อัตตา เป็น ความเชื่อ, ส่วน อนัตตา เป็น ความจริง

กระทู้สนทนา
หลักของศาสนาพราหมณ์คือ สอนว่าจิตเป็นอัตตา ที่เวียนว่ายตายเกิดเพื่อรับผลกรรม ซึ่งเรื่องอัตตานี้เป็นเพียงความเชื่อของยุคอุปนิสัตว์ในอินเดียยุคนั้น ที่เชื่อว่าจิตใจของสิ่งที่มีชีวิตเช่นคนและสัตว์นี้เป็นอัตตา หรือเป็นตัวตนของมันเองซึ่งจะไม่มีวันดับหายไปอย่างเด็ดขาด (เรียกว่าอมตะ) มันจึงสามารถที่จะออกจากร่างกายที่ตายไปแล้วได้ เพื่อเกิดใหม่

ความเชื่อเรื่องว่าจิตเป็นอัตตาเวียนว่ายตายเกิดนี้ก็ได้ปลอมปนเข้ามาอยู่ในคำสอนของพระพุทธเจ้าและประยุติมาเป็นว่า เมื่อร่างกายตายแล้วจะไม่มีอะไรออกไปเกิดได้ เพราะถ้าบอกว่ามีจิตออกไปเกิดก็จะตรงกับลักษณะของอัตตาตรงๆ ดังนั้นจึงได้เลี่ยงไปบอกว่า ถ้าจิตยังมีอวิชชาหรือกิเลสอยู่ ซึ่งจิตที่ยังมีอวิชชาหรือกิเลสนี้ก็จะเป็นเหตุให้เกิดจิตใหม่ที่เหมือนเก่าขึ้นมาเพื่อมารับผลกรรมเหมือนกับคำสอนของพราหมณ์ ซึ่งนี่มันก็คือลักษณะของอัตตาโดยอ้อมนั่นเอง

สิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงเน้นสอนมากก็คือเรื่อง ขันธ์ ๕ (หรือร่างกายกับจิตใจ) เป็นอนัตตา ซึ่งคำว่าอนัตตานี้แปลว่า ไม่ใช่อัตตา คือเป็นการปฏิเสธหรือไม่ยอมรับว่าร่างกายหรือจิตของเรานี้จะเป็นอัตตาชนิดออกจากร่างกายที่ตายแล้วไปเวียนว่ายตายเกิดได้ เพราะความรู้สึกว่าจิตนี้เป็นเราหรือเป็นตัวเรานี้ แท้จริงมันเป็นเพียง "สิ่งที่ถูกปรุงแต่งขึ้นมาชั่วคราว" เท่านั้น ซึ่งนี่คือความจริง เพราะไม่มีอะไรที่จะเกิดขึ้นมาได้โดยไม่อาศัยสิ่งอื่น ถ้ายอมรับกฎสูงสุดของธรรมชาติข้อนี้ ก็ต้องยอมรับว่า แม้จิตที่รู้สึกว่าเป็นตัวเรานี้ก็ต้องอาศัยสิ่งอื่นมาร่วมกันปรุงแต่งให้เกิดขึ้นด้วยเหมือนกัน และเมื่อยอมรับความจริงนี้แล้วก็ต้องยอมรับว่า เมื่อสิ่งที่มาปรุงแต่งให้เกิดจิตนี้ขึ้นมาได้ดับหายไป จิตก็ย่อมที่จะดับหายตามไปด้วยทันที เหมือนแสงไฟจากหลอดไฟฟ้า ที่เมื่อเราปิดสวิทย์ ไฟฟ้าก็จะไม่ไหลไปสู่หลอดไฟ แสงไฟจากหลอดไฟฟ้านั้นก็จะดับหายไปทันที

จิตของเราก็เกิดมาจากการที่ร่างกาย (ที่ยังเป็นๆอยู่) สร้างระบบประสาททั้ง ๖ (คือตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ) ขึ้นมา แล้วเมื่อมีสิ่งภายนอก (คือรูป เสียง กลิ่น รส โผฎฐัพพะ ธรรมารมณ์) มากระทบ ก็จะเกิดการรับรู้และความรู้สึกขึ้นมา พร้อมกับเกิดการจำสิ่งที่รับรู้ได้ และมีการคิดปรุงแต่งได้ ซึ่งเมื่อมีการรับรู้ รู้สึก จำได้ คิดนึกปรุงแต่งได้ ก็รวมเรียกว่าเป็นจิต หรือใจ แต่ถ้าร่างกายตาย ระบบประสาทก็ย่อมที่จะหายตามไปด้วย แล้วการรับรู้ ความรู้สึก การจำได้ ความคิดนึกปรุงแต่งก็ย่อมที่จะไม่มี หรือเท่ากับไม่มีจิตนั่นเอง ซึ่งนี่ก็คือลักษณะความเป็นอนัตตาของจิตหรือความไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริงของจิตทั้งหลายตามความเป็นจริงที่เราทุกคนสามารถสัมผัสได้จริงในปัจจุบัน ไม่ว่าจิตนั้นจะมีกิเลลสหรือไม่ก็ตามไม่มีข้อยกเว้น  

บางคนก็อาจจะแย้งว่า ถ้าทำกรรมชั่วหรือกรรมดีแล้วจะรับผลอย่างไร ถ้าตายแล้วไม่มีการเกิดใหม่เพื่อมารับผลกรรม? ก็ขอให้เข้าใจว่า กรรมที่เป็นวิทยาศาสตร์หรือของจริงที่พระพุทธเจ้าสอนก็คือ "การกระทำด้วยเจตนา และมีผลเป็นความรู้สึกในทันทีหรือหลังจากทำเสร็จแล้วก็ได้" คือถ้าทำกรรมดี จิตใจก็จะเป็นสุข ถ้าทำกรรมชั่วจิตใจก็จะเป็นทุกข์ ซึ่งนี่คือผลกรรมที่เราทุกคนก็ย่อมรู้สึกกันได้จริงอยู่แล้วในชีวิตปัจจุบัน ดังนั้นการกระทำกรรมใดๆย่อมให้ผลอย่างยุติธรรมอยู่แล้วในปัจจุบัน (ถ้าอยากเข้าใจเรื่องนี้ก็ลองไปศึกษาดูที่ http://www.whatami.net/ )

ส่วนเรื่องการทำกรรมแล้วต้องไปรับผลเอาในชาติหน้านั้นเป็นคำสอนของศาสนาพราหมณ์ที่ปลอมปนเข้ามาอยู่ในคำสอนของพระพุทธเจ้าในภายหลังเมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพานไปแล้วประมาณ ๘๐๐ ปี จึงขอให้ชาวพุทธเข้าใจเรื่อง อนัตตา และเรื่องกรรมที่แท้จริงของพระพุทธเจ้านี้ให้ถูกต้อง เพื่อที่จะได้รับประโยชน์จากคำสอนที่แท้จริงของพระพุทธเจ้ากันต่อไป
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่