8.จังหวัดการจัดการตนเอง : เมื่อรากหญ้าประชาชนท้าทายอำนาจรัฐ ทางออกประเทศไทย

กระทู้คำถาม
8 จังหวัดภาคเหนือ 8 จังหวัดภาคอีสาน 5 จังหวัดภาคกลาง และ 5 จังหวัดภาคใต้ จึงประกาศความพร้อมที่จะขับเคลื่อนเสนอร่างกฎหมายสู่การเป็นจังหวัดจัดการตนเอง ยกเลิกการบริหารราชการส่วนภูมิภาค โดยให้มีทั้งจังหวัดและเทศบาลที่เป็นท้องถิ่นอยู่ด้วยกัน แตกต่างจากกรุงเทพฯ ที่มีท้องถิ่นเพียงระดับเดียวคือระดับจังหวัดเท่านั้น และหลายพื้นที่เห็นพ้องร่วมขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมายเดียวกันคือการจัดการตนเองในระดับต่างๆ


    สู่ฝันอันยิ่งใหญ่ : ดูแลและรับผิดชอบตัวเอง


    • ก้าวย่างอย่างมั่นใจ เชียงใหม่มหานคร

    “เชียงใหม่เติบโตเร็วรองจากกรุงเทพฯ นโยบายจากส่วนกลางไม่สามารถตอบโจทย์ได้ทันท่วงที นอกจากนี้ เชียงใหม่มีวัฒนธรรม อัตลักษณ์ของตนเอง การกำหนดการพัฒนาจากส่วนกลางทำให้ชุมชนอ่อนแอลง เช่น โรงเรียนพูดภาษาไทย ไม่สอนภาษาท้องถิ่น เอาระบบชลประทานมาแทนฝาย กฎหมายจัดการป่าของกรมป่าไม้ขัดกับวิถีชาวบ้าน เป็นปัญหาให้ท้องถิ่น การพัฒนาที่คิดมาจากส่วนกลางถูกคัดค้านอย่างต่อเนื่อง และเชียงใหม่ยังมีสถานศึกษาและองค์ความรู้ที่พร้อม เป็นเหตุผลที่ถึงเวลาที่คนเชียงใหม่จะจัดการดูแลท้องถิ่นด้วยตนเอง”


    เชียงใหม่เป็นจังหวัดหนึ่งที่มีแนวคิดเรื่องจัดการตนเองมาตั้งแต่ 20 ปีก่อน มีการรณรงค์ให้เลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่เมื่อปี 2533 ในช่วงปี 2549 ก็มีการร่วมพูดคุยของชมรมเพื่อนเชียงใหม่ อาจารย์มหาวิทยาลัย นักการเมืองรุ่นเก่า ที่ร่วมขับเคลื่อนในนามสภาคนเมือง ช่วงปี 2551-2552 ก็มีการพูดเรื่องการพึ่งตนเอง เรื่องผู้ว่าฯ CEO ต่อมาเดือนมิถุนายน 2552 การหารือขยายวงไปยังภาคีหลายภาคส่วน ทั้งตัวแทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น นักวิชาการ นักคิด นักเขียน ศิลปินล้านนา เครือข่ายองค์กรพัฒนาเอกชน ด้วยคำถามสำคัญคือ อยากเห็นเมืองเชียงใหม่พัฒนาไปทิศทางใด และทำอย่างไรให้ประชาชน องค์กรพัฒนาเอกชน ภาคธุรกิจการค้า ส่วนปกครองท้องถิ่นทั้งหลาย มีส่วนร่วมจัดการตนเองให้สอดคล้องกับบริบทพื้นที่และต้นทุนของพื้นที่จังหวัด


    จากการพูดคุยแลกเปลี่ยนในหลายเวที และการขับเคลื่อนที่เป็นรูปธรรมในช่วงปี 2552-2554 เครือข่ายบ้านชุ่มเมืองเย็น องค์กรภาคประชาชนในเชียงใหม่ และคณะทำงานเครือข่ายประชาชนเชียงใหม่เพื่อการจัดการตนเอง จึงตกผลึกออกมาเป็นร่าง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการเชียงใหม่มหานคร พ.ศ. … ยกร่างโดยชำนาญ จันทร์เรือง เสนอให้ประชาชนช่วยกันเสนอความเห็นเพื่อปรับปรุง ก่อนจะร่วมลงชื่อเพื่อเสนอเป็นกฎหมายที่เสนอโดยภาคประชาชนต่อไป


    ร่างกฎหมายฉบับนี้มีหลักการสำคัญคือ ยกเลิกการบริหารราชการส่วนภูมิภาค เหลือเพียงราชการส่วนกลางและราชการส่วนท้องถิ่น มีอำนาจในการกำหนดแนวนโยบาย ระเบียบ ข้อบัญญัติ การจัดงบประมาณการคลัง การจัดการบริหารบุคลากร และกลไกโครงสร้างการบริหารงานภายในท้องถิ่น ยกเว้น 4 เรื่องหลักคือ การทหาร ระบบเงินตรา การต่างประเทศ และการศาลจัดโครงสร้างใหม่ด้วยดุลยภาพ 3 ส่วนคือ ผู้ว่าราชการเชียงใหม่มหานคร สภาเชียงใหม่มหานคร และสภาพลเมืองทำหน้าที่ตรวจสอบ และปรับโครงสร้างด้านภาษี โดยส่งคืนภาษีทุกชนิดที่เก็บได้ในพื้นที่ให้รัฐบาลส่วนกลางร้อยละ 30 และคงไว้ที่เชียงใหม่มหานครร้อยละ 70


อ่านต่อที่

http://thaipost.net/x-cite/301213/84024
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่