สรุปปัญหา-มหันตภัย 30 บาทรักษาทุกโรค และข้อเสนอในการแก้ปัญหา

http://www.thaihospital.org/board/index.php?topic=6041.0 ก๊อบเค้ามาให้อ่านครับ
กระทิงเริงร่ากระทิงเริงร่ากระทิงเริงร่ากระทิงเริงร่ากระทิงเริงร่า

จากการเขียนถึงปัญหามหันตภัย 30บาทรักษาทุกโรคทั้งหมด 9 ตอนแล้ว  ผู้เขียนได้สรุปปัญหามหันตภัยที่เกิดจากระบบ 30 บาทรักษาทุกโรค(อีกครั้ง) ดังนี้

1.ภัยต่อประชาชน ในการที่จะได้รับการบริการที่ไม่มีมาตรฐาน ได้รับยาที่อาจจะไม่เหมาะสมต่อการรักษาโรค จนอาจทำให้ประชาชนมีความเสี่ยงอันตรายจากความเสียหายจากการรักษาหรือผิดหวังจากผลการรักษาที่ไม่ดีดังที่คาด หรือเกิดอันตรายจากความผิดพลาดของบุคลากร

2. ภัยต่อบุคลากรสาธารณสุข บุคลากรสาธารณสุขมีความเสี่ยงต่อการถูกร้องเรียน/ฟ้องร้อง เสี่ยงภัยต่อสุขภาพของตนเองที่ต้องทำงานหนักเกินกำลัง ขาดการพักผ่อน รวมทั้งมีรายได้ไม่เหมาะสมกับภาระงานที่ต้องรับผิดชอบ

3.ภัยต่อระบบริการสาธารณสุขและงบประมาณแผ่นดิน กระทรวงสาธารณสุขไม่ได้รับเงินงบประมาณในการทำงาน ต้องส่งรายงานไปขอเงินจากสปสช.(นับเป็นกระทรวงเดียวที่แปลกประหลาดกว่ากระทรวงอื่นๆในประเทศไทย)  ไม่อาจกำหนดนโยบายในการทำงาน อยากทำอะไรต้องให้สปสช.เห็นชอบและอนุมัติงบประมาณให้ก่อนจึงจะทำได้ ไม่มีอำนาจบริหารงบประมาณแผ่นดินในการดำเนินงานตามภาระรับผิดชอบ ต้องทำตามข้อกำหนดหรือกฎเกณฑ์ของสปสช. ไม่อาจกำหนดตำแหน่งและอัตรากำลังของบุคลากรได้เองตามภาระงานที่มากขึ้น ไม่มีแม้กระทั่งเงินเดือนจะจ่ายให้บุคลากร ต้องไปขอรับเงินเดือนบางส่วนจากสปสช.

สรุปก็คือกระทรวงสาธารณสุขมีแต่ภาระงานที่ต้องรับผิดชอบ ในการให้บริการสาธารณสุขแก่ประชาชนที่มีความต้องการมากขึ้น เช่นภาระในการรักษาผู้ป่วยก็มากเกินไป ทำให้มาตรฐานในการบริการสาธารณสุขมีปัญหา สุขภาพและคุณภาพชีวิตของบุคลากรย่ำแย่ สุขภาพและคุณภาพชีวิตประชาชนไม่ดีขึ้น และงบประมาณแผ่นดินถูกใช้อย่างไม่คุ้มค่า และไม่สมเหตุผล โดยคำสั่งหรือระเบียบกฎเกณฑ์ของคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ  ที่รับงบประมาณเหมาจ่ายรายหัวมาจากงบประมาณแผ่นดิน แต่ใช้อำนาจในการบริหารงบประมาณได้โดยไม่รับฟังเสียงของโรงพยาบาลที่ได้รับเงินไม่ครบตามจำนวนเงินงบประมาณที่สปสช.ได้รับมาจากสำนักงบประมาณ และการทำงานบริหารกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติก็หลุดรอดการตรวจสอบอย่างเข้มข้น หรือแม้จะได้รับการตรวจสอบแล้วก็ไม่แก้ไขหรือยุติการกระทำที่ไม่ถูกต้อง

4. ภัยต่อระบบการประกันสุขภาพ  ในระบบ 30 บาทนี้นอกจากรัฐบาลจัดสรรงบประมาณรายหัวน้อยไม่เพียงพอต่อการจัดบริการสาธารณสุขที่เหมาะสมแก่ประชาชนแล้ว คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติยังยินยอมให้สปสช.แบ่งเอางบประมาณที่น้อยอยู่แล้วนี้ ไปทำโครงการรักษาโรคเฉพาะ (Vertical Program) ทั้งที่สปสช.ไม่มีหน้าที่เช่นนั้น ทำให้สปสช.ส่งเงินงบประมาณในการรักษาผู้ป่วยให้แก่โรงพยาบาลไม่เพียงพอต่อการจัดบริการสาธารณสุขที่ดีแก่ประชาชน

เมื่องบประมาณที่จะใช้ในการรักษาผู้ป่วยมีไม่เพียงพอ สปสช.ก็เลยหาทางควบคุมค่าใช้จ่าย โดยการที่ตั้งเป้าหมายให้มีการควบคุมการตรวจวินิจฉัย การรักษาและการใช้ยา โดยการเสนอให้รัฐบาลแต่งตั้งคณะกรรมการกำหนดระบบบริหารยา เวชภัณฑ์ การเบิกจ่ายค่าตรวจวินิจฉัย และค่าบริการทางการแพทย์ เพื่อลดค่าใช้จ่ายในการบริการสุขภาพในระบบ 30 บาท และเสนอให้ทุกกองทุนประกันสุขภาพดำเนินการเหมือน 30 บาท โดยอ้างว่าเพื่อ”ลดความเหลื่อมล้ำในแต่ละกองทุน” โดยไม่นึกถึงคุณภาพมาตรฐานการรักษา ว่าจะทำให้ผู้ป่วยได้รับผลดีที่สุดในการรักษาสุขภาพหรือไม่

และยังไปก้าวก่ายผู้บริหารระบบประกันสังคมและระบบสวัสดิการข้าราชการ ให้วางแผนสั่งการควบคุมค่าใช้จ่ายแบบเดียวกับระบบ 30 บาท โดยอ้างความเหลื่อมล้ำระหว่างกองทุน การกระทำของคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติและสปสช.จะทำให้คุณภาพการบริการสาธารณสุขเลวเท่ากันหมดใน 3 กองทุนสุขภาพนี้อย่างแน่นอน
จึงสรุปได้ว่าระบบ 30 บาทเป็นมหันตภัยต่อระบบการประกันสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับการได้รับงบประมาณแผ่นดิน

5. ภัยต่อการแพทย์และคุณภาพมาตรฐานการบริการสาธารณสุข ระบบ 30 บาทได้อวดอ้างเสมอว่า เป็นโครงการที่ “ชนะใจประชาชนมากที่สุด หรือนับว่าเป็นนโยบายประชานิยม” โดยสปสช.จะอ้างว่าประชาชนมากกว่า 90 % จะนิยมชมชอบระบบ 30 บาทนี้มาก

   แต่เป็นเพียงการสอบถามถึงความพึงพอใจของประชาชนต่อระบบ 30 บาท ซึ่งประชาชนก็คงพอใจเพียงเพราะว่าเป็นโครงการที่ประชาชนได้รับบริการสาธารณสุขโดยจ่ายเงินราคาถูก แต่ยังไม่มีการสำรวจว่า ประชาชนพอใจคุณภาพหรือผลการรักษาหรือไม่?  
จะเห็นได้ว่ายังไม่มีการประเมินคุณภาพมาตรฐานการบริการสาธารณสุขที่เหมาะสมรอบด้าน ซึ่งถ้าประเมินอย่างตรงไปตรงมาก็คงจะไม่ผ่านการประเมิน เนื่องจาก

5.1ขาดทรัพยากรในการทำงานทั้งหมดได้แก่ขาดงบประมาณ ขาดอาคารสถานที่ ขาดบุคลากร
5.2กระบวนการทำงานขาดประสิทธิผล ประสิทธิภาพ ขาดความปลอดภัย ไม่มีความเป็นธรรม ไม่มีความเหมาะสม ไม่มีความพึงพอใจในผลการรักษา  มีการฟ้องร้องมากขึ้น
5.3 สถานะสุขภาพของประชาชนไม่ดีขึ้น การบริการมีไม่ทั่วถึง ไม่มีการป้องกันโรคที่เหมาะสม และไม่สุจริต ไม่โปร่งใสและไม่ตรงไปตรงมา
จึงถือว่าระบบ 30 บาทเป็นภัยต่อการแพทย์และคุณภาพมาตรฐานการสาธารณสุขที่ต้องการการแก้ไขด่วน

6.ภัยต่อระบบการใช้ยา เวชภัณฑ์และเครื่องมือแพทย์    ตามที่กล่าวแล้วว่า เมื่อสปสช.บริหารงบกองทุนจนทำให้มีเงินไม่เพียงพอต่อการทำงานบริการสาธารณสุข สปสช.ก็ “จำกัดรายการยาและกำหนดวิธีการรักษา” ให้เป็นแบบเดียวกันหมด เหมือนตัดเสื้อโหลแจกทุกคน แต่การรักษาโรคและการเจ็บป่วยไม่สามารถทำเช่นนั้นได้ เพราะถึงแม้จะป่วยด้วยโรคเดียวกัน แต่ยังมีความแตกต่างในอาการและความรุนแรงของโรคหรือโรคแทรกซ้อนไม่เหมือนกัน

   ซึ่งการกำหนดกฎเกณฑ์ของสปสช.ทำให้เกิดอันตรายแก่ผู้ป่วย เช่นรักษาไม่หาย ดื้อยา หรือตายโดยไม่สมควรตาย เช่นในกรณีกำหนดให้รักษาผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายเริ่มต้นด้วยการล้างไตทางหน้าท้อง (CAPD-first) ที่ทำให้อัตราตายของผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาเช่นนี้สูงมาก เป็นต้น

  แต่สปสช.ยังไม่หยุดแค่นั้น สปสช.ได้ประสานงานกับสวรส.และสพคส. เสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้เสนอครม.ให้ตั้งคณะกรรมการมาเพื่อกำหนดขอบเขตในการใช้ยา เวชภัณฑ์และเครื่องมือแพทย์ เพื่อ “ประหยัดงบประมาณ” และมีการตรวจสอบการใช้ยาของบุคลากรในโรงพยาบาลระดับสูงอย่างเข้มข้น พร้อมทั้งการออกระเบียบห้ามแพทย์ใช้ยานอกบัญชียาหลัก ถ้าจะใช้ก็ต้องขออนุญาตกรมบัญชีกลางก่อน  (ถ้าผู้ป่วยเป็นอันตรายระหว่างรอการอนุมัติยาจากกรมบัญชีกลาง กรมบัญชีกลางจะรับผิดชอบหรือไม่?) นับเป็นปรากฏการณ์ที่แปลกประหลาดที่สุดในโลกที่ให้เจ้าหน้าที่การเงินมา “กำกับการรักษาโรคของแพทย์”

การบังคับแพทย์ให้ใช้ยาเฉพาะยาเก่าๆ จึงทำให้แพทย์ขาดประสบการณ์ในการใช้ยาใหม่ๆ จะส่งผลไปถึงการเรียนการสอนนักศึกษาแพทย์ให้ถอยหลังไปอีก20 ปี ทำให้ระบบการแพทย์ไทยในภาคราชการถอยหลังเข้าคลอง และตามไม่ทันระบบเอกชนในประเทศไทยเอง (มิพักต้องไปเปรียบเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้วอื่นๆ)

7.ภัยต่อระบบธรรมาภิบาลในการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ได้บริหารกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยไม่ยึดหลักนิติธรรม (ผิดพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ) ไม่ยึดหลักคุณธรรม (บังคับให้ผู้ป่วยได้รับยาหรือวิธีการรักษาตามกฎเกณฑ์ของสปสช. โดยไม่ยึดหลักวิชาการและมาตรฐานการรักษา) ไม่ยึดหลักความโปร่งใส (ไม่บอกประชาชนอย่างตรงไปตรงมาว่าให้เงินรักษาโรคอะไรบ้าง มีข้อจำกัดอะไรบ้าง) ไม่ยึดหลักความรับผิดชอบ ( ไม่เคยออกมารับผิดชอบว่า สปสช.เป็นผู้กำหนดการรักษาที่ทำให้ผู้ป่วยไตวายระยะสุดท้ายมีอัตราตายเฉลี่ยสูงถึง 40% และลบข้อมูลออกจาก website ของสปสช.) ไม่ยึดหลักความถูกต้อง (ไม่ยอมให้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญสั่งยารักษาตามข้อบ่งชี้ ไม่ตรวจสอบและลงโทษการกระทำที่ผิดกฎหมายของเลขาธิการสปสช.)
นับได้ว่าระบบ 30 บาทเป็นภัยต่อระบบธรรมาภิบาลในการบริหารกิจการสาธารณะด้านสาธารณสุขแก่ประชาชนอย่างแท้จริง

8. ภัยต่อความสัมพันธ์ระหว่างประชาชน และบุคลากรสาธารณสุข หลังระบบ 30 บาท มีคำกล่าวว่าบุคลากรสาธารณสุขมีความขัดแย้งกับประชาชนมากขึ้น เนื่องจากประชาชนคาดหวังที่จะได้รับการรักษาอย่าง “ดีที่สุด” แต่ต้องรอนาน มีเวลาพบแพทย์น้อย ถูกส่งตัวไปรักษาหลายแห่ง หรือได้รับความเสียหาย พิการ ตาย รักษาไม่หายฯลฯ เมื่อไปร้องเรียนสภาวิชาชีพหรือกระทรวงสาธารณสุขก็ได้รับคำอธิบายว่า “เป็นเหตุสุดวิสัย” และได้รับเงินชดเชยไม่เท่าที่จำเป็นในการดำรงชีวิต เกิดความเสียใจและโกรธแค้นต่อบุคลากรสาธารณสุข มีการฟ้องร้อง กล่าวหา กล่าวโทษ และประณามบุคลากรสาธารณสุขทางสื่อมวลชนและสังคมออนไลน์อย่างแพร่หลายกว่าเดิม จนมีการรวมตัวกันเสนอกฎหมายหลายฉบับเพื่อหาทางได้รับเงินชดเชยและกล่าวโทษบุคลากรสาธารณสุข ระบบ 30 บาททำให้ความสัมพันธ์ระหว่างแพทย์และประชาชนไทยที่เคยมีความห่วงใยเอื้ออาทรประดุจญาติมิตร กลับกลายเป็น “การเรียกร้องสิทธิของประชาชน” และ “การต้องทำตามหน้าที่ของแพทย์” เพื่อให้ประชาชนพึงพอใจ และไม่มากล่าวหากล่าวโทษแพทย์ทีหลัง กลายเป็นความสัมพันธ์ที่ห่างเหินและไม่ไว้วางใจซึ่งกันและกันมากขึ้น

9.ภัยต่อรัฐบาลที่ไม่สามารถบริหารงานในกระทรวงสาธารณสุขได้ตามที่ได้แถลงนโยบายไว้  เนื่องจากการที่องค์กรเหล่านี้ คือ สวรส. (สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข) สสส. (กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ) สช.(สำนักงานสุขภาพแห่งชาติ) และสปสช.  เป็นองค์กรอิสระจากการบังคับบัญชาของนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี ตามที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.สวรส. สสส. สช.และสปสช. ซึ่งกำหนดไว้ว่า องค์กรเหล่านี้เป็นอิสระจากการควบคุมบังคับบัญชาของฝ่ายการเมือง และไม่เกี่ยวข้องกับฝ่ายราชการประจำอีกด้วย ฝ่ายการเมืองที่บริหารประเทศก็ไม่สามารถควบคุมการทำงานขององค์กรเหล่านี้ได้ เพราะพ.ร.บ.เหล่านี้กำหนดไว้ว่าองค์กรเหล่านี้อยู่ภายใต้ “การกำกับของรัฐมนตรี” เท่านั้น รัฐมนตรีมีเพียง 1 เสียงในคณะกรรมการ  ทำให้รัฐมนตรีต้องยอมทำตามมติของคณะกรรมการบอร์ดในองค์กรนั้นๆ ตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมาย

โดยที่คณะกรรมการบอร์ดในองค์กรต่างๆเหล่านี้ ในส่วนที่มาเป็นกรรมการตามตำแหน่งก็อาจจะไม่เข้าใจ “เนื้องานขององค์กรมากนัก” และไม่มีเวลาให้ความสนใจอย่างถี่ถ้วน มีการมอบหมายให้คนอื่นมาประชุมผลัดเปลี่ยนกันไป จนไม่มี “ความเห็นใดๆ” เกี่ยวกับเนื้อหาการประชุมวางแผนงาน จึงทำให้กรรมการที่มาจากการคัดเลือกหรือสรรหา (ซึ่งล้วนมีที่มาจากสมาชิกชมรมแพทย์ชนบท และผู้ใกล้ชิด) สามารถ “กุมบังเหียน”หรือ “กุมอำนาจในการกำหนดทิศทาง”ในการบริหารกองทุนได้ตามแนวนโยบายของกลุ่ม โดยไม่สนใจทำตามกฎหมาย

  โดยเฉพาะคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่ได้ทำผิดพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติหลายประเด็นดังรายละเอียดที่ได้บรรยายมาแล้ว ที่รัฐมนตรีผู้มีหน้าที่ “กำกับดูแล” ก็ไม่เข้าใจในวัฒนธรรมองค์กรนี้ ที่ใช้ “อำนาจในการถือเงิน”เป็นใหญ่ ที่จะ “สั่งการให้โรงพยาบาลต้องทำตามเพื่อจะได้รับเงินมาทำงานบริการสาธารณสุขเพื่อประชาชน “
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่