เปิดสถิติเด็กไทยจมน้ำเฉลี่ยวันละ 3 คน



ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
       เปิดสถิติเด็กไทยว่ายน้ำเป็นแค่ 2 ล้านคน แต่ว่ายเพื่อเอาชีวิตรอดได้แค่ 3.6 แสนคน พบเด็กชนบทจมน้ำตายมากกว่าในเมือง กรมควบคุมโรคชี้ต้องเรียนว่ายน้ำ เหตุช่วยมีทักษะเอาตัวรอดในน้ำมากกว่าถึง 20.7 เท่า ย้ำช่วยคนจมน้ำห้ามจับพาดบ่าแล้วกระโดดจะทำให้ตายไวขึ้น
       
       วันนี้ (18 ต.ค.) นพ.โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กล่าวว่า การจมน้ำเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับหนึ่งของเด็กไทยอายุต่ำกว่า 15 ปี โดยช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มีเด็กจมน้ำเสียชีวิตแล้ว 12,982 คน เฉลี่ยวันละ 3.6 คน ช่วงปิดเทอมภาคฤดูร้อนมีเด็กจมน้ำเสียชีวิตมากที่สุด รองลงมา คือ ช่วงปิดเทอม ต.ค.ทั้งนี้ จากการประเมินผลการว่ายน้ำเป็นของเด็กไทย อายุ 5-14 ปี ในปี 2556 พบว่า เด็กไทยช่วงอายุดังกล่าวซึ่งมีกว่า 8 ล้านคน ว่ายน้ำเป็นร้อยละ 23.7 หรือ 2 ล้านคน แต่สามารถว่ายน้ำเพื่อเอาชีวิตรอดได้เพียงร้อยละ 4.4 หรือ 367,704 คน นอกจากนี้ พบว่าเด็กที่เรียนหลักสูตรว่ายน้ำเพื่อเอาชีวิตรอด จะมีทักษะการเอาชีวิตรอดในน้ำมากกว่าเด็กที่ไม่ได้เรียน 20.7 เท่า มีความรู้เรื่องความปลอดภัยทางน้ำมากกว่า 7.4 เท่า มีทักษะช่วยเหลือคนตกน้ำ/จมน้ำมากกว่า 2.7 เท่า และแก้ปัญหาและการเอาชีวิตรอดในสถานการณ์ฉุกเฉินมากกว่า 2.8 เท่า
       
       “การว่ายน้ำเพื่อเอาชีวิตรอดเป็นมาตรการหนึ่งที่ช่วยป้องกันการจมน้ำได้ โดยเฉพาะกลุ่มวัยเรียน แม้การว่ายน้ำเป็นจะเพิ่มขึ้นแต่ยังอยู่ในสัดส่วนที่ต่ำมาก เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้ว อีกทั้งสัดส่วนการว่ายน้ำเพื่อเอาชีวิตรอดของเด็กวัยเรียนอยู่ในระดับที่ต่ำมาก ทั้งนี้ หน่วยงานไหนที่สนใจหนังสือหลักสูตรว่ายน้ำเพื่อเอาชีวิตรอดและคู่มือการสอนที่ต้องการนำไปขยายผลให้กับเด็กในพื้นที่สามารถขอได้ที่สำนักโรคไม่ติดต่อ” อธิบดี คร.กล่าว
       
       นพ.โสภณ กล่าวอีกว่า จากการศึกษาเชิงลึกพบว่า เด็กในชนบทเสี่ยงจมน้ำเสียชีวิตสูงมากกว่าเด็กในเมือง เพราะเด็กในเมืองส่วนใหญ่มักจมน้ำในสระว่ายน้ำมาตรฐาน ซึ่งมีอุปกรณ์ช่วยเหลือ และการช่วยเหลือที่เร็ว ประกอบกับผู้ปกครองจะไปด้วย ต่างจากเด็กชนบทมักจะไปเล่นน้ำกับเพื่อนในแหล่งน้ำตามธรรมชาติ ซึ่งระดับน้ำมีความแตกต่างกัน บางแห่งมีทั้งความลึกและชัน รวมทั้งไม่มีอุปกรณ์ช่วยเหลือ ซึ่งมักจะเสียชีวิตพร้อมกันตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป
       
       นพ.โสภณ กล่าวด้วยว่า ขณะนี้หลายพื้นที่เกิดปัญหาน้ำท่วม ปัญหาการจมน้ำจึงเป็นปัญหาที่น่าห่วง ซึ่งตั้งแต่เกิดน้ำท่วมช่วง ก.ย.จนถึงวันนี้ มีรายงานแล้วกว่า 60 ราย เกิดจากการพลัดตกน้ำ โดยพบในกลุ่มเด็กที่ชอบเล่นน้ำ โดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์กับอันตรายที่จะเกิดขึ้น ในกลุ่มผู้สูงอายุ เนื่องจากอยู่บ้านตามลำพัง ต้องช่วยเหลือตนเอง และกลุ่มวัยทำงาน คิดว่าตนเองว่ายน้ำเป็นและสู้กระแสน้ำได้ จึงมักออกไปหาปลาหรือขับขี่พาหนะผ่านบริเวณน้ำท่วม
       
       “ประชาชนพื้นที่น้ำท่วมต้องเพิ่มความระมัดระวัง โดยเฉพาะกลุ่มเด็ก อย่าปล่อยให้ไปเล่นน้ำเองตามลำพัง หากจมน้ำให้นึกถึงมาตรการตะโกน โยน ยื่น เมื่อช่วยเหลือคนจมน้ำขึ้นมาแล้ว ห้ามจับอุ้มพาดบ่าแล้วกระโดดวิ่งไปมาเพื่อให้น้ำออก เพราะเป็นวิธีที่ผิด น้ำที่ออกมาจะมาจากกระเพาะไม่ใช่ปอด จะทำให้คนจมน้ำขาดอากาศหายใจนานขึ้นและเสียชีวิต วิธีที่ถูกต้องคือขอความช่วยเหลือ จากนั้นวางคนจมน้ำนอนราบ ตะแคงหน้าเอาน้ำออกจากปากและช่วยให้หายใจได้เร็วที่สุดโดยการผายปอด และเป่าลมเข้าทางปาก ถ้าหัวใจหยุดเต้นให้นวดหัวใจ โดยกดบริเวณกลางหน้าอก ลึกประมาณ 1-1.5 นิ้ว จำนวน 100 ครั้งต่อนาที และรีบแจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขใกล้บ้าน หรือโทร.แจ้ง 1669” อธิบดี คร.กล่าว
       
       http://www.manager.co.th/qol/viewnews.aspx?NewsID=9560000130901
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่