เสี่ยเจริญปิดดีลจุฬาฯคว้าที่ดินตลาดสามย่าน ผุดโปรเจ็กต์ใหญ่มิกซ์ยูสเทียบชั้นสีลม-สาทร



จุฬาฯ ซุ่มปิดดีลเจรจา "ยูนิเวนเจอร์" บริษัทอสังหาฯ เจ้าสัวเจริญ เปิดหน้าดิน 13 ไร่ตลาดสามย่านเดิม ฝั่งตรงข้ามจามจุรีสแควร์ ผุดโครงการมิกซ์ยูส "โรงแรม-ออฟฟิศ-ค้าปลีก-ศูนย์การเรียนรู้" ตึกสูง 30-35 ชั้น 2 แท่ง มูลค่าลงทุน 6 พันล้านบาท รอชง ครม.ใหม่เคาะแผนลงทุน คาดเริ่มก่อสร้างได้ภายในปีนี้ ยกระดับสามย่านแหล่งออฟฟิศ ค้าปลีกและที่พักอาศัย เทียบชั้นสีลม-สาทร

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากนายเจริญ สิริวัฒนภักดี เจ้าสัวเบียร์ช้างและเจ้าของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่กลุ่มทีซีซีแลนด์ ได้เข้าเทกโอเวอร์กิจการบริษัท ยูนิเวนเจอร์ จำกัด (มหาชน) เมื่อปีที่ผ่านมา ได้เดินหน้ารุกธุรกิจพัฒนาที่ดินอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี

โดยเฉพาะการเข้าประมูลที่ดินผืนใหญ่ใจกลางเมือง เพื่อพัฒนาโครงการอสังหาฯรูปแบบให้เช่า เริ่มจากการประมูลที่ดินสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ จำนวน 2 แปลง โดยแปลงแรกอยู่ติดถนนพระรามที่ 4 ใกล้อาคารตลาดหลักทรัพย์ฯ เนื้อที่กว่า 35 ไร่ เตรียมพัฒนาเป็นอาคารสำนักงานและพื้นที่ค้าปลีก และแปลงที่สองที่ดินโรงเรียนเตรียมทหารเดิมบริเวณหัวมุมถนนวิทยุตัดถนนพระรามที่ 4 เนื้อที่ 88 ไร่ แต่เลือกประมูลเฉพาะส่วนการพัฒนาโครงการสำนักงาน 19 ไร่

ล่าสุดที่ดินอีกแปลงที่ บมจ.ยูนิเวนเจอร์ เข้าร่วมประมูลและกำลังถูกจับตามองคือ ที่ดินกว่า 13 ไร่ บริเวณหัวมุมถนนพระรามที่ 4 ตัดกับถนนพระรามที่ 1 (ตลาดสามย่านเดิม) ของสำนักงานจัดการทรัพย์สินจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ซึ่งก่อนหน้านี้ผู้เข้าร่วมประมูลอีกรายคือบริษัท แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) ได้ขอถอนตัว และสำนักงานจัดการทรัพย์สินจุฬาฯ ได้เปิดเจรจากับ บมจ.ยูนิเวนเจอร์ ปรากฏว่าขณะนี้การเจรจาได้ข้อยุติแล้ว โดยอยู่ระหว่างเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบเพื่ออนุมัติ เนื่องจากเป็นโครงการที่มีมูลค่าลงทุนเกินกว่า 1,000 ล้านบาท จึงเข้าข่าย พ.ร.บ.ร่วมทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน ต้องขออนุมัติจาก ครม.

แหล่งข่าวจากสำนักงานจัดการทรัพย์สินจุฬาฯ เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า หลังจุฬาฯได้เปิดเจรจาข้อเสนอการพัฒนาที่ดินกว่า 13 ไร่บริเวณตลาดสามย่านกับ บมจ.ยูนิเวนเจอร์ บริษัทอสังหาฯ ของเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี ตั้งแต่ปีที่แล้วขณะนี้การเจรจาบรรลุข้อตกลงเรียบร้อย โดยจุฬาฯได้ส่งเรื่องให้ครม.พิจารณาอนุมัติแล้ว ขณะนี้อยู่ในช่วงรัฐบาลรักษาการ จึงต้องรอเลือกตั้งและมีรัฐบาลชุดใหม่เข้ามาบริหารประเทศก่อน

"ถ้าครม.อนุมัติแล้ว ขั้นตอนต่อไปก็สามารถเซ็นสัญญาได้ทันที คาดว่าภายในช่วงครึ่งปีหลังน่าจะเริ่มเห็นการก่อสร้างได้"

สำหรับรูปแบบโครงการแหล่งข่าวกล่าวว่า ทางบริษัทเสนอจะพัฒนาเป็นโครงการรูปแบบ "มิกซ์ยูส" (ผสมผสานการใช้งาน) มีมูลค่าลงทุนประมาณ 6 พันล้านบาท ลักษณะเป็นอาคารขนาดใหญ่ มีทั้งหมด 2 ทาวเวอร์ คล้ายตึกจามจุรีสแควร์ที่อยู่ฝั่งตรงข้าม โดยอาคารแรกสูงประมาณ 30 ชั้น และอาคารที่สองสูงประมาณ 30-35 ชั้น มีพื้นที่ใช้สอยรวม 1.5 แสนตารางเมตร

รายละเอียดโครงการประกอบด้วย 3 ส่วนคือ 1) โรงแรมระดับ 3 ดาว ประมาณ 400 ห้อง ตั้งอยู่ในอาคารทาวเวอร์แรกสูง 30 ชั้น พื้นที่อาคาร 30,000 ตารางเมตร 2) สำนักงานให้เช่า และศูนย์การเรียนรู้สำหรับนิสิตนักศึกษาจุฬาฯ ตั้งอยู่ในอาคารทาวเวอร์ที่สองสูงประมาณ 35 ชั้น มีพื้นที่อาคาร 30,000 ตารางเมตร และ 3) พื้นที่ค้าปลีก 4 ชั้น ตั้งอยู่ในส่วนฐานอาคารทั้ง 2 ทาวเวอร์ มีพื้นที่ 30,000 ตารางเมตร นอกจากนี้มีอาคารจอดรถใต้ดิน 3 ชั้น รองรับได้ 2,000 คัน พื้นที่รวมประมาณ 50,000 ตารางเมตร

"หลังจากเริ่มก่อสร้างคาดว่าอีก 2-3 ปีจึงแล้วเสร็จ เชื่อว่าด้วยศักยภาพโครงการจะยกระดับบริเวณสามย่านให้กลายเป็นแหล่งออฟฟิศ ค้าปลีก และพักอาศัยที่คนนึกถึง เนื่องจากปัจจุบันที่ดินในย่านสีลม-สาทรค่อนข้างเต็มแล้ว"

แหล่งข่าวกล่าวต่อว่า ก่อนหน้านี้กรุงเทพมหานคร (กทม.) มีโครงการจะพัฒนาโมโนเรล (รถไฟฟ้าขนาดเบา) วิ่งตามแนวเกาะกลางถนนพระรามที่ 1 นับจากแยกมาบุญครอง-แยกสามย่าน ระยะทางประมาณ 1.2-1.3 กิโลเมตร เพื่อเชื่อมระบบขนส่งมวลชนระหว่างรถไฟฟ้าบีทีเอสสถานีสยาม และรถไฟฟ้าใต้ดินเอ็มอาร์ทีสถานีสามย่าน ทำให้การเดินทางบริเวณนี้ในอนาคตสะดวกสบายขึ้นโดยการลงทุนมี 2 แนวทางคือ 1) รอให้ กทม.เป็นผู้ลงทุน หรือ 2) จุฬาฯ ร่วมกับเอกชนลงทุน อย่างไรก็ตาม หากจุฬาฯร่วมกับเอกชนลงทุนคงจะออกแบบแนวเส้นทางให้เลี้ยวเข้าไปเชื่อมอาคารจามจุรีสแควร์ โครงการบนที่ดินตลาดสามย่าน และสถาบันศศินทร์ด้วย


ทุบ 100 คูหา ผุดอุทยาน 100 ปี ปอดแห่งใหม่ใจกลางกรุง


นอกจากที่ดินหัวมุมแยกสามย่านที่เหลือเพียง ครม.อนุมัติก็ได้เริ่มก่อสร้าง ทางฝั่งจุฬาฯมีโปรเจ็กต์ใหญ่ในมือ ที่เตรียมพัฒนาในปีนี้คือโครงการพัฒนา "อุทยาน จุฬาฯ 100 ปี" (จามจุรี ปาร์ค) ฝั่งถนนบรรทัดทอง และ "ถนนจุฬาฯ 100 ปี" บริเวณจุฬาฯ ซอย 5 เพื่อเป็นโครงการคืนสู่สังคมให้กับคนในชุมชนสวนหลวง-สามย่าน โดยเปิดเป็นพื้นที่สาธารณะให้คนทั่วไปใช้ได้

ความคืบหน้าล่าสุด ทางจุฬาฯล้อมรั้วตึกแถวบริเวณถนนบรรทัดทอง เตรียมรื้อตึกแถวนับร้อยคูหาออก โดยจะใช้ที่ดิน 20 ไร่ พัฒนาเป็นสวนสาธารณะหรือปอดแห่งใหม่ใจกลางกรุง ขณะเดียวกันจะขยายพื้นที่ถนนบรรรทัดทองจากปัจจุบันกว้าง 15 เมตร เพิ่มเป็น 30 เมตร ทาง "ฝั่งสยามสแควร์" ปัจจุบันจุฬาฯกำลังเร่งก่อสร้างศูนย์การค้า "SQ1" เอสคิววัน บนที่ดิน 8 ไร่ มูลค่าลงทุน 1.8 พันล้านบาท มีพื้นที่อาคารรวม 6 หมื่นตารางเมตร คาดว่าจะเปิดบริการได้ภายในเดือนมีนาคมนี้

หลังจากนั้นมีแผนจะพัฒนาพื้นที่บริเวณ "โรงหนังลิโด" ซึ่งหมดสัญญาเช่าเมื่อปีที่ผ่านมา เป็นศูนย์การค้าเฟส 2 มีแนวโน้มจะใช้ชื่อว่า "SQ2" เพื่อเปลี่ยนพื้นที่ฝั่งสยามสแควร์ จากแหล่งช็อปปิ้งแนวราบมาเป็นแหล่งช็อปปิ้งแนวสูง

Credit ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ วันที่ 10 ม.ค. 2557

ติดตามข้อคิดการเงินได้ที่ Maibat Fanpage
https://www.facebook.com/maibat.thailand
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่