ศาลปกครองกลางไม่รับฟ้อง'กปท.'ร้องเพิกถอนประกาศ-ข้อกำหนดจำกัดพื้นที่ชุมนุม หลังพิจารณาแล้วไม่มีอำนาจรับฟ้องคดีไว้พิจารณา

การเมือง : ข่าวทั่วไป
วันจันทร์ที่ 18 พฤศจิกายน 2556

ศาลปค.ไม่รับฟ้อง'กปท.'ร้องถอนพ.ร.บ.มั่นคง

ศาลปกครองกลางไม่รับฟ้อง'กปท.'ร้องเพิกถอนประกาศ-ข้อกำหนดจำกัดพื้นที่ชุมนุม


               18 พ.ย.56 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นางสิริกาญจน์ พานพิทักษ์ ตุลาการหัวหน้าคณะศาลปกครองกลาง เจ้าของสำนวนและองค์คณะ มีคำสั่งไม่รับคำฟ้อง คดีหมายเลขดำ 2274/256 ที่นายพิเชฏฐ พัฒนโชติ กลุ่มกองทัพประชาชนโค่นล้มระบอบทักษิณ ( กปท.) ซึ่งชุมนุมบริเวณทำเนียบรัฐบาล ยื่นฟ้องคณะรัฐมนตรี ( ครม.) , น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม และพล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผบ.ตร. ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย ( ศอ.รส.) เป็นผู้ถูกฟ้องที่ 1-3 เรื่อง เป็นหน่วยงานทางปกครอง หรือเจ้าหน้าที่รัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย จากกรณีที่ออกประกาศเรื่องพื้นที่ปรากฏเหตุการณ์อันกระทบต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ลงวันที่ 18 ต.ค.56 และต่อมามีการออกประกาศ ผอ.ศอ.รส. ฉบับที่ 4-6/2556 เรื่องห้ามบุคคลเข้า หรือต้องออกจากพื้นที่อาคารหรือสถานที่กำหนด รวมทั้งห้ามใช้เส้นทางคมนาคม และห้ามนำอาวุธออกนอกเคหสถาน ซึ่งผู้ฟ้องเห็นว่า เป็นการออกประกาศทั้งที่ยังไม่ปรากฏเหตุกระทบความมั่นคงภายในราชอาณาจักร อีกทั้ง การออกข้อกำหนดจะต้องได้รับความเห็นชอบจาก ครม.ทั้งคณะ ไม่ใช่ครม.ชุดเล็ก และประกาศที่ออกยังเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบตามรัฐธรรมนูญ ฯ ด้วย จึงขอให้ศาลไต่สวนฉุกเฉิน และมีคำสั่งเพิกถอนการบังคับใช้ประกาศทั้งหมดดังกล่าว

               โดยศาลพิเคราะห์แล้ว เห็นว่า ตามพ.ร.บ.ความมั่นคง ฯ มาตรา 23 วรรคสอง บัญญัติว่า ให้นำคดีความทั้งหลายที่เกิดอันเนื่องมาจากการที่หน่วยงานทางปกครอง หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ ดำเนินการออกประกาศ ข้อกำหนด คำสั่ง หรือการกระทำตามหมวด 2 ภารกิจการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร อยู่ในอำนาจศาลยุติธรรม ดังนั้น การออกกฎ คำสั่ง การกระทำการทั้งหลายอันที่เกิดจากความในหมวด 2 ของพ.ร.บ.ดังกล่าว จึงไม่อยู่ในอำนาจศาลปกครอง

               เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า เฉพาะคำสั่งกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ที่ 545 / 2556 เรื่องให้ ศอ.รส.เป็นศูนย์อำนวยการตาม มาตรา 17 พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ และประกาศเรื่อง การให้พนักงานเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติหน้าที่ ตามพ.ร.บ.ความมั่นคงฯ เป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมายลงวันที่ 18 ต.ค. 56 ซึ่งออกโดยนายกรัฐมนตรีผู้ถูกฟ้องที่ 2 แม้เป็นคำสั่งทางปกครอง แต่กรณีดังกล่าวเป็นการออกคำสั่งตาม พ.ร.บ.ความมั่นคง ฯ มาตรา 23 ศาลปกครองจึงไม่มีอำนาจที่จะพิจารณาพิพากษาคำสั่งดังกล่าวว่าชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

               ส่วนประกาศและข้อกำหนดของนายกรัฐมนตรี ผู้ถูกฟ้องที่ 2 และผอ.ศอ.รส. ผู้ถูกฟ้องที่ 3 อีก 5 ฉบับ มีลักษณะเป็นกฎและกระบวนการออกต้องดำเนินการโดยความเห็นชอบของครม.ตามความมาตรา 18 พ.ร.บ.ความมั่นคง ฯ จึงเป็นกรณีของกฎที่ออกโดยความเห็นชอบของครม. ซึ่งเป็นคดีพิพาทตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 มาตรา 11(2) ที่กำหนดให้ศาลปกครองสูงสุดมีอำนาจพิจารณาพิพากษา ดังนั้น ศาลปกครองกลางจึงไม่มีอำนาจรับพิจารณาพิพากาษาประกาศและข้อกำหนดที่เกี่ยวข้องรวม 5 ฉบับดังกล่าว

               ส่วนที่ผู้ฟ้องอ้างว่า พล.ร.อ.บรรณวิทย์ เก่งเรียน กับพวกรวม 2 คน ได้นำคดีที่มีข้อพิพาทเดียวกับคดีนี้ ยื่นฟ้อง ครม.กับพวกรวม 3 คน เป็นจำเลยต่อศาลแพ่ง แต่ศาลแพ่ง มีคำสั่งไม่รับฟ้องเพราะเห็นว่าคำขอให้เพิกถอนประกาศและข้อกำหนดที่ออกตาม พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ เป็นคำขอที่ศาลไม่อาจบังคับได้นั้น ก็เป็นเรื่องที่พล.ร.อ.บรรณวิทย์ กับพวกต้องยื่นอุทธรณ์คดีต่อศาลยุติธรรมที่มีอำนาจพิจารณา ดังนั้น เมื่อศาลปกครองกลางไม่มีอำนาจรับฟ้องคดีไว้พิจารณาจึงให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ


http://www.komchadluek.net/detail/20131118/173047.html
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่