พรรคประชาธิปัตย์หรือพรรคนายอภิสิทธิ์

ความจริงไม่ใช่เรื่องผิดคาดสำหรับกระแสข่าวการปริร้าวภายในพรรคประชาธิปัตย์ กระทั่งเริ่มมีการพูดถึง "พรรคการเมืองใหม่" ที่เป็นทางเลือกของสังคมไทย โดยปรากฏชื่อของ นายอลงกรณ์ พลบุตร นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน และ นายนคร มาฉิม กับ ส.ส.อีกจำนวนหนึ่ง

อันเป็นกลุ่มที่เปิดประเด็นปฏิรูปประชาธิปัตย์ เพื่อให้เป็นพรรคการเมืองซึ่งชนะเลือกตั้ง เข้าเป็นรัฐบาลด้วยเสียงของประชาชนจริงๆ หลังจากแพ้ซ้ำซากมา 21 ปี

ที่ว่าไม่ผิดคาด เพราะความเคลื่อนไหวของกลุ่มนายอลงกรณ์ในการผลักดันปฏิรูป ไม่ได้รับการตอบรับจากกลุ่มที่กุมการนำอย่างชัดเจน

แม้ในการประชุมล่าสุด มีข่าวเสมือนว่ายอมรับข้อเสนอปฏิรูปบ้างแล้ว แต่คำให้สัมภาษณ์ของนายนคร มาฉิม บ่งบอกข้อเท็จจริงได้

"รู้สึกผิดหวังที่โมเดลการปฏิรูปพรรคของเราได้รับความเห็นชอบเพียงบางส่วน สิ่งที่เป็นจุดอ่อนยังไม่ถูกแก้ไข จุดแข็งก็ยังไม่ถูกสร้าง พรรคยังไม่ได้รับการปฏิรูปอย่างแท้จริง"

ประชาธิปัตย์ภายใต้การนำของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะกับคนสนิท และ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ที่ร่วมเคียงบ่าเคียงไหล่

เห็นได้ชัดว่า เป็นผู้นำพรรคที่แข็งกร้าว เชื่อในตัวเองและเพื่อนสนิทไม่กี่คน ไม่เคยถอยให้กับใคร ชีวิตนี้ไม่เคยผิดไม่เคยแพ้

บุคลิกของผู้นำ จึงสะท้อนเป็นแนวทางของทั้งพรรคในปัจจุบัน

เห็นได้ถึงการประท้วงในห้องประชุมอย่างดุเดือดเลือดพล่าน ตีรวนทุกเม็ด ละเอียด จุกจิก ยื่นเรื่องร้ององค์กรอิสระแทบทุกวัน

ไม่เคยประนีประนอมกับกลุ่มมวลชนที่ใส่สีเสื้อตรงข้าม ทั้งที่มีคดีความ 99 ศพเป็นปมเงื่อนใหญ่ ขวางเงินเยียวยา ขวางนิรโทษกรรม แม้กระทั่งกับระดับมวลชนผู้ชุมนุมที่ติดคุกอยู่ในขณะนี้

จนสงสัยกันว่า พรรคการเมืองพรรคนี้ จะเล่นการเมืองเพื่อเรียกความนิยมจากประชาชนทั่วประเทศได้อย่างไร

ดังนั้น ต่อปัญหาภายในพรรค ถ้าผู้นำบุคลิกเช่นนี้ แล้วจะยอมรับความคิดของคนกลุ่มอื่นในพรรคหรือ

เพราะนี่ไม่ใช่ผู้นำพรรคที่รับฟังเสียงคนอื่น แต่เป็นผู้นำที่คนอื่นต้องฟังเขาเท่านั้น

ขณะเดียวกันทิศทางการทำงานการเมืองของประชาธิปัตย์ ในยุคอภิสิทธิ์ ได้สร้างความประหลาดใจไม่น้อย ว่าเหตุใดพรรคการเมืองที่เก่าแก่ยาวนาน และเป็นพรรคใหญ่ จึงเคลื่อนไหวในสภาโดยไม่เคยสนับสนุนส่งเสริมการเพิ่มอำนาจให้กับระบบสภาและระบบพรรคการเมือง

ด้วยเหตุผลเพื่อต่อต้านทักษิณ

จึงพร้อมจะให้สารพัดองค์กรและสารพัดอำนาจในประเทศนี้ เข้ามาอยู่เหนือสภาได้

จะแก้รัฐธรรมนูญให้สภาสูงมาจากการเลือกตั้ง แต่พรรคการเมืองในระบบเลือกตั้งอย่างประชาธิปัตย์กลับค้านหัวชนฝา เพื่อให้อำนาจของฝ่ายอื่นในการแต่งตั้ง ส.ว.ดำรงอยู่ต่อไป

จนน่าจะสรุปได้ว่า ประชาธิปัตย์ในยุคนี้ ทำหน้าที่เป็นตัวแทนของฝ่ายอนุรักษนิยมอย่างชัดเจน เพื่อรักษาโครงสร้างการเมืองเก่าเอาไว้ ไม่ให้พัฒนาเปลี่ยนแปลง

ถ้าไม่ปฏิรูปไม่เปลี่ยนผู้นำก็แสดงว่าแน่วแน่ในแนวทางนี้

แค่ประเด็นไม่สามารถเข้าไปปราศรัยหาเสียงได้ครบทุกพื้นที่ มีเสียงแนะนำว่าแก้ไม่ยาก แค่เปลี่ยนหัวหน้าพรรค รับรองจะไม่มีมวลชนมาต่อต้านอีก

กลับแยกไม่ออกว่าเขาต้านนายกฯในยุค 99 ศพ ไม่ได้ต้านประชาธิปัตย์ทั้งพรรค

แยกไม่ได้ว่านี่คือพรรคประชาธิปัตย์หรือพรรคนายอภิสิทธิ์

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่