ข้าวปีหน้าราคาทรุด แบกสต็อกยาว 5 ปี

credit : bangkokbiznews.com
------

"ทีดีอาร์ไอ"ชี้แนวโน้มอนาคตบริโภคข้าวลด ฉุดราคาลดลงตาม ย้ำนโยบายจำนำข้าวทำอุตสาหกรรมข้าวไทยพังทั้งระบบ ผู้ส่งออกคาดรัฐแบกสต็กยาว 5 ปี

วานนี้ (16 ธ.ค.) มีการจัดการสัมมนา "อนาคตข้าวไทยในเวทีการค้าข้าวโลก"จัดโดยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กรมการข้าวและมูลนิธิข้าวไทย โดยระดมความเห็นจากทุกภาคส่วน เพื่อกำหนดทิศทางการผลิต การค้าข้าวของไทย

นายนิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า ในช่วง 50 ปีที่ผ่านมาการบริโภคข้าวต่อหัวเพิ่มขึ้น 0.56% แต่ช่วงหลังหรือตั้งแต่ปี 1990-2008 การบริโภคต่อหัวเริ่มลดลง -0.11% ในอีก 10-15 ปีข้างหน้า การบริโภคต่อหัวที่ลดลงจะเป็นปรากฏการณ์ระยะยาว เพราะรายได้ต่อหัวของผู้บริโภคข้าว ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในเอเชียเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว การเปลี่ยนแปลงสังคมเมืองที่มีมากขึ้น ส่งผลให้ไม่ต้องการแคลอรีมากเท่ากับการทำงานในไร่นา คนหนุ่มสาวนิยมบริโภคแบบตะวันตก และการชะลอตัวของการเพิ่มขึ้นของประชากร

ทั้งนี้ ผลการศึกษาล่าสุดพบว่าการบริโภคข้าวทั่วโลก จะเพิ่มขึ้นอย่างช้าๆ อย่างน้อยถึงปี 2020 อยู่ที่ 450-475 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2008 ที่มีการบริโภค 430 ล้านตัน หลังจากนั้นการบริโภคจะปรับตัวลดลงเหลือ 360 ล้านตันในปี 2050 โดยตลาดข้าวขาวจะหายไปมากที่สุด ขณะที่ข้าวคุณภาพตลาดจะขยายตัว เป็นผลจากผู้บริโภคมีรายได้สูงขึ้น รัฐบาลบางประเทศ ยกเลิกระบบการซื้อข้าวขาวเพียงอย่างเดียว

อย่างไรก็ตาม แม้การบริโภคข้าวที่ลดลงจะสอดคล้องกับแนวโน้มพื้นที่ปลูกข้าวที่ลดลงเช่นกัน แต่เนื่องจากในอนาคตการทำนาจะมีปัญหาเรื่องการขาดแคลนน้ำและการลงทุนที่สูงขึ้น ดังนั้นเพื่อให้การผลิตข้าวได้อย่างเพียงพอกับความต้องการ และราคาข้าวไม่สูงเกินไป ทั้งโลกจะต้องเพิ่มผลผลิตต่อไร่ให้สูงขึ้น

อัดจำนำข้าวทำพังทั้งระบบ

สำหรับข้าวไทย โครงการรับจำนำข้าวได้ทำลายอุตสาหกรรมข้าวไทยทั้งระบบ โดยการผลิตข้าวไม่เน้นคุณภาพ เพราะชาวนาต้องการเร่งผลผลิตเพื่อให้รายได้สูงขึ้น ราคาข้าวคุณภาพที่สูงมาก ทำให้ผู้บริโภคหันไปซื้อข้าวหอมมะลิ จากลาว กัมพูชามากขึ้น ส่งผลให้การส่งออกข้าวของไทยลดลงจาก 10 ล้านตันในปี 2554 เหลือ 6.95 ล้านตันในปี 2555 สาเหตุหลักที่ทำให้ไทยล้มเหลวในการส่งออกข้าว เพราะกระทรวงพาณิชย์ไม่มีความสามารถ ข้าราชการไม่เคยมีความรู้ความเข้าใจอย่างแท้จริงในตลาดข้าว ขณะที่พ่อค้าใหม่ไม่มี แต่ใช้วิธีการวิ่งเต้นที่ส่งผลให้ต้นทุนการส่งออกสูงขึ้น

กรณีที่รัฐบาลต้องการขายข้าว G to G เสี่ยงที่จะขาดทุนสูงมาก เพราะเป็นตลาดที่ไม่แน่นอน ปริมาณข้าวในตลาดมีเพียง 6-7 ล้านตันเท่า ประกอบกับการขายข้าวลักษณะนี้ไม่สามารถวิ่งเต้นหรือจ่ายใต้โต๊ะได้ กระทรวงพาณิชย์จึงไม่ประสบผลสำเร็จในการขายข้าว G to G

"การแก้ไขปัญหาในภาพรวมของไทยคงหนีไม่พ้นการพยายามให้ชาวนารวมแปลงนา เพื่อให้ได้ผืนใหญ่ ให้ใช้เครื่องจักรในการทำนา จึงจะสามารถลดต้นทุนในการผลิตได้ ชาวนาก็จะมีรายได้สูงเพราะต้นทุนต่ำ ซึ่งไม่จำเป็นต้องทำนโยบายจำนำข้าวแต่อย่างใด ซึ่งในปี 2557 แนวโน้มราคาข้าวจะปรับลดลงอย่างต่อเนื่องตามราคาตลาดโลก และไม่สามารถคาดเดาได้ว่าจะลดลงเท่าใด"

ตั้งกก.อิสระตรวจโกดังรัฐ

ทั้งนี้ในการจัดการสต็อกนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่รัฐบาลจะต้องทำให้เกิดความโปร่งใส ไม่ว่าจะมีการเลือกตั้งหรือไม่ การตรวจสอบต้องตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเปิดโกดังข้าวของรัฐบาล โดยกรรมการที่ตั้งขึ้นตั้งอิสระสามารถตรวจสอบโกดังข้าวได้เพื่อให้เกิดความโปร่งใส

ที่ผ่านมารัฐบาลไม่สามารถอธิบายทุกเรื่องที่เกิดจากการจำนำข้าวและส่อให้เกิดความทุจริตได้ ทั้งเรื่องสต็อกข้าว เงินที่นำมารับจำนำ ปริมาณข้าวที่หายไป รวมไปถึงเรื่องที่ชาวนาไม่ได้รับเงินจากการจำนำข้าว ส่วนการบริหารสต็อกรัฐบาลต้องดำเนินการและชี้แจงให้ได้ว่าสต็อกข้าวของรัฐจะไม่ออกมากระทบข้าวใหม่ ตราบใดที่รัฐบาลไม่ดำเนินการให้เกิดความโปร่งใส แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลเริ่มสะสมการทุจริตอย่างต่อเนื่อง

นักวิชาการชี้รัฐต้องทบทวนจำนำ

นายสมพร อิศวิลานนท์ นักวิชาการสถาบันคลังสมองของชาติ กล่าวว่า โครงการรับจำนำข้าวที่ตั้งราคาไว้สูงมาก แต่ไม่สามารถยกระดับราคาได้ รัฐบาลใช้งบประมาณไปจำนวนมาก ทำให้รัฐไม่สามารถจัดการกับสต็อกข้าว ส่งผลให้การส่งออกมีต้นทุนสูงและการแข่งขันรุนแรง ทำให้ไทยเสียส่วนแบ่งการตลาดและปริมาณการส่งออกที่ลดลง บ่งชี้ได้ว่าไทยไม่มีอำนาจในการควบคุมกลไกตลาดข้าวได้ ดังนั้นเพื่อลดการสูญเสียต่ออุตสาหกรรมข้าวไทยในระยะยาว รัฐบาลต้องเร่งทบทวนนโยบายรับจำนำอย่างเร่งด่วนและหาทางช่วยเหลือชาวนาด้วยวิธีการอื่นๆ และต้องสนับสนุน ส่งเสริมสร้างอุตสาหกรรมข้าวไทยให้เข้มแข็ง สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้

ฟันธง5ปีไทยระบายสต็อกไม่หมด

นางสาวกอบสุข เอี่ยมสุรีย์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า การแข่งขันการส่งออกข้าวในตลาดโลก ยังมีความรุนแรงอยู่มาก โดยการส่งออกไทยลดลงอย่างต่อเนื่อง เป็นผลมาจากโครงการรับจำนำ ซึ่งเป็นอุปสรรคที่รุนแรงที่สุดเท่าที่เคยมีมา จากราคาข้าวที่ตั้งไว้สูงเกินไป เป้าหมายของรัฐที่ตั้งใจจะรวมข้าวไว้ที่เดียว เพื่อต่อรองกับผู้ซื้อหรือผู้นำเข้า ไม่สามารถทำได้ ซึ่งผู้ส่งออกส่งสัญญาณเตือนแล้วแต่รัฐบาลไม่เชื่อ

ส่วนหนึ่งเป็นเพราะไทยผลิตข้าวได้มากเกินความต้องการถึง 2 เท่า ต้นทุนสูง ราคาแพงทำให้ข้าวในสต็อกมีปริมาณมาก เชื่อว่าภายใน 5 ปีไม่สามารถระบายได้หมด ดังนั้น ต้องหยุดสต็อก แต่รัฐต้องช่วยชาวนาเช่นเดิม ในขั้นตอนที่สั้นกระชับที่สุด จากขั้นตอนในโครงการรับจำนำที่มีขั้นตอนมากเกินไป มีขนาดใหญ่เกินไปใหญ่มากจนเทวดาก็บริหารไม่ได้ เฉพาะโรงสี 1,000 โรง ต่อให้เป็นหน่วยเฉพาะกิจ ก็ดูแลตรวจสอบไม่ครบ

ส่วนตลาดข้าวตอนนี้ มีการเปลี่ยนแปลงมากและเปลี่ยนไป คือมีตลาดใหม่แอฟริกาเป็นผู้ซื้อรายใหญ่ จากเดิมที่ไม่เป็นที่สนใจเพราะไม่มีเงิน ในขณะที่ตลาดอียูที่เป็นตลาดหลัก พบว่าไม่มีการขยายตัวเลย ตลาดเอเชีย ที่มีผู้ซื้อรายใหญ่ คือฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ไม่สนใจข้าวไทย แม้ว่าช่วงที่มีการประมูลซื้อข้าวจะส่งหนังสือมาเชิญไทย แต่เป็นการส่งตามธรรมเนียมเท่านั้น และหันไปซื้อข้าวจากเวียดนามที่มีราคาต่ำกว่าและรัฐบาลมีสัมพันธภาพที่ดี

ชาวนาชี้ต้นทุนเพิ่มขึ้นสูงมาก

นายประสิทธิ์ บุญเฉย นายกสมาคมชาวนาข้าวไทย กล่าวว่า ต้นทุนผลิตข้าวขณะนี้สูงมากประมาณ 4,000-7,000 บาทต่อไร่ ขณะที่นโยบายรัฐเรื่องโซนนิ่ง ยังบอกไม่ได้ว่าจะลดต้นทุนได้ อย่างไร ดังนั้นเพื่อลดต้นทุนให้ได้ ควรมีการวางกรอบกันกำหนดตัวเลขที่ชัดเจน เพื่อให้ชาวนาอยู่ได้อย่างยั่งยืน ซึ่งในเบื้องต้น สมาคมชาวนาได้หารือในเบื้องต้นพบว่าต้นทุนควรอยู่ที่ 3,500-4,000บาท /ไร่ ผลผลิตที่ 80 ถัง หลังจากนั้นให้จัดโซนนิ่งตามสายพันธุ์ได้ เพื่อวางแผนธุรกิจการตลาด ทั้งภายในคือ ชาวนา-โรงสี และภายนอกคือโรงสี-ผู้ประกอบการ โดยที่กรมการข้าวเป็นหน่วยงาน ส่งเสริมและวิจัยพัฒนา

สำหรับการช่วยเหลือชาวนาหากสามารถเลือกตั้งได้ ไม่ส่งพรรคการเมืองใดจะเข้ามา สมาคมชาวนาอยากให้มีการเขียนนโยบายด้านการเกษตรเพื่อให้เกิดความมั่นคงให้กับชีวิต เพื่อ ไม่ให้เกิดปัญหาอย่างปัจจุบันที่โครงการรับจำนำแล้ว มีใบประทวนแต่ชาวนาไม่ได้รับเงิน

ยุคลชี้ชาวนามือถือต้นทุนสูง

นายยุคล ลิ้มแหลมทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า บางพื้นของไทยไม่เหมาะสมจะทำการเพาะปลูก ผลผลิตต่อไร่ยังต่ำประมาณ 300 กิโลกรัมเท่านั้น จากผลผลิตเฉลี่ยของไทยอยู่ที่ 509 กิโลกรัม/ไร่ กระทรวงฯจึงมีนโยบายส่งเสริมการทำโซนนิ่ง ให้สามารถผลิตข้าวได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ปรับปรุงและพัฒนาเกษตรกรเพื่อผลิตข้าวคุณภาพ

"ปัจจุบันการทำนาจะมีลักษณะทำเพื่อธุรกิจมากขึ้น สั่งการทางมือถือให้ปลูกให้ใส่ปุ๋ย ในปี 2556/57 กรมการข้าวได้คัดเลือกเกษตรกรที่ทำนาด้วยตนเองนำร่อง 10 จังหวัด พบว่าชาวนาเหล่านี้สามารถลดต้นทุนการผลิตได้ถึงไร่ละ 2 พันบาท ในการทำนาปีต่อไปชาวนาเหล่านี้จะเป็นตัวแทนเพื่อแนะนำชาวนาในพื้นที่ใกล้เคียงให้ทำตาม ซึ่งจะช่วยได้มาก"
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่