IEA ห่วงไทยวิกฤตพลังงาน ปี 2578 ก๊าซหมดอ่าวนำเข้าเชื้อเพลิง 3 ล้านล้าน

IEA ห่วงไทยวิกฤตพลังงาน ปี 2578 ก๊าซหมดอ่าวนำเข้าเชื้อเพลิง 3 ล้านล้าน



updated: 10 ต.ค. 2556 เวลา 10:00:17 น.
ประชาชาติธุรกิจออนไลน์

ทบวงพลังงานระหว่างประเทศ (International Energy Agency : IEA) ร่วมกับกระทรวงพลังงาน เปิดเผยรายงาน "แนวโน้มพลังงานโลกในอนาคต ฉบับปี 2556" (World Energy Outlook 2013) ฉบับพิเศษ ครอบคลุมทิศทางพลังงานในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาเซียน จากปัจจุบันจนถึงปี 2578 โดย Maria Van Der Haeven กรรมการบริหาร ไออีเอ เป็นผู้กล่าวรายงาน

จากการศึกษาพบว่า การใช้พลังงานของอาเซียนในปัจจุบันขยายตัวเพิ่มขึ้นมากกว่า 2 เท่า เมื่อเทียบกับช่วงทศวรรษก่อน โดยความต้องการใช้น้ำมัน 4.4 ล้านบาร์เรลต่อวัน ก๊าซธรรมชาติ 141 พันล้านลูกบาศก์เมตร ขณะที่มีความต้องการใช้ถ่านหินเติบโตขึ้นมากกว่า 10% และมีสัดส่วนการใช้คิดเป็น 16% ของเชื้อเพลิงพื้นฐานในปัจจุบัน ปริมาณการใช้พลังงานต่อจำนวนประชากรในอาเซียนยังอยู่ในระดับต่ำมาก คิดเป็นเพียงครึ่งหนึ่งของความต้องการใช้พลังงานทั่วโลกโดยเฉลี่ย เนื่องเพราะการทำให้ประชาชนเข้าถึงพลังงานยังเป็นปัญหาหนึ่งของภูมิภาค เพราะมีประชากรถึง 134 ล้านคน หรือคิดเป็น 22%


ของประชากรทั้งหมดในภูมิภาคที่ไม่มีไฟฟ้าใช้ โดยส่วนใหญ่ถึง 66 ล้านคนอยู่ในประเทศอินโดนีเซีย รองลงมาคือประเทศฟิลิปปินส์ 28 ล้านคน และเมียนมาร์ 25 ล้านคน

ขณะเดียวกันมีประชาชนจำนวน 279 ล้านคน คิดเป็น 47% จากทั้งหมด ยังคงใช้ฟืนในการประกอบอาหาร

โดยประชากรกลุ่มนี้อยู่ในประเทศอินโดนีเซียมากเป็นอันดับ 1 ถึง 103 ล้านคน

อันดับ 2 ประเทศเวียดนาม 49 ล้านคน

อันดับ 3 ประเทศฟิลิปปินส์ 47 ล้านคน

และอันดับ 4 ประเทศเมียนมาร์ 44 ล้านคน

ในปี 2578 คาดการณ์ตัวเลขเศรษฐกิจของอาเซียนจะขยายตัวเพิ่มจากปัจจุบันถึง 3 เท่า และมีจำนวนประชาชนเพิ่มขึ้นอีก 25% จากประมาณ 600 ล้านคนในปัจจุบัน จึงทำให้ความต้องการใช้พลังงานในภูมิภาคเติบโตขึ้นถึง 80% และเมื่อรวมการใช้พลังงานของอาเซียนเข้ากับจีนและอินเดียแล้ว จะทำให้ศูนย์กลางพลังงานของโลกย้ายมาอยู่ที่เอเชีย

ทั้งนี้ คาดว่าความต้องการน้ำมันของอาเซียนจะเพิ่มขึ้นเป็น 6.8 ล้านบาร์เรลต่อวัน ทำให้ต้องนำเข้าน้ำมันเพิ่มขึ้นจาก 1.9 ล้านบาร์เรลในปัจจุบัน เป็นมากกว่า 5 ล้านบาร์เรล มีค่าใช้จ่ายทั้งหมด 240 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2578 คิดเป็นมูลค่า 4% ของผลิตภัณฑ์มวลรวม (จีดีพี) ส่งผลให้อาเซียนกลายเป็นผู้นำเข้าน้ำมันอันดับ 4 ของโลก รองจากจีน อินเดีย และสหภาพยุโรป

ส่วนความต้องการก๊าซธรรมชาติจะเพิ่มขึ้น 80% จากปัจจุบัน เป็น 250 พันล้านลูกบาศก์เมตร ความต้องการถ่านหินจะเพิ่มขึ้นเป็น 3 เท่าจากปี 2554 เพราะเป็นเชื้อเพลิงราคาถูกและมีอยู่มากในภูมิภาค โดยอินโดนีเซียจะเป็นผู้ผลิตหลัก

ส่วนความต้องการใช้ไฟฟ้าจะเพิ่มเป็น 1,900 ล้านเมกะวัตต์ ขณะที่ก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) ซึ่งมีราคาแพงจะเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในการผลิตไฟฟ้า ทั้งนี้คาดว่าจะมี 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐสำหรับพัฒนาในส่วนนี้

ทั้งนี้ คาดว่ากำลังผลิตไฟฟ้าในอนาคตจะมาจากเชื้อเพลิงถ่านหินสูง 700 ล้านเมกะวัตต์ พลังงานทดแทน 300 ล้านเมกะวัตต์ และก๊าซธรรมชาติ 200 ล้านเมกะวัตต์ อย่างไรก็ตามพบว่าการพัฒนาพลังงานทดแทนยังมีอุปสรรคสำคัญจากโครงสร้างพื้นฐานที่ไม่เอื้ออำนวย การออกใบอนุญาตประกอบกิจการไฟฟ้าของภาครัฐ และการอุดหนุนราคาเชื้อเพลิง

ขณะที่การบริโภคพลังงานขั้นสุดท้ายจะเพิ่มขึ้น 76% โดยภาคอุตสาหกรรมยังคงเป็นภาคใช้พลังงานสูงสุด โดยความต้องการใช้จะเติบโตขึ้นถึง 90% ขณะที่การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของภูมิภาคจะเติบโตขึ้น 2 เท่า ถึงระดับ 2,300 ล้านตัน

นอกจากนี้ การอุดหนุนราคาพลังงานยังคงเป็นปัญหาหนึ่งในภูมิภาค เพราะทำให้มีการใช้พลังงานสิ้นเปลือง ภาครัฐต้องเสียงบประมาณในการอุดหนุนสูง และเป็นอุปสรรคขัดขวางการลงทุน

โครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานที่จำเป็น และเทคโนโลยีเกี่ยวกับการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ โดยปี 2555 อาเซียนใช้เงินในการอุดหนุนราคาพลังงานถึง 5,100 ล้านเหรียญสหรัฐ แม้จะมีความพยายามของหลายประเทศที่จะลดการอุดหนุนราคาพลังงาน แต่ควรมีการอุดหนุนพลังงานสำหรับคนจนให้สามารถเข้าถึงพลังงานได้

สำหรับความต้องการใช้พลังงานที่เพิ่มมากขึ้นในอาเซียน ส่งผลให้มีการนำเข้าพลังงานและการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากขึ้น แต่หากมีนโยบายการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ เช่น กำหนดมาตรฐานการเผาผลาญน้ำมันของรถยนต์จะสามารถลดภาระส่วนนี้ได้ รวมถึงแก้ไขกฎหมายเพื่อจูงใจให้นักลงทุนทั้งในประเทศและต่างชาติลงทุนเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน

ถ้าหากมีการลงทุนจำนวน 330,000 ล้านเหรียญสหรัฐ จะช่วยประหยัดเงินได้ 500,000 ล้านเหรียญสหรัฐ รวมถึงเพิ่มการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวม (จีดีพี) ได้ 2% และลดการนำเข้าน้ำมันได้ 700,000 บาร์เรลต่อวัน หรือคิดเป็นมูลค่า 30,000 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี นอกจากนี้ การลงทุนเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานในภูมิภาค เช่น การลงทุนระบบสายส่งร่วมกัน (Asean Power Grid) หรือท่อส่งก๊าซธรรมชาติ เป็นต้น จะเป็นกุญแจสำคัญอีกประการที่ช่วยลดการนำเข้าพลังงานได้

สำหรับประเทศไทยปัจจุบันมีความต้องการใช้พลังงานประมาณ 118 ล้านตันเทียบเท่าน้ำมัน หรือคิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 20% ของภูมิภาค จึงถือเป็นประเทศที่มีความต้องการพลังงานมากเป็นอันดับ 2 ของอาเซียนรองจากอินโดนีเซีย และความต้องการใช้พลังงานของไทยมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่าความต้องการน้ำมันของไทยจะเพิ่มขึ้นจาก 1 ล้านบาร์เรลต่อวันในปัจจุบัน เป็น 1.6 ล้านบาร์เรลต่อวันในปี 2578 ความต้องการก๊าซธรรมชาติจะเพิ่มจาก 42,000 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน เป็น 65,000 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน

ขณะเดียวกันการผลิตก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยจะลดลงเรื่อย ๆ จนเหลือกำลังผลิตเพียง 25% เมื่อเทียบกับปัจจุบัน ขณะที่โครงการขุดเจาะและสำรวจใหม่ ๆ รวมถึงการพยายามรักษาระดับการผลิตไม่สามารถชดเชยกำลังผลิตที่ลดลงได้

ส่วนความต้องการถ่านหินจะเพิ่มขึ้น 160% และความต้องการใช้ไฟฟ้าของประเทศไทยจะเติบโตเฉลี่ย 3.8% ต่อปี เป็น 400ล้านเมกะวัตต์ในปี 2578 แต่การซื้อไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้านยังเป็นสิ่งจำเป็น

เมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านพบว่า ไทยมีแหล่งผลิตน้ำมันและก๊าซธรรมชาติที่จำกัด จึงต้องนำเข้าเชื้อเพลิงสูงขึ้นอย่างมาก จนกลายเป็นประเทศที่น่าเป็นห่วงมากที่สุดในปี 2578 โดยไทยต้องนำเข้าก๊าซธรรมชาติเพิ่มจากประมาณ 30% หรือ 11,000 ล้านลูกบาศก์เมตรในปัจจุบัน เพิ่มเป็น 90% หรือ 60,000 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยก๊าซธรรมชาติที่นำเข้าเพิ่มขึ้นมีโอกาสนำมาจากประเทศพม่าและการนำเข้าก๊าซแอลเอ็นจีมากที่สุด นอกจากนี้ จะมีการนำเข้าน้ำมันเพิ่มขึ้นจาก 60% ในปัจจุบัน เป็น 90% ในอนาคต ส่งผลให้ไทยต้องใช้เงินนำเข้าก๊าซธรรมชาติและน้ำมันเพิ่มจาก 30,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2554 เป็น 100,000 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2578


http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1381332994
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่