มาวิเคราะห์ พรบ.นิรโทษกรรม กันดีกว่า ว่าจริงๆ ใครจะได้นิรโทษกรรมบ้าง

เห็นตอนนี้มีการถกเถียง ทั้งเห็นด้วย ทั้งคัดค้าน พรบ.นิรโทษกรรม
ผมว่าเราเอา กฎหมายฉบับนี้ออกมาตี มาวิเคราะห์ให้ละเอียดกันตามตัวหนังสือไปเลย
ว่าจริงๆ ใครจะได้รับนิรโทษกรรมบ้าง

พวกเราควรใช้สติ และ วิจารณญานของตนเอง พิจารณาครับ อย่าพึ่งไปเชื่อคนอื่นว่า คนนั้นได้ คนนั้นไม่ได้

มาตรา 3.
"ให้บรรดาการกระทำใดๆ ทั้งหลายทั้งสิ้นของบุคคลหรือประชาชนที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมือง หรือการแสดงออกทางการเมือง หรือบุคคลซึ่งไม่ได้เข้าร่วมการชุมนุมทางการเมือง แต่กระทำการนั้นมีมูลเหตุที่เกี่ยวข้องหรือเกี่ยวเนื่องกับความขัดแย้งทางการเมือง โดยการกล่าวด้วยวาจาหรือโฆษณาด้วยวิธีการใดเพื่อเรียกร้องหรือให้มีการต่อต้านรัฐ การป้องกันตน การต่อสู้ขัดขืนการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือการชุมนุม การประท้วง หรือการแสดงออกด้วยวิธีการใดๆ อันอาจเป็นการกระทำต่อชีวิต ร่างกาย อนามัย ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดของบุคคลอื่น ซึ่งเป็นเหตุการณ์สืบเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง หรือการแสดงออกทางการเมือง ตั้งแต่หรือที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้กระทำผิดโดยคณะบุคคลหรือองค์กรที่จัดตั้งขึ้นภายหลังการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ.2549 รวมทั้งองค์กรหรือหน่วยงานที่ดำเนินการในเรื่องดังกล่าวสืบเนื่องต่อมาที่เกิดขึ้นระหว่าง พ.ศ.2547 ถึงวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ.2556 ไม่เป็นความผิดต่อไป และให้ผู้กระทำการนั้นพ้นจากการเป็นผู้กระทำไม่ว่าผู้กระทำจะได้กระทำในฐานะตัวการ ผู้สนับสนุน ผู้ใช้ให้กระทำ หรือผู้ถูกใช้ หากการกระทำนั้นผิดต่อกฎหมายก็ให้ผู้กระทำพ้นจากความผิดและความรับผิดโดยสิ้นเชิง"

ค่อยๆ แยกประโยคนะครับ
1. ประโยคประธาน
"ให้บรรดาการกระทำใดๆ ทั้งหลายทั้งสิ้นของบุคคลหรือประชาชนที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมือง หรือการแสดงออกทางการเมือง หรือบุคคลซึ่งไม่ได้เข้าร่วมการชุมนุมทางการเมือง แต่กระทำการนั้นมีมูลเหตุที่เกี่ยวข้องหรือเกี่ยวเนื่องกับความขัดแย้งทางการเมือง"
  แบ่งคนได้ 3 กลุ่ม เพราะใช้คำว่า หรือ
   1.1 บุคคลหรือประชาชนที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมือง
   1.2 บุคคลหรือประชาชนที่การแสดงออกทางการเมือง
   1.3 บุคคลที่ซึ่งไม่ได้เข้าร่วมการชุมนุมทางการเมือง แต่กระทำการนั้นมีมูลเหตุที่เกี่ยวข้องหรือเกี่ยวเนื่องกับความขัดแย้งทางการเมือง

ในกฎหมายนี้มีการใช้ คำว่าบุคคลหรือประชาชน  แสดงว่า บุคคล และ ประชาชน ไม่ใช่สิ่งเดียวกัน
ประชาชน ก็คือ คนทั่วๆ ไป  แล้ว บุคคล น่าจะหมายถึง อะไร ?  ผมคิดว่าคงหมายถึง นิติบุคคล
สรุปว่า ประโยคนี้ ต้องเป็นการกระทำที่เกี่ยวกับการเมือง ซึ่งจะกว้างมาก ต่อยกันเพราะความขัดแย้งทางการเมืองก็ได้
แต่ในประโยคต่อไปจะเป็นคำขยาย ที่เจาะจงการกระทำให้แคบลง คือไม่ได้นิรโทษทุกอย่าง

2. รายละเอียดการกระทำ
  "โดยการกล่าวด้วยวาจาหรือโฆษณาด้วยวิธีการใดเพื่อเรียกร้องหรือให้มีการต่อต้านรัฐ การป้องกันตน การต่อสู้ขัดขืนการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือการชุมนุม การประท้วง หรือการแสดงออกด้วยวิธีการใดๆ อันอาจเป็นการกระทำต่อชีวิต ร่างกาย อนามัย ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดของบุคคลอื่น ซึ่งเป็นเหตุการณ์สืบเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง หรือ การแสดงออกทางการเมือง"

  จะแบ่งประโยคย่อยได้แบบนี้
  2.1 โดยการกล่าวด้วยวาจาหรือโฆษณาด้วยวิธีการใดเพื่อ
          1. เรียกร้อง
          2. หรือ ให้มีการต่อต้านรัฐ การป้องกันตน การต่อสู้ขัดขืนการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ของรัฐ
          3. หรือ การชุมนุม การประท้วง
          4. หรือ การแสดงออกด้วยวิธีการใดๆ
  2.2 อันอาจเป็นการกระทำต่อชีวิต ร่างกาย อนามัย ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดของบุคคลอื่น
  2.3 ซึ่งเป็นเหตุการณ์สืบเนื่องจาก
          1. การชุมนุมทางการเมือง
          2. หรือ การแสดงออกทางการเมือง

จะเห็นว่าการกระทำที่จะได้รับนิรโทษกรรมมี 4 อย่าง ตามข้อ 2.1
และ ผลของการกระทำจะเป็น ตามข้อ 2.2
และ ต้องมีมูลเหตุของการกระทำ ตามข้อ 2.3

ถ้าวิเคราะห์ตรงนี้ แน่นอนว่า ประชาชนและแกนนำม้อบ ทุกคนได้รับนิรโทษกรรมหมด ซึ่งน่าจะรวมถึงโจรใต้ด้วย
แต่ จนท.ของรัฐ ผู้สั่งการ ศอฉ นายก น่าจะไม่รวมในนี้ เพราะ ไม่เข้าเงื่อนไขทั้ง ข้อ 2.1
ยกเว้นจะตีความว่า การสั่งปราบปรามประชาชนด้วยกระสุนจริง เป็น การแสดงออกด้วยวิธีการใดๆ ซึ่งเป็นเหตุการณ์สืบเนื่องจาก
การชุมนุมทางการเมือง หรือ การแสดงออกทางการเมือง

ส่วนตัวผมเห็นว่า การสั่งการของรัฐ ไม่เข้าข่ายว่าเป็น การแสดงออกใดๆ ทางการเมือง

3. "ตั้งแต่หรือ ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้กระทำผิด โดยคณะบุคคลหรือองค์กรที่จัดตั้งขึ้นภายหลังการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 รวมทั้งองค์กรหรือหน่วยงานที่ดำเนินการในเรื่องดังกล่าวสืบเนื่องต่อมา"
ผมงง ตรงคำว่า ตั้งแต่หรือ ไม่แน่ใจว่าหมายถึงอะไร  แต่สรุปว่าประโยคนี้ เป็นการเพิ่ม ผู้ที่ถูกกล่าวหาว่ามีความผิดโดยคณะรัฐประหาร โดยหน่วยงานได้แก่  คตส  โดยหลักๆ ก็คือ ทักษิณ แต่จริงๆ ก็คงรวมคนอื่นๆ ทั้งหมดที่ถูก คตส กล่าวหา
ปัญหาที่น่าสนใจในประโยคนี้ก็คือ  ปปช. ชุดปัจจุบัน ถือว่าเป็นองค์กรที่จัดตั้งขึ้นภายหลังการรัฐประหาร หรือไม่
ซึ่งตีความแล้วคงไม่ใช่  เพราะ ปปช. มีมาก่อน ถึงแม้ว่า คมช. จะเป็นผู้แต่งตั้ง ปปช ก็ตาม
ดังนั้น คดีไหนที่ เริ่มโดย คตส. ก็ให้ถือว่า โมฆะหมด  แต่ถ้าไม่ได้เริ่มกล่าวหาโดย คตส. ก็ไม่ถือว่าเป็น โมฆะ
เช่น เริ่มโดย DSI หรือ ปปช.  จะไม่ถือเป็นโมฆะ
     แต่จะเห็นว่า ประโยคนี้ ไม่ได้นิรโทษกรรม ที่ การกระทำ ต่างจากประโยคในข้อ 2. ที่ระบุการกระทำ
แต่นิรโทษกรรม เฉพาะที่ถูกกล่าวหาโดย คตส.  ดังนั้น ถ้ามีบุคคลอื่น หรือ หน่วยงานอื่นกล่าวหา ในข้อหาเดียวกัน
ก็เป็นไปได้ที่จะสามารถรื้อคดีมาสอบสวนใหม่  


ซึ่งจากการวิเคราะห์โดยละเอียด พรบ.นี้ คงต้องตีความกันอีกเยอะ
ถ้าผ่าน จนประกาศใช้ได้ แน่นอนครับว่า จะมีการต่อสู้ในขั้นการตีความกฎหมายกันอีกหลายยก
และสุดท้ายก็คงไปจบที่ ศาลรัฐธรรมนูญว่า จะตีความให้ใคร เข้าข่ายพ้นผิดบ้าง
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่