********** ไม่เชื่อ ธ.โลก แล้ว ธปท.ล่ะคะ...ฟังได้มั้ย? **********

กระทู้สนทนา

แบงก์ชาติติงแทรกแซงข้าวสร้างภาระงบรัฐ

 

แบงก์ชาติติงแทรกแซงข้าวสร้างภาระงบรัฐ แนะควรตั้งอยู่บนพื้นฐานของการใช้งบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด

 

(ขออนุญาตนำเฉพาะประเด็นสำคัญมาตัดแปะ เพื่อการวิพากษ์วิจารณ์ค่ะ ส่วนรายละเอียดอ่านได้ตามลิงค์)

 

เสาวณี จันทะพงษ์ และ ดวงทิพย์ ศิริกาญจนารักษ์ เจ้าหน้าที่จากธนาคารแห่งประเทศไทย ได้เขียนบทความหัวข้อ "เจาะลึกการจัดการข้าวไทยในมิติการกระจายรายได้และประสิทธิภาพการผลิต"

 

จากการศึกษาข้อมูลการเข้าร่วมโครงการรับจำนำข้าว รุ่นนาปีระหว่างปี 2531-2555 (22 ปี ยกเว้นปีการผลิต 2552/2553 และปี 2553/2554) พบว่า

 

เกษตรกรนำข้าวเปลือกมาร่วมในโครงการเฉลี่ยปีละ 2.4 ล้านตัน หรือคิดเป็นเพียงร้อยละ 12.2 ของผลผลิตข้าวนาปีในแต่ละปี ซึ่งมีจำนวนเฉลี่ยประมาณ 19 ล้านตันต่อปี แต่มีแนวโน้มสูงขึ้นบ้างตามราคารับจำนำที่เร่งตัวสูงขึ้นตั้งแต่ปี 2550/2551 เป็นต้นมา และเป็นปีที่ราคารับจำนำข้าวเปลือกเริ่มมีแนวโน้มสูงกว่าราคาข้าวเปลือกที่เกษตรกรขายได้ ณ ไร่นามากขึ้น

 

 

ขณะที่การเข้าร่วมโครงการรับจำนำข้าว รุ่นนาปรัง ระหว่างปี 2544-2555 (ยกเว้นปี 2553-2554) เฉลี่ยปีละ 3.3 ล้านตัน หรือคิดเป็นร้อยละ 45.8 ของผลผลิตข้าวนาปรังในแต่ละปีซึ่งเฉลี่ย 7.2 ล้านตันต่อปี

 

เป็นที่น่าสังเกตว่าในปี 2555 ปริมาณข้าวเปลือก รุ่นนาปรังเกือบทั้งหมดเข้าสู่โครงการรับจำนำ ส่งผลให้ ณ วันที่ 19 พฤศจิกายน 2555 สต็อกข้าวสารของทางการไทยมีจำนวนประมาณ 14 ล้านตันข้าวสาร โดยในจำนวนนี้เป็นสต็อกเดิมก่อนปี 2554 จำนวน 2 ล้านตัน

 

ในภาพรวมกล่าวได้ว่าผลประโยชน์ของโครงการรับจำนำ กระจายไปสู่เกษตรกรส่วนน้อยและไม่ทั่วถึง

 

การไถ่ถอนข้าวที่นำมาจำนำกับรัฐบาลของเกษตรกร ในช่วงปี 2545-2551 อยู่ที่ประมาณหนึ่งในห้าของข้าวที่จำนำทั้งหมด ซึ่งก่อให้เกิดภาระทางการเงินแก่ ธ.ก.ส. ในการบริหารข้าวทั้งค่าใช้จ่ายดูแลข้าวเปลือกในยุ้งฉาง

 

หากหลุดจำนำ ธ.ก.ส. ก็จะมีค่าใช้จ่ายในการระบายข้าวเปลือกสู่คลังของ อคส. และความเสี่ยงในการขายข้าวดังกล่าวในราคาที่แตกต่างจากต้นทุนที่รัฐได้จ่ายไป

 

โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ซึ่งมีฐานแนวคิดว่า หลักการประกันความเสี่ยงจากความผันผวนของราคา (Put Option) ซึ่งประกันว่าชาวนาจะลดความเสียหาย จากราคาข้าวในตลาดที่ตกต่ำกว่าที่ควรจะเป็น ซึ่งไม่ใช่การประกันราคาตลาดที่ชาวนาจะขายข้าวได้

 

 

ดังนั้น ในฤดูนาปี 2552/2553 รัฐบาลโดยคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) ได้ให้ความเห็นชอบโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว เริ่มในฤดูนาปี ปีการผลิต 2552/2553 และให้ขึ้นทะเบียนเกษตรกรในช่วงระหว่างเดือนก.ค. - ต.ค. 2552 และเริ่มใช้สิทธิในการรับเงินประกันตั้งแต่ 1 พ.ย. 2552 จนถึงเดือนก.พ. 2553

 

ถือเป็นนวัตกรรมทางนโยบายใหม่และเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของนโยบายด้านราคาข้าวของไทย ซึ่งใช้กลไกการตลาดในระดับไร่นาและตลาดกลางข้าวเปลือกอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งรัฐต้องเร่งพัฒนาและสร้างความแข็งแกร่งของกลไกตลาดกลางข้าวเปลือก ให้กระจายไปในท้องที่ต่างๆ เพื่อให้เป็นแหล่งกลางในการซื้อขายและการสร้างราคาอ้างอิงที่มีประสิทธิภาพ

 

โดยสรุป นโยบายการจัดการข้าวของรัฐ ทั้งแบบโครงการรับจำนำและโครงการประกันรายได้เกษตรกร ต่างมีวัตถุประสงค์ร่วมกัน คือ ให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวมีรายได้สูงขึ้น แต่ทั้งสองโครงการยังมีจุดอ่อนด้านการจัดการอยู่หลายประการ ที่จะต้องปรับปรุง

 

โดยเฉพาะแนวทางการบริหารสต็อกที่เพิ่มมากขึ้น เพราะว่ายิ่งถือไว้นานรัฐมีโอกาสขาดทุนเพิ่มขึ้น เพราะไทยไม่สามารถผลักดันราคาข้าวในตลาดโลกให้สูงขึ้นได้ และเรื่องการลดปัญหาคอร์รัปชัน

 

 

ในระยะสั้น ไม่ว่ารัฐจะตัดสินใจใช้นโยบายการจัดการข้าวแบบใด ควรตั้งอยู่บนพื้นฐานของการใช้งบประมาณแผ่นดินอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อนำไปสู่นโยบายการจัดการข้าวที่ยั่งยืนในระยะยาว

 

 

ที่มา :

http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/finance/finance/20121210/481487/แบงก์ชาติติงแทรกแซงข้าวสร้างภาระงบรัฐ.html

 

 

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่