ทรรศนะสัสสตทิฏฐิและอุจเฉททิฏฐิในอินเดีย

ทรรศนะสัสสตทิฏฐิและอุจเฉททิฏฐิในอินเดีย ที่แตกต่างจากทรรศนะเรื่องกรรมและสังสารวัฏในพุทธปรัชญาเถรวาท

ทรรศนะสัสสตทิฏฐิ

               แนวความคิดแบบสัสสตทิฏฐิที่เชื่อว่า  สิ่งทั้งปวงมีอยู่  (อัตถิกทิฏฐิ)   เป็นความเชื่อว่า  ภายในตัวมนุษย์มีแก่นสารที่เป็นอมตะไม่รู้จักการเปลี่ยนแปลงเสื่อมสลาย  แก่นสารที่ว่านี้จะดำรงอยู่ตลอดเวลา   แม้ว่ามนุษย์นั้นจะตายไปก็ตาม  ทรรศนะแบบสัสสตทิฏฐิเชื่อว่า  มนุษย์มีส่วนประกอบ  2  ส่วนคือ   ส่วนแรกคือร่างกายเป็นสสาร  และส่วนที่สองคือแก่นสารที่เป็นอมตะ   ร่างกายที่เป็นสสารเปลี่ยนแปลงได้ไปตามกาลเวลา  แต่แก่นสารที่เป็นอมตะนั้นหาได้ตายไปพร้อมกับร่างกายไม่  แก่นสารที่ว่านี้จะเป็นตัวไปสร้างภพใหม่ต่อไป  การตายไม่ใช่จุดสุดท้ายของชีวิต

               สัสสตทิฏฐิมักมองมนุษย์ในแง่ที่เป็นแก่นสารที่เป็นอมตะ ซึ่งสิ่งนี้จะเป็นตัวนำไปสู่การอธิบายว่า  ทุกสิ่งทุกอย่างมีอยู่  แก่นสารที่เป็นอมตะนี้เรียกชื่อแตกต่างกันไป  ศาสนาพราหมณ์เรียกว่า   อาตมัน  ศาสนาเชนเรียกว่า   ชีวะ   นักปรัชญาตะวันตกเรียกว่า  วิญาณ  (soul)   อย่างไรก็ตาม  ซึ่งอาจจะเรียกต่างกัน  แต่ความหมายอันเดียวกันคือ   เป็นแก่นสารที่เป็นอมตะไม่รู้จักตาย  ในสมัยพุทธกาลศาสนาที่มีแนวความคิดแบบสัสสตทิฏฐิที่เห็นได้ชัดเจนมากที่สุดได้แก่  ศาสนาพราหมณ์ และศาสนาเชน

               ศาสนาพราหมณ์เชื่อว่า  มนุษย์ประกอบด้วย  2  ส่วนคือ   ร่างกายและอาตมัน  ร่างกายนั้นเป็นสสาร  ส่วนอาตมันเป็นอสสาร ทั้ง  2  ส่วนนี้มีความแตกต่างกัน  ร่างกายเป็นสสารที่รู้จักการเปลี่ยนแปลงเสื่อมสลาย  แต่อาตมันนั้นเป็นอมตะไม่รู้จักการเปลี่ยนแปลงถึงแม้ว่ามนุษย์จะตายไปก็ตาม  ร่างกายเท่านั้นตาย  แต่อาตมันตัวนี้จะดำเนินการสร้างภพใหม่ชาติใหม่เหมือนคนถอดเสื้อชุดเก่าแล้วสวมเสื้อชุดใหม่

               ศาสนาเชนเชื่อว่า  มนุษย์ประกอบด้วย  2  ส่วนคือ   ส่วนแรกคือร่างกายส่วนที่สองคือชีวะ  ร่างกายเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลง  แต่ชีวะเป็นอมตะไม่รู้จักการเปลี่ยนแปลงเสื่อมสลาย  ชีวะตัวนี้เป็นแก่นสารเป็นตัวถาวร  และมีอยู่เองตามธรรมชาติไม่มีผู้สร้าง  ชีวะของเชนจึงแตกต่างจากอาตมันของพราหมณ์  อาตมันของพราหมณ์นั้นมีผู้สร้าง  ดังนั้น  เชนจึงไม่นับถือพระเจ้า  แต่แนวความคิดของ  เชน  ชีวะเป็นตัวเดียวกันที่ไปสร้างภพใหม่ชาติใหม่ไม่มีการเปลี่ยนแปลง  จึงทำให้แนวความคิดของเชนกลายเป็นทรรศนะสัสสตทิฏฐิด้วย
แสดงความคิดเห็น
อ่านกระทู้อื่นที่พูดคุยเกี่ยวกับ  ศาสนาพุทธ พระไตรปิฎก ปฏิบัติธรรม ทำบุญ
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่