ครม.อนุมัติ สร้างรถไฟฟ้าสีเขียว หมอชิต-สะพานใหม่-คูคต

ครม.ปูไฟเขียวสร้างรถไฟฟ้าสายสีเขียว "หมอชิต-สะพานใหม่-คูคต" ระยะทาง 19 กิโลเมตร มูลค่ากว่า 5.8 หมื่นล้าน รฟม.แยก 5 สัญญา ปลายปีนี้ประกาศขายแบบงานโยธากว่า 2.9 หมื่นล้าน เผยราคาประเมินใหม่ดันค่าเวนคืนที่ดินพุ่ง 120% จาก 4 พันล้านกระฉูดเกิน 7 พันล้าน แจ็กพอตที่ดิน 262 แปลง สิ่งปลูกสร้าง 275 หลัง ได้ฤกษ์ตอกเข็มกลางปี"57 เปิดบริการกลางปี"61
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 15 ตุลาคม 2556 ได้อนุมัติโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ระยะทาง 19 กิโลเมตร เงินลงทุน 58,590 ล้านบาท ซึ่งใช้เงินลงทุนใน พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท หลังจากนี้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) จะดำเนินการเปิดประมูลก่อสร้างต่อไป โดยเป็นรูปแบบประมูลแบบนานาชาติ

แยกประมูล 5 สัญญา

นายยงสิทธิ์ โรจน์ศรีกุล ผู้ว่าการ รฟม. เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า รฟม.จำเป็นต้องเสนอให้ ครม.พิจารณาอนุมัติโครงการ เนื่องจากวงเงินค่าก่อสร้างเพิ่มขึ้นจากเดิมที่ประเมินไว้เมื่อปี 2551 เพื่อให้เป็นราคาปัจจุบัน สอดรับกับราคาประเมินที่ดินและวัสดุก่อสร้างที่ปรับสูงขึ้น รวมถึงได้ย้ายศูนย์ซ่อมบำรุงจากฐานทัพอากาศมาอยู่ที่ลำลูกกาคลอง 2 ทำให้วงเงินลงทุนทั้งโครงการเพิ่มขึ้นจากเดิมกว่า 40,000 ล้านบาท เพิ่มเป็น 58,590 ล้านบาท


ทั้งนี้ เมื่อมีมติ ครม.อนุมัติ เตรียมเสนอเรื่องให้คณะกรรมการ (บอร์ด) รฟม.อนุมัติในเร็ว ๆ นี้ เพื่อเปิดประกาศประมูลก่อสร้างงานโยธา จำนวน 4 สัญญา จากทั้งโครงการแบ่งเป็น 5 สัญญา ได้แก่ งานโยธา 2 สัญญา วงเงิน 29,225 ล้านบาท แบ่งเป็น 1.สัญญาช่วงหมอชิต-สะพานใหม่ (รวมรื้อสะพานข้ามแยก 3 แห่ง) ระยะทาง 11.4 กิโลเมตร วงเงินกว่า 12,000 ล้านบาท

กับ 2.สัญญาช่วงสะพานใหม่-คูคต ระยะทาง 7 กิโลเมตร วงเงิน 6,000-7,000 ล้านบาท, งานก่อสร้างศูนย์ซ่อมบำรุงและอาคารจอดแล้วจร จำนวน 1 สัญญา, งานระบบรางทางวิ่ง จำนวน 1 สัญญา และงาน


เดินรถไฟฟ้า 1 สัญญา

นายยงสิทธิ์กล่าวว่า โครงการนี้อยู่ใน พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท ประกอบด้วย ค่าจ้างที่ปรึกษา 1,703 ล้านบาท ค่าเวนคืนที่ดิน 7,606 ล้านบาท ค่าก่อสร้าง 29,225 ล้านบาท และค่างานระบบรถไฟฟ้า 20,055 ล้านบาทสิ้นปีประมูลโยธา 3 หมื่นล้าน

"ตามขั้นตอนถ้าบอร์ดเห็นชอบจะประกาศเชิญชวนประมูลก่อสร้าง ตามแผนงานคาดว่าจะเริ่มกระบวนการได้ปลายปี 2556 ยื่นซองและเซ็นสัญญาก่อสร้างกลางปี 2557 พร้อมเริ่มกระบวนการจัดหาระบบรถไฟฟ้า และเปิดบริการเดือนมิถุนายน 2561"

นายยงสิทธิ์กล่าวต่อว่า สำหรับแนวเส้นทางโครงการจะก่อสร้างเป็นโครงสร้างยกระดับตลอดเส้นทาง มีจุดเริ่มต้นจากจุดเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าบีทีเอสที่สถานีหมอชิต ไปตามแนวถนนพหลโยธิน ข้ามทางยกระดับดอนเมืองโทลล์เวย์บริเวณห้าแยกลาดพร้าว ผ่านแยกรัชโยธิน แยก ม.เกษตรศาสตร์ ไปจนถึงบริเวณซอยพหลโยธิน 55

จากนั้นแนวเส้นทางจะเบี่ยงออกไป เลียบกับแนวถนนฝั่งซ้ายจนถึงอนุสาวรีย์บริเวณวงเวียนหลักสี่ แล้วเบี่ยงกลับมาแนวเกาะกลางถนนพหลโยธิน ผ่านหน้าตลาดยิ่งเจริญ เมื่อถึงประมาณกิโลเมตรที่ 25 ของถนนพหลโยธิน จะเบี่ยงไปทางทิศตะวันออก หรือด้านเหนือของพื้นที่ประตูกรุงเทพฯ เข้าถนนลำลูกกา ผ่านด้านข้างสถานีตำรวจภูธรคูคต ไปสิ้นสุดที่บริเวณคลอง 2 ซึ่งเป็นสถานีปลายทาง

โดยจะมีศูนย์ซ่อมบำรุงเนื้อที่ประมาณ 130 ไร่ อาคารจอดแล้วจร 2 แห่ง บริเวณถนนพหลโยธินกิโลเมตรที่ 25 และคลอง 2 ซึ่งบริเวณศูนย์ซ่อมบำรุงนี้ ทาง รฟม.ร่วมกับการเคหะแห่งชาติ (กคช.) จะพัฒนาที่อยู่อาศัยแนวรถไฟฟ้า

สำหรับสถานีมี 16 สถานี ประกอบด้วย 1.สถานีห้าแยกลาดพร้าว 2.สถานีพหลโยธิน 24 3.สถานีรัชโยธิน 4.สถานีเสนานิคม 5.สถานีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ 6.สถานีกรมป่าไม้ 7.สถานีบางบัว 8.สถานีกรมทหารราบที่ 11 9.สถานีวัดพระศรีมหาธาตุ 10.สถานีอนุสาวรีย์หลักสี่ 11.สถานีสายหยุด 12.สถานีสะพานใหม่ 13.สถานีโรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช 14.สถานีพิพิธภัณฑ์กองทัพอากาศ 15.สถานี กม.25 และ 16.สถานีคูคต

[Spoil] คลิกเพื่อดูข้อความที่ซ่อนไว้
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่