​'สภาฟาสซิสต์' สู่ 'สภาประชาชน'

สภาฟาสซิสต์ สู่ สภาประชาชน ตอนที่ 1

คลิกเพื่อดูคลิปวิดีโอ

สภาฟาสซิสต์ สู่ สภาประชาชน ตอนที่ 2

คลิกเพื่อดูคลิปวิดีโอ


     หลายคนอาจสงสัยว่า "สภาประชาชน" ที่กลุ่ม กปปส. ซึ่งนำโดยนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ได้นำเสนอเพื่อเป็นตัวแทนของปวงชนชาวไทย ระหว่างการประท้วงต่อต้านรัฐบาลตลอดหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา มีลักษณะอย่างไร ขณะที่นักวิชาการบางคนเชื่อว่าสภาดังกล่าวเป็นการถอดแบบมาจากสภาเผด็จการฟาสซิสต์ของอิตาลี รายการเวิลด์ อัพเดต วันนี้ จะพาคุณผู้ชมไปทำความรู้จักถึงที่มาของสภาดังกล่าว

การแถลงข่าวของสมัชชาปกป้องประชาธิปไตย หรือ สปป. ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 10 ธันวาคมที่ผ่านมา เป็นการตอบโต้แนวคิดของกลุ่ม กปปส. ที่สนับสนุนการจัดตั้ง "สภาประชาชน" เพื่อสรรหาคนดีขึ้นมาทำหน้าที่แทนปวงชนชาวไทย การกระทำเหล่านี้นอกจากขัดรัฐธรรมนูญแล้ว ยังไม่เป็นไปตามระบอบประชาธิปไตย

โดยหนึ่งในข้อคิดเห็นจาก นักวิชาการคือ อาจารย์ปิยบุตร แสงกนกกุล จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มองว่าการจัดตั้ง "สภาประชาชน" ของ กปปส. ที่นำโดยนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ถอดแบบมาจากสภาวิชาชีพที่เกิดขึ้นในสมัยนายเบนิโต มุสโสลินี ผู้นำเผด็จการฟาสซิสต์ของอิตาลีในอดีต

ก่อนการจัดตั้งสภาดังกล่าว ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากการเคลื่อนไหวและจัดตั้งพรรคฟาสซิสต์ ในช่วงทศวรรษที่ 1920 ภายใต้การนำของมุสโสลินี จุดมุ่งหมายของพรรคฟาสซิสต์ คือ การสร้างระบอบการปกครองใหม่ ซึ่งพวกเขาไม่มีความเชื่อมั่นในระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา เพราะไม่สามารถแก้ไขวิกฤติทางการเมืองและเศรษฐกิจหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ได้

สถานการณ์ทางการเมืองที่ชะงักงันของอิตาลี บวกกับกระแสสังคมนิยมที่ทวีความรุนแรง ทำให้รัฐบาลอิตาลีตัดสินใจสนับสนุนให้พรรคฟาสซิสต์เข้าสู่การเลือกตั้งในฐานะแนวร่วมต่อต้านพรรคสังคมนิยม แต่พรรคฟาสซิสต์ได้รับเสียงสนับสนุนเพียงน้อยนิดเท่านั้นจากการเลือกตั้งในปี 2464

ในเดือนตุลาคมปี 2465 มุสโสลินี ประกาศต่อที่ประชุมพรรคฟาสซิสต์ ในเมืองมิลาน ว่าจะเคลื่อนขบวน "ชายชุดดำ" หรือ "Blackshirt" ซึ่งเป็นกองทหารกึ่งพลเรือน และผู้สนับสนุนที่เขาอ้างว่ามีมากถึง 700,000 คน เข้ายึดสถานที่สำคัญของทางราชการ ในเหตุการณ์ "March on Rome" ขณะเดียวกัน ยังเรียกร้องให้รัฐบาลนายลุยยี ฟากตา ลาออกจากตำแหน่งแล้วคืนอำนาจให้กับพรรคฟาสซิสต์ซึ่งเป็นพรรคเสียงข้างน้อยในสภา

สถานการณ์ดังกล่าว รัฐบาลของนายฟากตา และกองทัพได้เตรียมกำลังปราบปรามแล้ว แต่พระเจ้าวิคเตอร์ อิมมานูเอลที่ 3 กษัตริย์ของอิตาลี ทรงไม่อนุญาตรัฐบาล และกองทัพในพระองค์ให้ทำการปราบปราม เนื่องจากเกรงว่า พรรคสังคมนิยมอิตาลีจะได้รับการเลือกตั้ง และครองเสียงข้างมากในอนาคต ทั้งยัง มีจุดมุ่งหมายล้มล้างสถาบันกษัตริย์ พระองค์จึงโน้มเอียงสนับสนุนพรรคฟาสซิสต์ และแต่งตั้งให้มุสโสลินีขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตามที่ร้องขอ

หลังจากมุสโสลินีขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแล้ว เขาได้ใช้อำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดเข้าปราบปรามศัตรูทางการเมืองโดยเฉพาะพรรคสังคมนิยมอิตาลี การแก้ไขกฎหมายเพื่อให้อำนาจพรรคฟาสซิสต์อย่างเต็มที่ในการบริหารประเทศ และเป็นการนำไปสู่ความล่มสลายของระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภาของอิตาลีในที่สุด

สำหรับรายงาน สภาฟาสต์ซิสต์ สู่สภาประชาชน ตอนต่อไป ซึ่งเป็นตอนสุดท้าย เราจะพาไปดูองค์ประกอบของสภาฟาสต์ซิสต์ และผลงานของสภาเผด็จการดังกล่าว ติดตามในคตอนที่สอง

            'สภาฟาสซิสต์' สู่ 'สภาประชาชน' ตอนที่ 2

หลังจากเมื่อวานนี้ รายการของเราได้นำเสนอรายงานเรื่อง "สภาฟาสซิสต์" สู่ "สภาประชาชน" ตอนที่ 1 เพื่อบอกเล่าที่มาของสภาเผด็จการในอดีตของอิตาลี เปรียบเทียบกับสภาประชาชน ซึ่งเป็นข้อเรียกร้องของกลุ่มผู้ชุมนุมต่อต้านรัฐบาลไทยในปัจจุบัน วันนี้ รายการของเราขอนำเสนอรายงานตอนที่ 2 ซึ่งเป็นตอนสุดท้าย เพื่อบอกเล่าลักษณะ และหน้าที่ของสภาฟาสซิสต์

ภายหลังจากที่เบนิโต มุสโสลินี ผู้นำพรรคฟาสซิสต์ ประกาศนำ "ชายชุดดำ" เข้ายึดสถานที่ราชการต่างๆในเหตุการณ์ "March on Rome" จนพระเจ้าวิคเตอร์ เอ็มมานูเอลที่ 3 แห่งอิตาลี ทรงมอบตำแหน่งนายกรัฐมนตรีให้ เพื่อหลีกเลี่ยงความรุนแรงทางการเมือง ทั้งยังสนับสนุนพรรคฟาสซิสต์ในการต่อกรกับพรรคสังคมนิยมอิตาลีที่มีนโยบายล้มล้างสถาบันกษัตริย์

เมื่อมุสโสลินีขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีจากการประชุมรัฐสภาครั้งแรกเขาประกาศจุดยืนชัดเจนในการปฏิรูประบบรัฐสภา และการเลือกตั้ง โดยสนับสนุนให้สหภาพแรงงานเข้ามามีบทบาททางการเมือง รวมทั้งแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อให้ที่นั่ง 2 ใน 3 แก่พรรคการเมืองที่ได้รับเลือกตั้งเกินร้อยละ 25 ทำให้พรรคฟาสซิสต์สามารถครองที่นั่งในสภาได้ 2 ใน 3 จากการเลือกตั้งเมื่อปี 2467

นอกจากพรรคฟาสซิสต์จะครองเสียงข้างมากในสภาแล้ว พรรคฝ่ายค้านยังถูกข่มขู่คุกคามจนต้องถอนตัวออกจากการเป็นสมาชิกสภาในที่สุด ทำให้พรรคฟาสซิสต์สามารถครองสภา และแก้ไขรัฐธรรมนูญ // ในปี 2471 "สภาสูงสุดของพรรคฟาสซิสต์" หรือ "แกรน คอนซิจลิโย เดล ฟาซิสสิโม" กลายเป็นองค์กรที่มีอำนาจเหนือองคพยพทั้งมวลของประเทศ หลังการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภาสิ้นสุดลง

สภาสูงสุดของพรรคฟาสซิสต์ ก่อตั้งภายหลังเหตุการณ์ "March on Rome" จึงกลายเป็นองค์กรสูงสุดของรัฐในปี 2471 โดยมุสโสลินีดำรงตำแหน่งประมุขของรัฐ เพื่อรับสนองพระบรมราชโองการของกษัตริย์ สภานี้มีอำนาจเบ็ดเสร็จในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นการสรรหาผู้แทนราษฎรที่มาจากสหภาพวิชาชีพต่างๆ การถวายคำแนะนำกษัตริย์ในการแต่งตั้งถอดถอนนายกรัฐมนตรี ที่สำคัญสภาแห่งนี้ยังมีสิทธิในการเลือกองค์รัชทายาทเพื่อการสืบราชสันติวงศ์ได้อีกด้วย

อำนาจที่ล้นพ้นของพรรคฟาสซิสต์นำไปสู่จุดจบของสภาผู้แทนราษฎรแบบเดิม ซึ่งต่อมามีการตั้ง "สภาฟาสซิสต์และความร่วมมือ" หรือเรียกสั้นๆว่า "สภาแห่งชาติ" ขึ้นทดแทนในปี 2482 สภาแห่งนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อดำเนินการทางเศรษฐกิจแบบทุนนิยม แต่เป็นความร่วมมือของกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ เช่น สหภาพวิชาชีพ กลุ่มทุนทั้ง 22 องค์กร ร่วมมือกันเป็นหนึ่งเดียวภายใต้การควบคุมอย่างเบ็ดเสร็จของมุสโสลินี

สภาฟาสซิสต์และความร่วมมือถึงจุดสิ้นสุดในปี 2486 เมื่อกองทัพสัมพันธมิตรกรีฑาทัพสู่กรุงโรม และโค่นล้มระบอบฟาสซิสต์ของมุสโสลินี ทำให้พระเจ้าวิคเตอร์ เอมมานูเอลที่ 3 ทรงสละราชย์สมบัติ ทำให้พระเจ้าอุมแบร์โตที่ 2 พระโอรสขึ้นครองราชย์ แต่ความขัดแย้งระหว่างฝ่ายสาธารณรัฐและฝ่ายกษัตริย์นิยม ก็นำไปสู่การลงประชามติกำหนดอนาคตชาติ ปรากฏว่าฝ่ายสาธารณรัฐชนะการลงประชามติด้วยคะเเนนเสียงร้อยละ 54 ด้วยเหตุผลที่ว่า สถาบันกษัตริย์สนับสนุนระบอบฟาสซิสต์ของมุสโสลินี อิตาลีจึงเป็นสาธารณรัฐจนถึงปัจจุบัน

เมื่อมองย้อนกลับมาที่ "สภาประชาชน" ของกลุ่ม กปปส. ที่มีลักษณะคล้ายคลึงกับสภาฟาสซิสต์ ที่คัดสรรบุคคลซึ่งพวกเขาเชื่อว่าเป็น "คนดี" จากทุกสาขาวิชาชีพมาดำรงตำแหน่งทางการเมือง แต่คนกลุ่มนี้ยังคงถูกตั้งคำถามเรื่องความชอบธรรม จากการใช้สิทธิแทนชาวไทยทั้งประเทศ เพื่อเลือกผู้แทนให้กับประชาชน ทั้งที่คนส่วนใหญ่ยังคงเชื่อมั่นในคุณค่า และบรรทัดฐานตามระบอบประชาธิปไตย ผ่านการลงคะแนนเลือกตั้งด้วยตนเอง

ด้วยเหตุนี้จึงมีคำถามเกิดขึ้นว่า อะไรคือความต้องการที่แท้จริงของกลุ่ม กปปส. ต่อการปฏิรูปประเทศ ซึ่งอาจหวนประเทศกลับไปเป็นเหมือนอิตาลีในสมัยของมุสโสลินีก็เป็นได้

ที่มา :  Voice TV   -  13 ธันวาคม 2556
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่