ข้อคิดการเงินดี ๆ ... กู้บ้านต้องขยันโปะ และ Refinance...

กู้บ้านต้องขยันโปะและรีไฟแนนซ์


คนส่วนใหญ่มักกู้บ้านกับธนาคาร น้อยคนนักที่จะซื้อด้วยเงินสดต้องมีเงินเย็นเจี๊ยบจริงๆ การกู้บ้านจัดเป็นหนี้ที่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันก็คือตัวบ้านที่ทำเรื่องขอกู้นั่นเอง ทำให้ดอกเบี้ยเงินกู้ถูกกว่าการกู้เงินประเภทอื่นๆมาก ธนาคารมักคิดดอกเบี้ยต่ำกว่าเรทดอกเบี้ยลูกค้าชั้นดีซะอีก MLR - XX% แต่การกู้บ้านเป็นหนี้ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดสำหรับคนธรรมดาทั่วไปเมื่อเทียบกับ กู้รถยนต์ ผ่อนสินค้า จึงทำให้ดอกเบี้ยบ้านที่จ่ายจริงแทบจะเท่ากับมูลค่าบ้านที่ซื้อมา ตัวอย่างเช่น บ้านราคา 4 ล้านบาท ทำสัญญากู้บ้าน 30 ปี อัตราดอกเบี้ย MLR - 1% (MLR แต่ละธนาคารไม่เท่ากันและเปลี่ยนแปลงได้ตลอด ปัจจุบันแบงก์ใหญ่ประมาณ 7%) ต้องผ่อนเดือนละประมาณ 24,000 บาท ลองคิดเงินที่จ่ายไปทั้งหมดตลอด 30 ปีแบบง่ายๆดู 24,000 บาท x 30 ปี x 12 เดือน = 8.64 ล้านบาท นี่ละครับเหมือนซื้อบ้านทีเดียว 2 หลัง หลังแรกเราเป็นเจ้าของ อีกหลังจ่ายให้ธนาคาร

ผมแบ่งเงินเป็น 2 ส่วนสำหรับซื้อบ้านไว้อยู่เองและซื้อคอนโดไว้ลงทุน ในครั้งนี้ขออธิบายเฉพาะบ้านหลังที่ซื้อไว้อยู่เอง ผมเลือกซื้อบ้านที่มูลค่าต่ำกว่ากำลังที่ผมจ่ายไหวเพื่อจะได้เหลือเงินมาโปะให้หนี้หมดไว จากตัวอย่างข้างบนสมมุติผมสามารถกู้ซื้อบ้านได้ 8 ล้านบาท แต่เลือกซื้อบ้านเพียง 4 ล้านบาท ทำให้ผมมีกำลังมาโปะ 2 เท่าทุกเดือนได้สบายๆจ่ายเดือนละประมาณ 48,000 บาท และทำให้เป็นหนี้กับธนาคารสั้นลงไม่ถึง 30 ปี ดอกเบี้ยบ้านคิดเป็นรายวันยิ่งโปะเร็วเงินต้นก็ลดเร็วครับ

ผมเปรียบเทียบดอกเบี้ยเงินกู้ธนาคารหลายๆแห่ง โดยเลือกธนาคารที่ให้วงเงินกู้มากพอและดอกเบี้ยต่ำที่สุด เพราะดอกเบี้ยที่เราเห็นว่าต่างกันเพียงแค่ 1-2% ก็ต่างกันเยอะมากแล้วครับ ผมเน้นเปรียบเทียบเฉพาะอัตราดอกเบี้ยในช่วง 3 ปีแรก เพราะปกติเงื่อนไขสัญญาจะบังคับให้อยู่อย่างน้อย 3 ปี ห้ามหนีไปธนาคารอื่นมิฉะนั้นจะโดนค่าปรับเยอะเลย ทำให้หลังจากครบ 3 ปีแล้วเราก็สามารถรีไฟแนนซ์ไปธนาคารอื่นได้ที่ให้ดอกเบี้ยถูกกว่า (อย่างน้อยต้องถูกกว่าที่เดิม 2% เพราะการย้ายมีค่าใช้จ่าย เช่น ค่าจดจำนองใหม่) หากขยันโปะและรีไฟแนนซ์จะทำให้เราเป็นเจ้าของบ้านได้ภายในระยะเวลาประมาณ 10 ปีเท่านั้นครับ

อันนี้เป็นวิธีการเบื้องต้นที่จะทำให้เราเป็นเจ้าของบ้านที่แท้จริงได้ไวขึ้นจ่ายดอกเบี้ยน้อยลง ยังมีรายละเอียดอื่นๆอีกก่อนทำสัญญาก็ศึกษาดีๆก่อนเซ็นนะครับ มีผลผูกพันนาน และสำหรับมนุษย์เงินเดือนสามารถเอาดอกเบี้ยกู้บ้านไปลดหย่อนภาษีได้ไม่เกิน 100,000 บาทต่อปีครับ

แหล่งที่มา : Maibat ข้อคิดทางการเงิน Fanpage
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่