของเล็กน้อย ไม่ช้าความแก่ และความตายก็จะมาถึง ซึ่งเมื่อถึงเวลานั้นมาถึง ความทุกข์อันใหญ่หลวงก็จะเกิดขึ้น (เพราะต้องพลัดพรากจากบุคคลและสิ่งอันเป็นที่รักไป) นี่เองที่ทำให้พระองค์ทรงเสด็จออกบวชเพื่อค้นหาโมกขธรรม (ธรรมะเพื่อความพ้นทุกข์) จนได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าขึ้นมา

เมื่อความทุกข์จากความแก่และความตาย จะต้องเกิดกับเราอย่างแน่นอนในอนาคต แต่ทำไมเราจึงยังคงสนุกสนานเพลิดเพลินในความสุขของโลกกันอยู่ โดยไม่กลัวต่อความทุกข์ที่รอเราอยู่? เหมือนคนที่กู้เงินเขามาใช้อย่างสุขสบายโดยไม่สนใจจะใช้หนี้ และไม่คิดถึงว่าในอนาคตเจ้าหนี้เขาจะต้องมาเอาเราไปฆ่าหรือเอาไปทรมานเพื่อทดแทนหนี้ของเขา

หรือเป็นเพราะเราไม่สนใจว่าในอนาคตจะเป็นอย่างไร ขอปัจจุบันให้มีความสุขเท่านั้นพอ ถ้าเป็นอย่างนี้ก็จัดว่าเป็นคนไร้ปัญญาอย่างยิ่ง

หรือเป็นเพราะเราเชื่อว่าเราไม่มีทางที่จะปฏิบัติให้หลุดพ้นจากความทุกข์จากความแก่และความตายได้ ถ้าเป็นอย่างนี้ก็แสดงว่าเรายังไม่เข้าใจในหลักอริยสัจ ๔ ของพระพุทธเจ้าว่าสามารถช่วยให้เราหลุดพ้นจากความทุกข์จากความแก่และความตายได้

สรุปได้ว่า พระพุทธเจ้าได้สอนวิธีปฏิบัติเพื่อให้จิตหลุดพ้นจากความทุกขอันใหญ่หลวงของชีวิตในปัจจุบัน (คือหลักอริยสัจ ๔) ที่เกิดมาจากความยึดมั่นว่ามีเราแก่ ว่ามีเราจะตาย ว่ามีเราพลัดพรากจากบุคคลและสิ่งอันเป็นที่รัก ว่ามีเราที่ประสบกับบุคคลหรือสิ่งอันไม่เป็นที่รัก และว่ามีเราที่ผิดหวัง แต่เรากลับไม่สนใจที่จะศึกษาและปฏิบัติเพื่อให้หลุดพ้นจากความทุกข์เหล่านี้ หรือถึงศึกษาก็ศึกษาไม่จริงจัง หรือศึกษาเพราะเข้าใจผิดว่าเป็นการปฏิบัติเพื่อไปดับทุกข์ในชาติหน้า  แล้วอย่างนี้จะทำให้เราหลุดพ้นจากความทุกข์อันใหญ่หลวงของชีวิตในปัจจุบันได้อย่างไร?
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่