-= เปิดโพย 30 จังหวัดน่าลงทุนปี 2557 รับคลื่นธุรกิจ "อสังหาฯ-ค้าปลีก" บูม =-

กระทู้สนทนา
ตลอดปี 2556 รัฐบาลโหมโรงโครงการลงทุน 2 ล้านล้านมาอย่างต่อเนื่อง จนมาถึงปลายปีที่ผ่านมามีการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ (รธน.) ส่งผลทำให้ร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาทจำต้องชะลอไปจนกว่าจะมีคำชี้ขาดออกมา



เป็นที่ทราบกันดีตลอดปีที่ผ่านมา เมกะโปรเจ็กต์ใน 2 ล้านล้านบาท เป็นไฮไลต์และมีอิทธิพลให้หลายธุรกิจที่เกาะไปกับการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของรัฐ นำไปเป็นธงการวางแผนพัฒนาธุรกิจในอนาคต

โปรเจ็กต์รัฐ-เออีซีหนุนส่ง

ไม่ว่าจะเป็นอสังหาริมทรัพย์ค้าปลีก วัสดุก่อสร้าง ธนาคาร เป็นต้น ที่ปรับแผนธุรกิจรุกตลาดภูธรกันมาก รับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม ที่จะขับเคลื่อนการลงทุนและย้ายถิ่นฐานไปอยู่อาศัยตามต่างจังหวัด

"ชายชาติ พยุหนาวีชัย" รองกรรมการผู้จัดการ บมจ.ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า การลงทุนก่อสร้างด้านโครงสร้างพื้นฐาน จะส่งผลดีต่อการทำธุรกิจตลาดต่างจังหวัด โดยเฉพาะอสังหาริมทรัพย์และค้าปลีก ขณะที่ตลาดกรุงเทพฯและปริมณฑลมีแนวโน้มคงที่

"ตลาดต่างจังหวัดมีหลายอย่างหนุนให้โต มีโครงการใหญ่ของรัฐบาล การเปิดเออีซี การขยายตัวของเมืองเริ่มไปตามหัวเมืองใหญ่"

เปิด 30 จังหวัดน่าลงทุน

นายชาติชายกล่าวว่า เมื่อปีที่แล้วธนาคารประเมินว่าจะมี 30 จังหวัดที่มีศักยภาพในการลงทุนในอนาคต ดูจาก 3 ปัจจัยที่หนุนการลงทุน คือ 1.มีรายได้ประชากรต่อหัวที่สูง 2.มีกิจกรรมการค้าชายแดนและผ่านแดนที่มีมูลค่าสูง และ 3.ได้รับประโยชน์จากโครงสร้างพื้นฐานการคมนาคม แยกเป็น 2 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มจังหวัดที่มี 2 ปัจจัยหนุน คือทั้งรายได้ประชากรต่อหัวสูง กับที่ได้รับประโยชน์จากโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม มี 18 จังหวัด ได้แก่ พิษณุโลก อุดรธานี ขอนแก่น นครสวรรค์ ลพบุรี นครราชสีมา สระบุรี นครนายก ปราจีนบุรี ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง ราชบุรี เพชรบุรี ชุมพร สุราษฎร์ธานี ภูเก็ต และยะลา

กลุ่มที่ 2 เป็นจังหวัดมีทั้ง 3 ปัจจัยหนุน มี 12 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ หนองคาย มุกดาหาร อุบลราชธานี ตาก กาญจนบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ตราด ระนอง สงขลา และนราธิวาส

"ปีนี้ยังเชื่อว่าทุกจังหวัดดังกล่าวยังมีศักยภาพน่าลงทุน เพราะเป็นจุดความเจริญของประเทศ และมีศักยภาพด้วยตัวเองอยู่แล้ว แม้โครงการ 2 ล้านล้านจะชะลอตัวไปก็ตาม แต่ไม่ว่าจะเร็วจะช้า โครงการใหญ่เหล่านี้จะต้องมีการก่อสร้าง" นายชาติชายกล่าวและว่า

ชี้ชัตดาวน์ กทม.หนุน ตจว.โต

"ยิ่งขณะนี้การเมืองในกรุงเทพฯรุนแรง ทำให้ยุทธศาสตร์การพัฒนาเปลี่ยนไป ทุกภาคธุรกิจ ไม่ว่าท่องเที่ยว อสังหาฯ ค้าปลีก ธนาคารจะเริ่มออกไปลงทุนต่างจังหวัดมากขึ้น เพื่อหาตลาดมารองรับธุรกิจ เมื่อกรุงเทพฯเคยเป็นตลาดใหญ่ เกิดความไม่สงบ ยังมุ่งลงทุนอยู่ที่กรุงเทพฯอย่างเดียว จะไม่ส่งผลดีต่อยอดขายได้"

สำหรับแนวโน้มตลาดอสังหาริมทรัพย์ต่างจังหวัดในปี 2557 นั้น "ชาติชาย" กล่าวว่า ผู้ประกอบการรายใหญ่ยังให้ความสำคัญพัฒนาอสังหาฯในต่างจังหวัด โดยเฉพาะจังหวัดหัวเมืองเศรษฐกิจ อย่างไรก็ดี ตลาดที่อยู่อาศัยในต่างจังหวัดมีข้อจำกัดหลายประการ เช่น ขนาดของเศรษฐกิจในต่างจังหวัด ความเจริญของต่างจังหวัดยังคงกระจุกตัวอยู่เฉพาะในเขตเทศบาล อีกทั้งประชากรส่วนใหญ่ยังคงประกอบอาชีพเกษตรกรรม ขณะที่ราคาที่อยู่อาศัยก็ปรับตัวสูงขึ้น

ในส่วนของตลาดกรุงเทพฯและปริมณฑล การพัฒนาโครงการรถไฟฟ้าสายต่าง ๆ จะยังเป็นตัวผลักดันตลาดคอนโดมิเนียมให้ขยายตัวต่อเนื่อง โดยเฉพาะจังหวัดปริมณฑล

เป็นการประเมินที่ "บิ๊กกสิกรไทย" อยากส่งสัญญาณถึงผู้ประกอบการ ท่ามกลางยุคเศรษฐกิจขาลง จากปัญหาการเมือง และภาวะเศรษฐกิจที่กำลังผันผวนในเวลานี้

จาก.. http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1390484117

---------------------------------------------------------------------------------------

โอ้.. กรุงเทพ เมืองฟ้าอมร.. สมเป็นนครมหาธานี

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่