เศรษฐกิจของประเทศปีหน้าต้องระวังมากๆ

credit : ดร.บัณฑิต นิจถาวร
คอลัมนิสต์ประจำคอลัมน์เศรษฐศาสตร์บัณฑิต/ bangkokbiznews.com
------

ช่วงปลายเดือนที่แล้ว ผมได้รับเชิญไปพูดเรื่องเศรษฐกิจปีหน้าหลายเวที เพราะทุกคนกังวลว่า เศรษฐกิจประเทศจะดีขึ้นหรือไม่ปีหน้า

จากที่เศรษฐกิจขณะนี้กำลังชะลอตัวลงมาก และเหตุการณ์การเมืองในประเทศก็เป็นความไม่แน่นอนสำคัญที่จะกระทบเศรษฐกิจ ผมได้แสดงความเห็นเท่าที่ประเมินได้ขณะนั้น และวันนี้ก็อยากจะเขียนเรื่องนี้ เพื่อให้ผู้อ่าน "เศรษฐศาสตร์บัณฑิต" ทราบ

ใครที่ติดตามข่าวเศรษฐกิจ ตั้งแต่ช่วงปลายเดือนที่แล้ว คงจำได้ว่ามีข่าวเศรษฐกิจสำคัญออกมาพร้อมๆ กัน สี่ห้าข่าว

ข่าวแรก หลายองค์กรทั้งภาครัฐและองค์กรระหว่างประเทศ เช่น สภาพัฒน์ สศค. World Bank และ ADB ต่างปรับลดอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยปีนี้ลง จากอัตราประมาณร้อยละ 4 เมื่อต้นปี ล่าสุด ส่วนใหญ่ปรับลงมาเหลือร้อยละ 3 จากที่เศรษฐกิจของประเทศได้อ่อนตัวลงมาก ทั้งการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน การลงทุนของภาครัฐและการส่งออก การส่งออกดูเหมือนจะผิดหวังที่สุด เพราะทั้งปีอาจขยายตัวเพียงร้อยละ 1 หรือต่ำกว่านั้น และถ้าความรุนแรงของสถานการณ์การเมืองมีมากขึ้น ก็ยิ่งจะกระทบเศรษฐกิจมากขึ้นไปอีก ทำให้เศรษฐกิจปีนี้อาจขยายตัวต่ำลงไปอีกคือประมาณ ร้อยละ 2 ซึ่งถือว่าชะลอลงมาจากอัตราปีที่แล้วที่ร้อยละ 6.5

สอง ความเชื่อมั่นของธุรกิจเอกชน เกี่ยวกับเศรษฐกิจปีหน้าทรุดลงมาก ล่าสุดจากการสำรวจของบริษัท Grant Thornton Thailand ที่แถลงข่าวเดือนที่แล้ว ชี้ว่านักธุรกิจไทยในไตรมาสสามปีนี้มองเศรษฐกิจปีหน้าในแง่ลบ คือ Pessimistic มากกว่าที่จะมองในแง่บวกหรือ Optimistic เทียบกับในไตรมาสสองปีนี้ที่ส่วนใหญ่มองในแง่บวก

สาม ความไม่แน่นอนของสถานการณ์การเมือง ได้กระทบความเชื่อมั่นและการใช้จ่ายของประชาชน รวมถึงการลงทุนจากต่างประเทศ ถ้าสถานการณ์ยังเปราะบางและอ่อนไหว ก็คงกระทบเศรษฐกิจมากขึ้น

สี่ นโยบายการเงินสหรัฐ โดยเฉพาะการเริ่มลดทอนมาตรการ QE ของธนาคารกลางสหรัฐ ซึ่งเป็นข่าวมาตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ทำให้ตลาดการเงินต้องปรับตัวมากจากที่มีเงินทุนไหลออกจนถึงเดือนกันยายน ที่ตลาดการเงินเริ่มกลับมามีเสถียรภาพ จากสัญญาณที่การลดทอนมาตรการ QE อาจยังไม่เริ่ม แต่ขณะนี้ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐดูดีขึ้น การชี้นำด้านนโยบายจึงโน้มไปในทิศทางว่ามาตรการลดทอนอาจจะเริ่มได้ปีหน้า ทำให้ความผันผวนจากเงินทุนไหลออก คงกลับมากระทบตลาดการเงินไทยอีก

ห้า กนง. ตัดสินใจลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงร้อยละ 0.25 เมื่อปลายเดือนที่แล้ว โดยให้เหตุผลว่าเศรษฐกิจชะลอลงเร็ว และความเชื่อมั่นเปราะบางจากสถานการณ์ทางการเมือง

จากข่าวทั้งหมดชัดเจนว่าเศรษฐกิจไทยกำลังชะลอตัวลงแรงและเร็ว สะท้อนการชะลอตัวในทุกองค์ประกอบของการใช้จ่ายในประเทศ และการส่งออกที่ไม่ขยายตัวจากปีก่อน ซึ่งทั้งหมดเป็นผลจากแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐที่เปลี่ยนเงินทุนไหลเข้าเป็นไหลออก จากความไม่แน่นอนของปัจจัยภายในประเทศคือ สถานการณ์การเมือง และความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจและผู้บริโภคที่ลดลง ขณะที่ภาวะด้านต่างประเทศก็ไม่เอื้ออำนวย จากการไหลกลับของเงินทุนต่างประเทศที่กระทบสภาพคล่องในประเทศส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยระยะยาวปรับสูงขึ้น ขณะเดียวกัน การชะลอตัวของเศรษฐกิจก็เริ่มกระทบประเด็นด้านเสถียรภาพ เห็นได้จากดุลบัญชีเดินสะพัดที่มีการขาดดุลมากขึ้น ปัญหาคุณภาพสินทรัพย์ของสถาบันการเงิน และความสามารถในการชำระหนี้ของภาคครัวเรือนจากเศรษฐกิจที่ชะลอ

สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นท่ามกลางความไม่ชัดเจนว่านโยบายเศรษฐกิจของเราจะเดินอย่างไร โดยเฉพาะต่อการชะลอตัวของเศรษฐกิจที่กำลังเกิดขึ้นและภาคธุรกิจควรเตรียมตัวหรือปรับตัวอย่างไรกับภาวะที่กำลังเกิดขึ้นขณะนี้และปีหน้า

ถ้าเราดูบทวิเคราะห์เศรษฐกิจปีหน้าที่ออกมา แนวคิดส่วนใหญ่ก็คือ เศรษฐกิจจะขยายตัวได้ดีขึ้นในปีหน้า จากเศรษฐกิจโลกที่ดีขึ้นที่จะขับเคลื่อนการส่งออกและภาครัฐที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจโดยการลงทุน ซึ่งจะดึงให้การลงทุนของภาคเอกชนขยายตัวตาม

แต่ผมเองมองเศรษฐกิจไม่ดีเท่านักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ เพราะยังมองไม่เห็นว่า ในเครื่องยนต์ที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สี่ เครื่องยนต์ คือ การบริโภคของเอกชน การลงทุนของภาคเอกชน การลงทุนของภาครัฐ และการส่งออก เครื่องยนต์ตัวไหนจะเป็นตัวนำหรือเป็นกลไกให้เศรษฐกิจ สามารถ turn around หรือกลับมาฟื้นตัวได้ในปีหน้า ทุกเครื่องยนต์ ดูจะมีข้อจำกัดไปหมด แม้ กนง.จะปรับดอกเบี้ยลง ในขณะเดียวกันก็มองว่า ปีหน้าเป็นปีที่เราต้องระวังมากๆ เพราะถ้าการลดทอนนโยบายการเงินของสหรัฐเกิดขึ้นจริง ผลต่อเศรษฐกิจโลกจะมีมากและจะเป็นข้อจำกัดเพิ่มเติมต่อเศรษฐกิจไทย

ดังนั้น สิ่งที่ต้องระวังมากๆ สำหรับเศรษฐกิจปีหน้ามีสองเรื่อง หนึ่ง แรงกดดันต่อปัญหาเสถียรภาพเศรษฐกิจในปีหน้าจากสภาพคล่องในตลาดการเงินโลกที่จะลดลงจากมาตรการ QE ทำให้เกิดเงินทุนไหลออก ค่าเงินบาทจะอ่อน ส่งผลกระทบต่อสภาพคล่องในประเทศในภาวะที่เศรษฐกิจไทยยังชะลอตัว ซึ่งการชะลอตัวจะกระทบความสามารถในการชำระหนี้ของภาคเอกชน กดดันทั้งการขยายตัวของเศรษฐกิจและเสถียรภาพเศรษฐกิจในปีหน้า สอง ความไม่แน่นอนของสถานการณ์การเมืองในประเทศ ซึ่งไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น ผลต่อเศรษฐกิจคงมีมาก ซึ่งจะเป็นแรงกดดันเพิ่มเติมทั้งต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจ

ดังนั้น ปีหน้า จะเป็นปีที่การบริหารเศรษฐกิจจะยากและต้องระวังมากๆ และสิ่งที่นโยบายต้องให้ความสำคัญที่สุด ก็คือการรักษาเสถียรภาพในภาวะที่เศรษฐกิจโลกจะผันผวนมากจากการลดทอนมาตรการ QE ขณะที่เศรษฐกิจของเราก็จะมีข้อจำกัดมากในการขยายตัว ทั้งจากภาวะปัจจุบันที่เศรษฐกิจกำลังชะลอ ความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจ และผู้บริโภคที่ลดลง ความไม่ชัดเจนว่านโยบายจะเอาอย่างไร และสถานการณ์การเมืองที่มีความเปราะบางและความไม่แน่นอนสูง

นี้คือประเด็นหลักๆ ที่ได้แสดงความเห็นไปเมื่อสิ้นเดือนที่แล้ว
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่