จากเรือกสวนไร่นามาเป็นบ้าน (บทความคัดลอก)

กระทู้สนทนา
สมัยที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกสถาปนากรุงเทพฯ เป็นราชธานีนั้น นอกจากบริเวณศูนย์กลางการปกครองที่พระบรมมหาราชวังแล้ว พื้นที่ส่วนใหญ่บริเวณฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา ยังเป็นเรือกสวนไร่นาและที่ว่างเปล่าที่ยังไม่มีผู้จับจองทำประโยชน์ เช่น ทุ่งส้มป่อย (อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ) ทุ่งพญาไท (จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) ทุ่งบางกะปิ (ถนนสุขุมวิท) เป็นต้น ส่วนริมแม่น้ำเจ้าพระยา ทางตอนใต้ของพระบรมมหาราชวังนั้น เป็นที่ตั้งบ้านเรือนของคนหลายชาติหลายภาษา รวมทั้งชุมชนตะวันตกที่ขยายตัวอย่างรวดเร็ว ภายหลังการทำสนธิสัญญาเบาว์ริ่ง

ภาพถ่ายทางอากาศ ถนนและคลองสาธรมองจากถนนวิทยุ

ก่อนที่จะมีการทำสนธิสัญญาเบาว์ริ่ง และสนธิสัญญาทางพระราชไมตรีฉบับอื่นกับนานาอารยประเทศนั้น ชาวต่างประเทศที่พำนักอยู่ในประเทศไ ม่มีสิทธิ์เป็นเจ้าของที่ดินในราชอาณาจักรสยาม แต่ภายใต้ข้อตกลงตามสนธิสัญญาดังกล่าว ชาวต่างประเทศที่อาศัยอยู่ในราชอาณาจักรสยามนั้นตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป มีสิทธิ์ครอบครองที่ดินโดยได้รับความเห็นชอบจากกงสุลประจำชาตินั้นๆ กรมท่า (กระทรวงการต่างประเทศ) และกระทรวงนครบาล (ผู้รับผิดชอบกับที่ดินในราชอาณาจักร) จากหลักฐานเกี่ยวกับการซื้อขายที่ดินของชาวต่างประเทศและคนในบังคับต่างประเทศที่มีอยู่ พบว่าตั้ งแต่ พ.ศ.2420  เป็นต้นมา ชาวต่างประเทศในพระนครนิยมซื้อที่ดินเพื่อสร้างบ้านพักอาศัยและเพื่อประกอบ อาชีพ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เขตบางรักและยานนาวา

สำหรับราษฎรชาวไทยที่ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม มักจะจับจองที่ดินเพื่อเพาะปลูกและสร้างที่พักอาศัย การจับจองที่ดินเพื่อทำประโยชน์นี้เป็นการพัฒนาท้องถิ่นจากบริเวณที่รกร้างว่างเปล่าให้กลายเป็นที่มีราคา เช่น ที่นา สวนผักและพืชผลต่างๆ

พระเจ้าแผ่นดินมีพระบรมราชานุญาตให้ราษฎรเข้าทำประโยชน์ในที่ดินว่างเปล่า ซึ่งยังไม่มีผู้จับจองได้ตามกำลังความสามารถ โดยราษฎรรายนั้นๆ ต้องกำหนดเขตพื้นที่และบุกเบิกที่ดินเพื่อทำสวน ทำไร่ หรือทำนาให้ได้ผลตามเวลาที่กำหนด ที่ดินซึ่งราษฎรใช้ทำมาหาเลี้ยงชีพนี้เป็นกรรมสิทธิ์ของเขาอยู่ ตราบเท่าที่เขายังใช้ประโยชน์ในที่ดินนั้นแหละ เสียภาษีอากรให้แก่รัฐตามปกติ และตราบเท่าที่มิได้มีการเวนคืนที่ดินแปลงดังกล่าว

ก่อนที่จะมีการออกโฉนดที่ดินทั่วประเทศ ตั้งแต่ พ.ศ. 2440 นั้น การจับจองและทำประโยชน์ต่างๆ ในที่ดิน มีเอกสารสิทธิ์สามารถซื้อขายเปลี่ยนแปลงได้ดังนี้

1.ใบเหยียบย่ำ แสดงเขตจับจองที่ดินของบุคคลหนึ่งๆ มีอายุ 1 ปีสำหรับที่ดินทำนา มีอายุ 2-5 ปี สำหรับที่ดินทำสวนไม้ล้มลุก และมีอายุ 2-8 ปี สำหรับที่ดินทำสวนผลไม้ยืนต้น

2. ตราแดง แสดงเอกสิทธิ์ในที่ดินทำนา ในบริเวณที่มีน้ำท่าอุดมสมบูรณ์ สามารถใช้ทั้งน้ำฝนและน้ำท่าได้ ราษฎรที่ได้รับตราแดงจะต้องเสียอากรค่านาให้แก่รัฐบาลในอัตราที่กำหนดไว้แน่นอนตลอดระยะเวลาที่ครอบครองทำประโยชน์ที่ดิน และหากละทิ้งที่ดินโดยไม่ทำประโยชน์ 9  ปีติดต่อกัน ที่ดินจะตกเป็นของหลวง

3. ตราจอง แสดงเอกสิทธิ์ในที่ดินทำนาที่ใช้ได้เฉพาะน้ำท่า รัฐเก็บอากรค่านา เฉพาะบริเวณที่สามารถทำประโยชน์ได้เท่านั้น  และถ้าละทิ้งที่นา 3 ปีติดก่อกัน ที่ดินจะตกเป็นของหลวง

4. โฉนฏ เป็นเอกสารสิทธิ์ที่ออกให้กับผู้ทำสวนไม้ยืนต้นและล้มลุก ซึ่งรัฐบาลได้รับภาษีประจำปีที่เรียกว่า “อากรค่าสวน” เต็มเม็ดเต็มหน่วยกว่าการทำนา ถือว่าเป็นเอกสารสิทธิ์ที่ถาวรกว่าใบเหยียบย่ำ ตราจอง หรือตราแดง

ที่ดินที่เคยได้รับตราแดงหรือตราจองอาจจะเปลี่ยนเป็นโฉนฏได้ หากเจ้าของปรับปรุงที่ดินของตน ยกที่นาเป็นที่สวน (ซึ่งให้ผลประโยชน์กับรัฐบาลมากกว่า) และถ้าต้องการหักที่สวนนั้นทำเป็นบ้านพักอาศัย จะต้องแจ้งเรื่องราวต่อเจ้าพนักงานให้สำรวจพื้นที่ดังกล่าว และเพื่อนำเสนอเสนาบดีกร ะทรวงนครบาล ผู้รับผิดชอบเกี่ยวกับที่ดินทั่วพระนครต่อไป

เจ้าของที่ดินริมถนนและคลองสีลมในสมัยก่อน ก็เคยมีเอกสารสิทธิ์เหล่านี้เช่นกัน ก่อนที่จะมีการออกโฉนดสำหรับที่ดินในละแวกนี้เป็นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2455
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่