อำนาจ เถื่อน

การที่ศาลตีความ ม.68 แล้วอ้างว่าตัวเองมีอำนาจวินิจฉัยยับยั้งการแก้ไขรัฐธรรมนูญจึงเป็น "อำนาจเถื่อน" ที่ได้จากการตีความขยายอำนาจตัวเอง


================================================================================


ใบตองแห้ง ประชาไท

สื่อที่มีหลักต้องยึดระบอบมากกว่าใช้ทัศนะเลือกข้าง อคติ สุคติ ดี-เลว มองปัญหาโครงสร้างอำนาจ กรณีนี้ไม่ใช่ผู้แทนนอกรีตแต่เป็น "ศาลใช้อำนาจเถื่อน"

การแบ่งแยกอำนาจ 3 ฝ่ายตามหลักนิติรัฐ ไม่ได้แปลว่าศาลมีอำนาจศักดิ์สิทธิ์ชี้ขาดได้ทุกเรื่อง ศาลต้องพิพากษาตามกฎหมาย มีอำนาจตามที่กฎหมายให้ไว้ โดยอำนาจนิติบัญญัติเป็นผู้ออกกฎหมาย

ศาลรัฐธรรมนูญก็มีอำนาจตามที่รัฐธรรมนูญให้ไว้ รัฐธรรมนูญไม่ได้ให้อำนาจศาลมาวินิจฉัยการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ไม่ได้ให้ศาลมีอำนาจยับยั้งการแก้รัฐธรรมนูญ แต่ให้อำนาจนิติบัญญัติเป็นผู้แก้ไข

การที่ศาลตีความ ม.68 แล้วอ้างว่าตัวเองมีอำนาจวินิจฉัยยับยั้งการแก้ไขรัฐธรรมนูญจึงเป็น "อำนาจเถื่อน" ที่ได้จากการตีความขยายอำนาจตัวเอง

นี่เป็นคนละกรณีกับที่ศาลวินิจฉัยร่าง พ.ร.บ.ตามอำนาจที่รัฐธรรมนูญให้ไว้ ยกตัวอย่าง ถ้าวินิจฉัยร่าง พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้าน ว่าขัดรัฐธรรมนูญ เราต้องยอมรับว่าศาลมีอำนาจ แต่เราสามารถโต้แย้งได้ว่าศาลวินิจฉัยผิด เราวิจารณ์ได้ว่าศาลมั่ว กระนั้น ร่าง พ.ร.บ.ก็ต้องตกไป โดยพูดได้ว่าเป็นปัญหาของ รธน.2550 ที่มาของศาลมาจาก "อำมาตย์"

แต่กรณีที่ศาลอ้าง ม.68 นี่ยิ่งเลวร้ายกว่าอีก เพราะกระทั่ง รธน.2550 ก็ไม่ได้ให้อำนาจไว้ ศาลตีความเอาเอง

ฉะนั้นไม่ว่าศาลจะตัดสินอย่างไร ผ่าน-ไม่ผ่าน ถอดถอน-ไม่ถอดถอน อำนาจนี้ก็ได้มาโดยมิชอบ ตั้งแต่การตีความเมื่อปีที่แล้ว
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่