40ปี สงครามอำนาจ"กองทัพไทย"ไม่สิ้นกลิ่นปฏิวัติ? / ปชป. ดักคอ อสส. หากสั่งคดี91ศพมิชอบ จะฟ้องกลับ ยกคดีBTSเทียบ




40ปี'กองทัพไทย'ไม่สิ้นกลิ่นปฏิวัติ?

40ปีสงครามอำนาจ'กองทัพไทย'ไม่สิ้นกลิ่นปฏิวัติ?
: ทีมข่าวความมั่นคงรายงาน

              ตลอดระยะเวลา 40 ปี มีการชำระประวัติศาสตร์ 14 ตุลาคม 2516 มาโดยตลอด ซึ่งแต่ละฝักฝ่ายต่างก็มีแนววิเคราะห์และบทสรุปแตกต่างกันออกไป

              นอกจากบทบาทของนักเรียนมัธยม นักเรียนอาชีวะ และนิสิตนักศึกษา ที่ได้มารวมพลังกับประชาชน จนกลายเป็นการเดินขบวนบนถนนราชดำเนินครั้งยิ่งใหญ่ที่สุด แต่อีกด้านหนึ่งที่เป็น "ปัจจัยสำคัญ" ในการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองคือ "กองทัพ"

              ศรี อินทปันตี อดีตผู้สื่อข่าวกรมประชาสัมพันธ์ และผู้สื่อข่าวการเมืองหลายสำนัก ภายหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เขาเป็นหนึ่งในทีมที่ปรึกษาของผู้บัญชาการทหารระดับสูงของกองทัพ

              หลัง 6 ตุลาคม 2519 ศรี อินทปันตี ได้เข้าร่วมการต่อสู้ในเขตป่าเขา และมีตำแหน่งเป็นโฆษกของ "คณะกรรมการประสานงานกำลังรักชาติรักประชาธิปไตย" (กป.ปช.) ซึ่งเป็นองค์กรแนวร่วมของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.)

              ย้อนอดีตไปเมื่อ 40 ปีที่แล้ว "ศรี" ผู้สื่อข่าวอาวุโส สรุปไว้สั้นๆ ว่า มันเป็นการต่อสู้เพื่อช่วงชิง "อำนาจสูงสุด" (Elite Power)

              "เหตุการณ์ 14 ตุลา 16 เป็นเรื่องของอำนาจเก่าที่เข้ามายึดคืนอำนาจจากกลุ่มอำนาจใหม่ นอกจากนั้นยังเป็นเรื่องของความเบื่อหน่ายต่อการปกครองในระบอบเผด็จการทหารมาตั้งแต่ปี 2490 และมีการเดินสายให้ความรู้แก่นักศึกษามหาวิทยาลัยในช่วงนั้น จนเกิดกระแสการเรียกร้องประชาธิปไตย จนกระทั่งเกิดการเปลี่ยนแปลงในที่สุด"

              ดั่งที่ทราบกัน นับแต่ปี 2500 ประเทศไทยตกอยู่ในอำนาจการปกครองของ "เผด็จการทหาร" กลุ่มใหม่ ภายใต้การนำของ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์

              หลังการอสัญกรรมของจอมพลสฤษดิ์ ปี 2506 ทายาททางอำนาจ 4 คน คือ จอมพลถนอม กิตติขจร, จอมพลประภาส จารุเสถียร, พล.อ.กฤษณ์ สีวะรา และ พล.ต.อ.ประเสริฐ รุจิรวงศ์ ได้หลอมรวมเป็น "ศูนย์อำนาจใหม่" ในยุคสงครามเย็น โดยจอมพลถนอม คุมฝ่ายบริหาร จอมพลประภาส-พล.อ.กฤษณ์ คุมกองทัพ และพล.ต.อ.ประเสริฐ คุมตำรวจ

              การอยู่ในอำนาจอันยาวนานของ "จอมพลถนอม-จอมพลประภาส" แถมมีท่าทีจะส่งต่อท่ออำนาจไปยังลูกชายคือ พ.อ.ณรงค์ กิตติขจร จึงทำให้เกิดรอยปริแยกในกองทัพ

              ประกอบ "พล.อ.กฤษณ์" เป็นรองผู้บัญชาการทหารบก มาตั้งแต่ปี 2509 เขาเป็นรองผู้บัญชาการทหารบกยาวนานถึง 7 ปี โดยจอมพลประภาสไม่ยอมลุกจากเก้าอี้ ทำนองเดียวกันจอมพลถนอม ก็อยู่ในตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุด แบบว่าต่ออายุแล้วต่ออายุอีก ทำให้นายทหารคนอื่นหมดโอกาสขยับ

              จอมพลถนอม-จอมพลประภาส ได้กลิ่นความขัดแย้ง จึงแต่งตั้งให้ พล.อ.กฤษณ์ เป็นผู้บัญชาการทหารบก ในฤดูกาลโยกย้าย 1 ตุลาคม 2516

              สำหรับ "จอมพลถนอม" ก็ยังเป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุด ควบคู่กับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยมี "จอมพลประภาส" ขยับขึ้นมาเป็นรองผู้บัญชาการทหารสูงสุด ควบตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย

              เพียง 14 วัน หลังจากการขึ้นดำรงตำแหน่ง "ผบ.ทบ." ของ พล.อ.กฤษณ์ ก็ได้เข้าควบคุมกองทัพไว้ทั้งหมด บวกกับสถานการณ์การนองเลือดจากการปะทะกัน ระหว่างนักเรียน-นักศึกษา กับทหาร ในวันที่ 14-15 ตุลาคม 2516 ส่งผลให้ "จอมพลถนอม-จอมพลประภาส" ต้องลี้ภัยไปอยู่ในต่างแดน

              หลัง 14 ตุลา ศูนย์อำนาจใหม่ก่อรูปขึ้น ประกอบด้วย พล.อ.กฤษณ์ สีวะรา ผู้บัญชาการทหารบก, พล.ต.อ.ประเสริฐ รุจิรวงศ์ อดีตอธิบดีกรมตำรวจ, พล.อ.อ.ทวี จุลละทรัพย์ อดีตผู้บัญชาการทหารอากาศ และ พล.ท.วิฑูรย์ ยะสวัสดิ์ หรือ "เทพ 333" ผู้บัญชาการทหารเสือพราน ซึ่งทหารรับจ้างเสือพรานนับหมื่นคนเพิ่งกลับมาจากสมรภูมิสงครามลับในลาว

              ห้วงเวลาปลายปี 2516 ถึงต้นปี 2519 "พล.อ.กฤษณ์" คือผู้นำหลังม่านตัวจริง เป็นเสาค้ำยัน "รัฐบาลสัญญา ธรรมศักดิ์" เป็นผู้วางแผนจัดตั้ง "รัฐบาล ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช" (ปี 2518) และเป็นผู้คุมเกมตั้ง "รัฐบาล ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช" (ปี 2519) ก่อนจะเสียชีวิตอย่างมีเงื่อนงำ

              ว่ากันว่า อำนาจใหม่ของ พล.อ.กฤษณ์ สถาปนาขึ้นมาจากโครงสร้างทางการเมืองแบบดั้งเดิม ซึ่งมีบทบาทสำคัญเหนือกองทัพมาแต่การรัฐประหาร 2500 ซึ่งได้กำจัด "ระบอบพิบูลสงคราม" ออกไป
        000
              น่าเสียดาย 40 ปี 14 ตุลา คีย์แมนคนสำคัญคือ พล.ท.วิฑูรย์ หรือ พล.ต.อ.วิฑูรย์ ยะสวัสดิ์ เพิ่งเสียชีวิตไปเมื่อเดือนตุลาคม ปีที่แล้ว จึงไม่มีใครมาเปิดเผย "ความลับ 14 ตุลา" ในมุมของผู้ทรงอำนาจหลังวันมหาวิปโยค

              ขณะที่ พ.อ.ณรงค์ กิตติขจร ทายาทจอมพลถนอม ได้มอบให้นักวิชาการอิสระเขียนหลัง "ลอกคราบประวัติศาสตร์ 14 ตุลา" เวอร์ชั่นครอบครัวกิตติขจร-จารุเสถียร เมื่อ 10 ปีที่แล้ว โดยพุ่งเป้าไปที่กลุ่มกฤษณ์ สีวะรา เป็นผู้จุดชนวนความรุนแรง

              ด้านนายทหารใหญ่อย่าง "เสธ.อ้าย" พล.อ.บุญเลิศ แก้วประสิทธิ์ อดีตประธานกลุ่มองค์การพิทักษ์สยาม (อพส.) เล่าว่า ตอนเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ตนเป็นทหารบ้านนอก กำลังเคลื่อนกำลังไปปราบปรามผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ (ผกค.) ในพื้นที่ จ.เชียงราย จึงไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์ ทราบแต่ข่าววิทยุ และหนังสือพิมพ์เท่านั้น

              "ผมมองว่ามันเป็นการต่อสู้กันระหว่างคนรุ่นใหม่กับทหาร โดยเฉพาะนักศึกษาคิดว่าทหารครองอำนาจนานเกินไป ควรที่จะเปลี่ยนถ่ายบ้าง ขณะเดียวกัน ในช่วงนั้นทหารก็แตกแยกทำให้การล้มรัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร ทำได้ง่าย"

              ถามว่า 40 ปี 14 ตุลา ประเทศไทยได้อะไรบ้าง "พล.อ.บุญเลิศ" ตอบว่า ได้อย่างเดียวคือ การตื่นตัวทางการเมืองของภาคประชาชนหรือองค์กรภาคประชาชน จะเห็นได้ว่ารัฐธรรมนูญปี 2540 และ 2550 บรรจุเรื่ององค์กรภาคประชาชน หรือองค์กรอิสระไว้ในรัฐธรรมนูญ 2 ฉบับ ก็เป็นเหตุการณ์สืบเนื่องมาจาก 14 ตุลา 16 รวมถึงเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 2535 ที่ทำให้เราต้องมีองค์กรอิสระ

              สำหรับโอกาสที่จะมีนักศึกษารวมตัวกันเรียกร้องเหมือนกับช่วง 14 ตุลา ในอนาคตหรือไม่ พล.อ.บุญเลิศ มองว่า "ผมคิดว่าจะต้องมี ถ้าคนทนไม่ไหว ซึ่งผมเชื่อว่าคนทนไม่ไหวเยอะ เพียงแต่วันนี้หาคนที่ดูแลปลอดภัยไม่ได้"

              ส่วนการวางตัวของกองทัพปัจจุบันนั้น พล.อ.บุญเลิศ มองว่า "กองทัพเฉย และกลัว ไม่กล้าตัดสินใจ ความจริงแล้วกองทัพน่าจะเป็นกรรมการ ถ้าเป็นฟุตบอลก็จะต้องเป็นกรรมการเป่านกหวีด ถ้ามวยก็จะต้องเป็นกรรมการห้ามมวย ผมมองว่าตอนนี้กองทัพยังไม่กล้าผลีผลาม"

              ครั้นถามถึงโอกาสในการทำปฏิวัติรัฐประหารในอนาคตนั้น "พล.อ.บุญเลิศ" ตอบชัดว่า "อยากให้มี และจะต้องมี เพราะมันไม่ไหวจริงๆ ทางรัฐสภาก็แก้ไม่ได้ คนที่เข้าไปเป็นสภานิติบัญญัติชั้นไม่ถึง ชั้นไม่ได้ คนพวกนี้ไม่มีใครไปคัดกรอง เพียงแต่ประชาชนเลือกมาก็ได้แล้ว ซึ่งการเลือกมามีได้หลายทาง เอาเงินซื้อเสียง โกงหีบเลือกตั้งก็เป็นไปได้"

              การเฉลิมฉลอง 40 ปี 14 ตุลา กำลังจะผ่านไป ยังมีเสียงเรียกร้องให้ทหารลุกขึ้นมาก่อการปฏิวัติยึดอำนาจ และเริ่มเสียงดังขึ้นเรื่อยๆ ในเดือนตุลาอาถรรพณ์ ราวกับว่าบ้านนี้เมืองนี้จะหนีไม่พ้นวงจรอุบาทว์

"ทำไมวัยเท่าๆกัน ถึงได้กล้าหาญ"ย้อนวันวานกับ "พล.ร.อ.พะจุณณ์"

              พล.ร.อ.พะจุณณ์ ตามประทีป อดีตหัวหน้าสำนักงานมูลนิธิ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ ก็ถือโอกาสรำลึก 14 ตุลา ในฐานะเยาวชนที่เข้าร่วมเคลื่อนไหวในครั้งนั้นด้วย

              โดยปี 2516 "พล.ร.อ.พะจุณณ์" เป็นนักเรียนนายเรือชั้นปีที่ 3 และด้วยความที่เป็นคนสนใจการบ้านการเมืองมาตั้งแต่เด็ก พอเป็นนักเรียนนายเรือจึงหนีโรงเรียนออกมาเพื่อติดตามการเมือง

              "ตอนนั้นผมมาอยู่ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ผมชื่นชอบผู้นำนักศึกษาหลายคน ผมตามคนกลุ่มนี้มาตลอดจนไม่ได้เข้าเรียนเลย โดยมีเพื่อนผมมาด้วยอีกคนคือ พล.ร.ท.เทพรังสรรค์ ศิลปบรรเลง ตอนที่มาตามขบวน มีความรู้สึกว่าคนพวกนี้ยิ่งใหญ่ อยากจะแหวกผู้คนเข้าไปไหว้จริงๆ" พล.ร.อ.พะจุณณ์ กล่าว

              พล.ร.อ.พะจุณณ์ ในวันนั้นได้แอบคิดว่า "ทำไมวัยเท่าๆ กัน ทำไมถึงได้กล้าหาญ ออกมายืนหยัดต่อสู้ตามความคิดความเชื่อของเขา จึงมานั่งวิเคราะห์ว่า ทำไมคนพวกนี้ถึงได้ลุกมาต่อสู้ และได้ข้อสรุปว่า น่าจะเป็นเพราะการที่เขาได้รับการศึกษา และประวัติศาสตร์บ้านเมืองที่ตอนนั้นอีนุงตุงนังมาก ซึ่งกลุ่มคนพวกนี้ต้องรับรู้ตลอดเวลา ทั้งเรื่องการปฏิวัติ เผด็จการ และการต่อสู้ทางการเมือง"

              ด้วยผลผลิตจากการศึกษาในยุคนั้น เราจึงได้เห็นคนในยุคนั้นออกมาร่วมในเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมืองต่างๆ ซึ่งถ้าไปดูในม็อบทุกวันนี้ จะเห็นคนที่ออกมาต่อสู้อายุ 60 กว่าทั้งนั้น และเคยร่วมเหตุการณ์ 14 ตุลา มาแล้วทั้งสิ้น

              จากปัจจัยสังคมการเมืองที่แตกต่างจากปัจจุบันโดยสิ้นเชิง ทำให้วัยรุ่นในปัจจุบันไม่ออกมา เพราะคิดว่าประชาธิปไตยคือการหย่อนบัตร พวกเขาดีใจแล้วที่ได้ทำหน้าที่ตรงนี้ ซึ่งเป็นความผิดของผู้ใหญ่ปัจจุบันทุกคนจะต้องรับผิดชอบ ถ้าบ้านเมืองเป็นอะไร เป็นเพราะคุณไม่ได้ปลูกฝังในเรื่องนี้

              "ผมมีหลานอยู่หนึ่งคน อายุ 3 ปี ผูกผ้าสีเหลืองไปอยู่กับกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) เมื่อปี 2552 ซึ่งเดินไปด้วยกัน ตัวเล็กนิดเดียว ทุกวันนี้เขาก็รู้จักนายกรัฐมนตรีชื่อทักษิณ นายกรัฐมนตรีชื่อปู และนายกรัฐมนตรีที่ชื่ออภิสิทธิ์ และรักในหลวงมาก ทั้งๆ ที่ไม่เคยเห็นพระองค์ท่านเลย เพราะเราปลูกฝังเขา ถ้าเราไม่ปลูกฝัง หรือบ้านไหนไม่ปลูกฝังในเรื่องนี้ เด็กก็จะไม่สนใจกัน" พล.ร.อ.พะจุณณ์ กล่าว

              ถามว่า มีโอกาสที่จะมีเยาวชนในยุคนี้ลุกขึ้นมาเหมือนสมัย 14 ตุลา 16 หรือไม่?

              พล.ร.อ.พะจุณณ์ ตอบว่า "ผมอยากบอกว่า ม็อบเขื่อนแม่วงก์ มีแต่เด็กวัยรุ่นทั้งนั้น นี่คือสิ่งอัศจรรย์ ทำไมเด็กวัยรุ่นถึงได้ออกมา เพราะมันไม่ใช่หน้าที่ของการเมือง เขาคิดว่าเรื่องการเมืองเป็นเรื่องของพรรคการเมืองก็ตีกันไป ไม่ใช่เรื่องของเขา ซึ่งก็ไม่อยากว่าเขา แต่เป็นเพราะเราไม่ได้ปลูกฝัง"

......................

ลิงค์ข่าว  http://www.komchadluek.net/detail/20131013/170364.html
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่