องค์กรอิสระคือกลไก ถ่วงดุลอำนาจการเมือง!...... by กาแฟดำ

กระทู้สนทนา
ระบอบประชาธิปไตย ที่ได้มาตรฐานและตอบสนองความต้องการของประชาชนได้ จะต้องมีกลไกการตรวจสอบ

และถ่วงดุลอำนาจของทุกฝ่ายในสังคมอย่างชัดเจนและโปร่งใส

ดังนั้น ความเคลื่อนไหวใดๆ ที่จะทำลาย ล้มล้างหรือลดความน่าเชื่อถือของ “องค์กรอิสระ” ย่อมแปลความได้ว่า

1.ผู้เคลื่อนไหวไม่ต้องการให้องค์กรอิสระทำหน้าที่อย่างถูกต้อง

2.ผู้ขับเคลื่อนกลัวว่าการทำงานขององค์กรอิสระ จะมีผลกระทบต่อผลประโยชน์ของตน

3.ผู้จ้องทำลายไม่สามารถสั่งการ หรือครอบงำ หรือซื้อคนในองค์กรอิสระนั้นได้

ศาลรัฐธรรมนูญ ก็ดี คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ก็ดี หรือ ศาลอาญาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ก็ดี แล้วแต่เป็น “องค์กรอิสระ” ที่ตราขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่อย่างอิสระ ไม่อยู่ใต้อิทธิพลของนักการเมืองหรือกลุ่มผลประโยชน์ใด

กลไกตรวจสอบและถ่วงดุลเช่นนี้ มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการทำให้ประชาชนมีความมั่นใจ ว่า ไม่มีคนกลุ่มหนึ่งกลุ่มใดมีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดในกระบวนการทางการเมือง และหากกลุ่มใดใช้อำนาจของตนเกินความพอดี ทำให้เกิดความเสียหายต่อชาติบ้านเมือง องค์กรอิสระเหล่านี้ก็สามารถทำหน้าที่สกัดกั้นหรือลงโทษผู้กระทำการเช่นนั้นอย่างยุติธรรมและโปร่งใสชัดเจน

มาตรการเช่นนี้ ยังเป็นการสร้างแรงถ่วงดุลกับ “เสียงข้างมาก” ในสภา ที่อาจจะถูก “พวกมากลากไป” หรือใช้ความได้เปรียบทางการเมืองนั้นออกกฎหมายที่เอื้อประโยชน์ให้กับตนเอง โดยไม่คำนึงถึงความถูกต้องชอบธรรมของแผ่นดิน หรือไม่สนใจไยดีกับเสียงคัดค้านของเสียงข้างน้อย ซึ่งมีความสำคัญไม่น้อยในระบอบประชาธิปไตย ที่จะต้องมีคุณธรรมเหนือผลประโยชน์

ดังนั้น การข่มขู่ หรือกดดัน หรือวิ่งเต้น กับคนในองค์กรอิสระ ย่อมเป็นสิ่งที่ผิดกติกา แสดงว่าผู้กระทำการเช่นนั้นมีความหวั่นเกรง “ความเป็นอิสระ” ของผู้ที่ได้รับการคัดเลือกตามครรลองที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ

เป็นหน้าที่ของคนไทยทุกคน ที่ต้องการเห็นการถ่วงดุลที่ถูกต้องในสังคมบ้านเรา ที่จะต้องปกป้องความศักดิ์สิทธิ์ขององค์กรอิสระเหล่านี้อย่างเต็มที่

และใครก็ตามที่ออกมาข่มขู่ด้วยวาจาหรือด้วยการกระทำ เพื่อไม่ให้องค์กรอิสระทำหน้าที่ของตนอย่างมืออาชีพ และตามความคาดหวังของสาธารณชน ย่อมต้องถูกประณาม เพราะนั่นเท่ากับเป็นการบ่อนทำลายกติกาพื้นฐาน

ไม่มีประเทศใดที่พัฒนาแล้วทางด้านประชาธิปไตย ที่ไม่มีระบบการถ่วงดุล และตรวจสอบซึ่งกันและกันของสามอำนาจ คือ อำนาจบริหาร นิติบัญญัติ และ ตุลาการ

เพราะหากว่ายอมให้อำนาจใดอำนาจหนึ่งสามารถสั่งการอำนาจอื่นอีกสองอำนาจได้ นั่นย่อมหมายถึงความล่มสลายของระบบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

เราเห็นภาพนี้ชัดเจน เมื่อพรรคที่ชนะเสียงข้างมากจากการเลือกตั้ง สามารถผลักดันกฎหมายที่ตนต้องการ โดยไม่สนใจเสียงทัดทาน

เมื่อพรรคมีเสียงข้างมากในสภา มีนายกรัฐมนตรีที่อยู่ข้างเดียวกับตน เราจึงเห็นการสมรู้ร่วมคิดของฝ่ายบริหารกับฝ่ายนิติบัญญัติ ในการก่อให้เกิดเรื่องราวที่คนไทยไม่ยอมรับ จนกลายเป็นการประท้วงอย่างกว้างขวางและเข้มข้น

กรณีร่างกฎหมายอัปยศ “นิรโทษกรรมสุดซอย” เป็นตัวอย่างชัดเจน ของการที่พรรคการเมืองที่มีเสียงข้างมากร่วมกับรัฐบาลเดินหน้าออกกฎหมายที่ขัดต่อหลักการปกครอง และความสำนึกอันถูกต้องทางการเมือง

และเมื่อองค์กรอิสระ เช่น ศาลรัฐธรรมนูญ จะทำหน้าที่ตามกติกาในรัฐธรรมนูญ (พรุ่งนี้ เป็นอีกกรณีหนึ่ง) ก็ถูกกลุ่มคนในซีกของพรรคเสียงข้างมาก และรัฐบาลแสดงความเห็น และจุดยืนที่ฟังแล้วจะตีความเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้ นอกจากว่าต้องการจะให้ศาลรัฐธรรมนูญมีมติออกมาเพียงด้านที่พวกเขาต้องการ

และหากว่ามติของศาลรัฐธรรมนูญ ออกมาเป็นอย่างที่พวกเขาไม่ได้ประโยชน์ องค์กรอิสระจะถูกกล่าวหาในทางเสียๆ หายๆ อย่างที่เราได้ยินได้ฟังมาตลอดหลายปีที่ผ่านมา

ความพยายามจะออกกฎหมายเพื่อล้างบาปคนโกง ก็ดี การลงมติแก้ไขมาตรารัฐธรรมนูญต่างๆ ที่ให้ฝ่ายบริหารหลบเลี่ยงการตรวจสอบจากฝ่ายนิติบัญญัติหรือองค์กรอิสระ ก็ดี ล้วนแล้วแต่เป็นความจงใจของนักเลือกตั้ง ที่จะใช้อำนาจทางการเมืองเพื่อสร้างประโยชน์ให้กับตน

การอ้างคำว่า “ประชาธิปไตย” เพื่อทำลาย “อำนาจถ่วงดุลและตรวจสอบ” คือ อาชญากรรมทางการเมืองในคราบของผู้อ้างว่าต่อสู้เพื่อประชาชนทั้งสิ้น

โดยเฉพาะ...ถ้าการผลักดันให้เปลี่ยนกติกาทำลายกลไกองค์กรอิสระนั้น มีเป้าหมายเพื่อคนคนเดียว

สำหรับการเมืองไทย การมองทะลุถึงเป้าหมายชั่วร้ายเช่นนั้น ทำได้ไม่ยากเย็นอะไรเลย

ที่มา:http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/politics/opinion/suthichaiyoon/20131119/543999/องค์กรอิสระคือกลไก-ถ่วงดุลอำนาจการเมือง.html


ปล.พวกที่อ้างประชาธิปไตยบังหน้า...ควรอ่านซัก 3 รอบนะ...เอิ๊ก ๆ ๆ


แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่