ชี้ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม Q4 ติดลบต่อเนื่อง

กระทู้ข่าว
credit : thanonline.com
------

      สศอ.ชี้ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมไตรมาส 4 ยังไม่โงหัวติดลบต่อเนื่อง ประเมินทั้งปีไม่มีโอกาสกลับมาเป็นบวก แย่กว่าปีก่อนที่ขยายตัว 2.25 % เผยมองไม่เห็นปัจจัยบวกเกื้อหนุน

      ภาวะเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกากำลังซื้อชะลอตัว การบริโภคในประเทศไม่มีแรงกระตุ้น อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ อาหาร เครื่องนุ่งห่ม กระเทือน

      ดร.สมชาย หาญหิรัญ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม(สศอ.) เปิดเผยกับ"ฐานเศรษฐกิจ"ว่า จากการประเมินดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม(เอ็มพีไอ) ในช่วงไตรมาส 4 ของปีนี้ คาดว่าภาคการผลิตของอุตสาหกรรมที่สำคัญ เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เหล็กและเหล็กกล้า สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม และอุตสาหกรรมอาหาร อัตราการใช้กำลังผลิตจะยังหดตัวต่อเนื่องจากช่วงไตรมาส 3 ของปีนี้ ที่หดตัวลดลงติดลบอยู่ 3.6 % หรือมีอัตราการใช้กำลังผลิตอยู่ที่ 64 % โดยเอ็มพีไอได้ติดลบติดต่อกันมาเป็นเดือนที่ 6 นับจากเดือนเมษายน 2556 เป็นต้นมา และหากเฉลี่ยทั้งปีคาดว่าเอ็มพีไอจะอยู่ที่ระดับไม่เกิน 0 % และอาจจะติดลบได้ เมื่อเทียบกับเฉลี่ยของปีก่อนอยู่ที่ 2.25 % หรือมีอัตราการใช้กำลังผลิตอยู่ที่ 66.03%  

      ทั้งนี้ เนื่องจากยังไม่เห็นสัญญาณหรือปัจจัยใดที่จะเอื้อต่อการใช้กำลังการผลิตให้เพิ่มขึ้นได้ โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นตลาดใหญ่ในการส่งออกสินค้า ผู้บริโภคภายในประเทศยังไม่มีความมั่นใจต่อการแก้ปัญหาภาวะเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกา จากการเพิ่มเพดานหนี้ที่เป็นเพียงมาตรการชั่วคราวเท่านั้น ประกอบกับกำลังซื้อในประเทศของไทยเอง ยังไม่เห็นสัญญาณที่ดีออกมา หลังจากที่โครงการรถยนต์คันแรกได้ส่งมอบให้ลูกค้าแล้ว ที่เห็นในขณะนี้มีเพียงมาตรการกระตุ้นการเบิกจ่ายงบประมาณของส่วนราชการเท่านั้นที่จะช่วยภาพรวมของภาวะเศรษฐกิจได้บ้าง แต่สำหรับภาคอุตสาหกรรมยังไม่เห็นมีปัจจัยบวกออกมา

      "ในเดือนตุลาคมนี้ สศอ.จะทำการปรับตัวเลขการเติบโตหรือจีดีพีของภาคอุตสาหกรรมใหม่ จากเมื่อช่วงกลางปีที่ผ่านมาเคยประเมินว่าจีดีพีทั้งปีน่าจะเติบโตประมาณ 0.5-1 % จากที่ปีก่อนทั้งปีเติบโตประมาณ 2.5 % ซึ่งมองว่าตัวเลขจีดีพีของภาคอุตสาหกรรมของปีนี้น่าจะปรับตัวลดลงอีก สอดคล้องกับประมาณการตัวเลขจีดีพีของประเทศ จากหลายหน่วยงานมีการปรับตัวเลขลดลงด้วย"

      ดร.สมชาย กล่าวอีกว่า สำหรับอุตสาหกรรมรายสาขาที่ส่งผลให้ดัชนีผลผลิตหดตัวอย่างต่อเนื่องนั้น จะมาจากอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ที่เป็นผลมาจากกำลังการผลิตลดลงทั้งในกลุ่ม ไอซี และฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ ยังไม่กลับมาผลิตได้อย่างเต็มที่ เนื่องจากผู้ประกอบการอยู่ระหว่างการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีในการผลิต จากการเติบโตของสมาร์ทโฟนและแท็บเลต ขณะที่กลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าประเทศผู้นำเข้ารายใหญ่อย่างสหรัฐฯก็ชะลอลดการนำเข้าลง เห็นได้จากช่วงไตรมาส 3 ที่ผ่านมา การผลิตของอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ การผลิตหดตัวลง 1.12 % เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน อย่างไรก็ตาม มองว่าทั้งปี อัตราการขยายตัวของการผลิตในกลุ่มอุตสาหกรรมนี้น่าจะดีขึ้นจากปีก่อนโดยจะติดลบอยู่ที่ 2 % เมื่อเทียบกับปีก่อนติดลบ 14 % ขณะที่การส่งออกทั้งปีจะติดลบที่ 1 % เมื่อเทียบกับปีก่อนบวกอยู่ที่ 2.15 %

      นอกจากนี้ ในส่วนของอุตสาหกรรมยานยนต์ คาดว่าการผลิตในช่วงไตรมาส 4 การผลิตน่าจะชะลอตัวลงอีก ซึ่งเป็นผลต่อเนื่องจากอัตราการผลิตรถยนต์ในช่วงไตรมาส 3 ของปีนี้ กำลังผลิตติดลบ 8.67 % เมื่อเทียบจากไตรมาส 2 มีกำลังผลิตอยู่ที่ 6.048 แสนคัน

      ส่วนอุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า โดยเฉพาะการผลิตเหล็กทรงยาวและเหล็กแผ่นรีดร้อนนั้น ในช่วงไตรมาส 4 นี้ คาดว่าความต้องการบริโภคเหล็กในประเทศจะชะลอตัวลงจากช่วงไตรมาส 3 ซึ่งผลิตอยู่ที่ 1.65 ล้านตัน ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากช่วงปลายปีผู้ซื้อจะชะลอการสั่งซื้อและไม่เก็บสต๊อกไว้ และยังเป็นผลจากการชะลอตัวของภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศที่กระทบกับกำลังซื้อของภาคครัวเรือน

      ขณะที่อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม โดยในส่วนของการผลิตผ้าผืนช่วงไตรมาส 4 นี้ จะยังมีทิศทางลดลงต่อเนื่องจากไตรมาส 3 เนื่องจากการนำเข้าผ้าผืนราคาถูกจากจีน ส่งผลให้การผลิตผ้าผืนของไทยลดลง

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 33 ฉบับที่ 2,892
วันที่  31 ตุลาคม - 2 พฤศจิกายน  พ.ศ. 2556
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่