"ถีบหาเรื่อง" ตอน ล้อแห่งธรรมจักรยาตรา

"โลกแห่งวัตถุนิยม หลวงพ่อ หลวงปู่ ที่นั่งเบนซ์ หรือรถเก๋งป้ายแดงต่างๆ ชาวบ้านต่างยกมือสาธุ
ว่าท่านมีบารมีหลาย ถึงได้นั่งรถแพงๆ พระสูบบุหรี่ พระเล่นหวย พระหมอผี ชาวบ้านต่างยอมรับได้"

----------------------------------
หลวงพ่อสมบูรณ์ สุมังคโล
พระขี่จักรยานสอนธรรมะแห่งบ้านสายตรี 3
ต.ปราสาท อ.บ้านกรวด จ.บุรีรัมย์

               

                                                 อาตมายอมร้อนเพื่อให้โลกเย็น หลวงพ่อสมบูรณ์ สุมังคโล

               ในสภาวะสังคมที่ใกล้ขีดสุดของการยื้อแย่งพื้นที่ธรรมชาติ มนุษย์ต่างทำทุกวิถีทางและเพื่อการอยู่รอดของตัวเอง เรียกว่าแทบจะต้องซื้อทุกอย่างด้วยเงิน ใครมีอำนาจ ใครมีเงิน ย่อมมีสิทธิ์เหนือกว่าผู้อื่น ไม่เว้นแม้แต่วงการพระสงฆ์ไทย ข่าวคราวด้านเสียๆของพระบางรูป มักจะมาจากความหลงในทรัพย์ที่ไม่ยั่งยืน และคิดว่าเมื่อมีเงินก็สามารถทำได้ทุกอย่าง โลกทุกวันนี้หากมีเงินแล้วไม่สร้างคุณงามความดี ไม่นานความหายนะก็จะตามมา
ในมุมหนึ่งของบ้านสายตรี 3 ต.ปราสาท อ.บ้านกรวด จ.บุรีรัมย์ ยังมีพระอยู่รูปหนึ่ง ที่ประกาศตัวชัดเจนว่า”อาตมายอมร้อน เพื่อให้โลกเย็น”ที่มาของวลีนี้เป็นมาอย่างไรนั้น ผู้เขียนขอเล่าย้อนไปสัก 8-9 ปีที่แล้ว ครั้งที่รัฐบาลและกระทรวงศึกษาธิการในสมัยนั้นมีการรณรงค์ให้มีครูพระสอนศีลธรรมตามโรงเรียนต่างๆ หลวงพ่อสมบูรณ์ สุมังคโล เจ้าอาวาสวัดป่าลานหินตัด ท่านคือครูพระที่ต้องตระเวนสอนศีลธรรมตามโรงเรียนต่างๆ ในพื้นที่อำเภอบ้านกรวด

             

             การเดินทางไปสอนศีลธรรมตามโรงเรียนต่างๆในตอนแรกๆก็จะมีครูหรือชาวบ้าน อาสามารับและส่งหลวงพ่อ เมื่อเวลาผ่านไปเวลาระหว่างคนรับคนส่งและพระผู้สอน เริ่มไม่ตรงกัน เพราะจำนวนโรงเรียนที่สอนเพิ่มมากขึ้น บางวันสอนเสร็จหลวงพ่อต้องนั่งรอหลายชั่วโมง เป็นเช่นนี้เรื่อยๆทำให้หลวงพ่อเกรงใจทั้งครูและชาวบ้านที่คอยมารับมาส่ง จึงเดินไปและเดินกลับเองบ้างในเวลาที่สอนเสร็จ ระยะทางที่เดินก็ไม่น้อยเลยทีเดียว 5 กิโลเมตรบ้าง 7 กิโลเมตรบ้าง เรียกว่าวันหนึ่งๆที่ไปสอนต้องเดินเป็น 10 กิโลเมตรกันเลย ทำให้หลวงพ่อเกิดอาการเหนื่อยล้าจนไม่อยากไปสอนเลยทีเดียว

             

              วันหนึ่งเมื่อสอนเสร็จขณะเดินกลับวัดด้วยความเหนื่อยอ่อน ระหว่างทางจากโรงเรียนสายตรี 2 มายังวัด หลวงพ่อก็ได้พบกับแม่เฒ่าท่านหนึ่งดูจากหน้าตาความเหี่ยวย่นแล้วอายุน่าจะเกิน 70 ปี คุณยาย ท่านนั้นกำลังปั่นจักรยานสวนมาข้างหน้าหลวงพ่อ โดยจักรยานของคุณยายท่านนั้นทั้งห้อยทั้งแขวนสัมภาระที่แฮนด์ ตะแกรงท้ายก็บรรทุกหญ้าคามาเต็มอัตรา ทั้งที่เป็นจักรยานแม่บ้านเก่าๆและไม่มีเบรก หลังทักทายกันก่อนจะสวนผ่านกันไป หลวงพ่อก็ปิ้งไอเดียการหาทางออกในการเดินทางไปสอนเด็กๆโดยไม่ต้องรบกวนเวลาทำงานของครูหรือชาวบ้าน ทั้งเป็นการพึ่งพาตนเองอย่างประหยัด

          

          

           เมื่อเดินกลับมาถึงวัด ก็ได้มานั่งคิดใคร่ครวญและปรึกษาชาวบ้าน มีการเรียกประชุมขอความเห็นจากชาวบ้าน ซึ่งชาวบ้านในขณะนั้นต่างไม่เห็นด้วยกับแนวทางพึ่งพาตนเองของหลวงพ่อด้วยวิธีนี้ ซ้ำยังพูดถากถางท่านด้วยว่า ท่านเป็นคนคิดอะไรหลุดโลก แต่หลวงพ่อเองก็มีความรั้นในตัวเองเพราะไม่อยากรบกวนใครเลยจริงๆจึงเสนอว่า เอาอย่างนี้นะโยมอาตมาจะลองปั่นดูก่อน หากมีคนติเตียนว่าไม่สมควร อาตมาจะเลิกปั่นทันที่ แรกๆชาวบ้านที่คัดค้านถึงกับเลิกเข้าวัดเลยก็มี แต่ด้วยความดีที่หลวงพ่อได้ทำ มีการสอนให้เด็กๆหันมาใช้จักรยานเพื่อความประหยัด สร้างกองทุนเล็กๆโดยให้เด็กๆออมเงินเพื่อซื้อจักรยานเอง โดยออกอุบายว่า หากใครหยอดจักรยานเต็มกระปุกจะได้จักรยานหนึ่งคัน ซึ่งจริงๆราคาจักรยานแพงกว่าเงินที่เต็มกระปุกหลายเท่า มีการเปิดห้องเรียนธรรมชาติ พาเด็กๆเรียนรู้ป่า เรียนรู้ชุมชน ใกล้เคียง โดยการปั่นจักรยานไป จากวันนั้นถึงวันนี้ก็นับเวลาร่วม 9 ปี ชาวบ้านและประชาชนทั่วไป ต่างยอมรับและเข้าใจในการพึ่งตนเองของหลวงพ่อ ทั้งยังหันมาใช้จักรยานปั่นมาวัดแทนการใช้มอเตอร์ไซด์เป็นจำนวนมาก หลายคนมาร่วมปั่นจักรยานเรียนรู้ห้องเรียนธรรมชาติร่วมกับเด็กๆ

ต่อไปนี้คือบทสนทนาบางตอนที่ผม(ผู้เขียน)ได้สัมภาษณ์หลวงพ่อสมบูรณ์

ถีบหาเรื่อง : เหตุผลหลักๆในการใช้จักรยานปั่นไปสอนธรรมะคืออะไรครับหลวงพ่อ?
หลวงพ่อ : แรกๆก็ไม่ต้องการรบกวนเวลาทำงานของญาติโยมในการเดินทาง พอมาปั่นจักรยานสักระยะ ก็รู้ว่าช่วยประหยัด ช่วยให้ร่างกายแข็งแรง ไม่ต้องพึ่งพายาหมอ แถมผลพวงก็ยังได้ช่วยโลกด้วย ก็เลยใช้จักรยานในการปั่นไปสอนเด็กๆตามโรงเรียนต่างๆมาตลอด

ถีบหาเรื่อง     : แล้วเรื่องวินัยสงฆ์ล่ะครับผิดมั๊ย?
หลวงพ่อ : อาตมาก็พยายามไปสืบค้นข้อวินัย ก็ไม่พบว่าข้อไหนที่เข้าข่ายว่าการปั่นจักรยานของพระจะผิดวินัย อันนี้ยืนยันเลยเลยว่า คำสอนของพระพุทธเจ้าท่านสอนให้พึ่งพาตนเอง ไม่เป็นภาระ ไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น ส่วนการติฉินนินทาของคนที่ไม่รู้ไม่เข้าใจในสิ่งที่อาตมาทำ ถือเป็นเรื่องธรรมดา อาตมานอนอยู่วัดเฉยๆก็โดนนินทาหากเค้าจะนินทา หากการขี่จักรยานของอาตมาผิด พระขี่มอเตอร์ไซด์ พระขับรถยนต์ พระเล่นหวย จะยิ่งไม่ผิดกว่าหรือเมื่อพูดถึงความสมถะ

หลวงพ่อ : อยากให้ญาติโยมเข้าใจกันใหม่ว่า อย่าเอาแต่ทำงานหาเงินให้ได้มากๆโดยหวังเอาเงินมาจ่ายค่าหมอยามเจ็บไข้ได้ป่วยหรือเอาเงินไปซื้อบุญ เช่นถวายพระจนเกินความจำเป็นของพระ เหมือนดังที่เป็นข่าวไม่ขาดสาย วันนี้ทุกคนสามารถเริ่มได้โดยการใช้จักรยานในการเดินทางระยะสั้น หรือออกกำลังกาย แล้วโยมจะได้ไม่ต้องใช้เงินที่หามาได้ทั้งชีวิตรักษาตัวเองหรือซื้อบุญ ซึ่งผลโดยอ้อมๆคือช่วยให้โลกเราเย็นลง

               

                   แล้วเพื่อนๆล่ะครับเมื่อฟังเรื่องของหลวงพ่อแล้ว อยากจะหาซื้อจักรยานมาไว้ใช้กันสักคันมั๊ย สิ่งที่ผมได้รับและเรียนรู้ในหลายครั้งที่ไปเยี่ยมหลวงพ่อที่วัดป่าลานหินตัดคือ ความเลื่อมใสศรัทธาในการปฏิบัติดีปฏิบัติชอบของหลวงพ่อ ซึ่งถึงจะเหน็ดเหนื่อยกับการปั่นจักรยานสอนเด็กๆมาทั้งวัน แต่กิจของสงฆ์และวัตรปฏิบัติ หลวงพ่อไม่เคยบกพร่องเลย มีการสอนวิปัสสนา”ธรรมะเปิดโลก”ให้ผู้มาเยือนเสมอ หากเพื่อนๆอยากรู้ว่า”ธรรมะเปิดโลก”คืออะไร ลองหาเวลาสักวันสองวันแวะไปที่วัดหลวงพ่อดูสิครับ

               

                     เพื่อนๆลองเลือกดูนะครับ ระหว่างวัดที่แปลงศรัทธาเป็นทรัพย์สินเงินทอง กับวัดที่ดูไม่พัฒนาด้านวัตถุ ต้นไม้รกครึ้ม แต่แปลงความศรัทธาของชาวบ้าน เป็นความรู้ความยั่งยืนให้เด็กๆและชาวบ้าน เราจะเลือกวัดแบบไหน ก่อนไปสามารถโทรสอบถามหลวงพ่อได้ที่เบอร์ 085 668-3710 หรือจะจัดกลุ่มไปปั่นเรียนรู้ชุมชน หลวงพ่อก็พร้อมจะให้ความรู้และพาไปได้ครับ  



                                          ติดตามชมคลิ๊บวีดิโอสัมภาษณ์หลวงพ่อได้จากคลิ๊บด้านล่างนะครับ

                           คลิกเพื่อดูคลิปวิดีโอ
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่