10ปีค่าไฟพุ่ง6บาทต่อหน่วยอ้างก๊าซธรรมชาติอ่าวไทยหมด

กระทู้ข่าว


                    รัฐและนักวิชาการออกโรงเตือนระวัง 10 ปีข้างหน้า ไทยเสี่ยงเกิดหายนะด้านพลังงาน หลังการใช้โตต่อเนื่อง แนะเร่งปรับแผนใช้เชื้อเพลิงให้เหมาะสม ก่อนค่าไฟพุ่งกระฉูดแตะ 6 บาทต่อหน่วย

                    งานเสวนาโต๊ะกลมเรื่อง “หายนะพลังงานไทย” จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติและชมรมคอลัมนิสต์นักจัดรายการวิทยุและโทรทัศน์ไทยนายพงษ์ดิษฐ พจนา รองผู้ว่ากิจการสังคม การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวว่าอีก 10 ปีข้างหน้า ประเทศไทยจะเกิดหายนะด้านไฟฟ้า ทั้งความมั่นคงและราคา เนื่องจากก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยจะหมดไปในอีก 10 ปี จากความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยการใช้ไฟฟ้าเติบโตเฉลี่ย?1.2% หรือมีความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น 1,500 เมกะวัตต์ต่อปี ตามการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยที่เติบโต 1% และไม่สามารถใช้พลังงานทดแทนผลิตไฟฟ้าป้อนความต้องการได้ทั้งหมด จำเป็นต้องใช้เชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้า ได้แก่ พลังงานน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ ถ่านหิน น้ำ และนิวเคลียร์ ซึ่งทั้งหมดได้รับการต่อต้านจากภาคสังคม

                    ภาครัฐต้องกำหนดเป็นยุทธศาสตร์ที่ชัดเจนว่าจะแบ่งสัดส่วนเชื้อเพลิงที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้าเป็นอย่างไร เช่น จากเชื้อเพลิงหลัก 70% และจากเชื้อเพลิงสนับสนุน 30% เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนว่าแต่ละปีจะต้องเพิ่มกำลังการผลิตจากเชื้อเพลิงหลักเป็นอย่างไร อย่างไรก็ตาม กฟผ. ต้องการเห็นการใช้เชื้อเพลิงที่มีความหลากหลาย จากปัจจุบันผลิตจากก๊าซธรรมชาติสูงถึง 67-68% ซึ่งถือเป็นความเสี่ยงทั้งในเรื่องแหล่งก๊าซและต้นทุนราคาสูงกว่าเชื้อเพลิงอื่นๆ

                    นอกจากนี้ ยังต้องการให้สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กำหนดราคาไฟฟ้าตามต้นทุนการผลิตจากเชื้อเพลิงแต่ละประเภทในแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศ (พีดีพี)เพื่อให้ประชาชนเกิดความตื่นตัวด้วย และหากยังคงสัดส่วนเชื้อเพลิงสำหรับผลิตไฟฟ้าไว้เช่นเดิมในอีก 10 ปีข้างหน้าจะเห็นต้นทุนค่าไฟฟ้าฐานเพิ่มขึ้นเป็นไม่ต่ำกว่า 6 บาทต่อหน่วย จากปัจจุบันที่อยู่ในระดับ 3.50 บาทต่อหน่วย

                    ด้านนายมนูญ ศิริวรรณ ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงาน ระบุว่าปีที่ผ่านมาไทยนำเข้าพลังงานมูลค่ากว่า 1.4 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2554 ที่มีมูลค่า 1.2 ล้านล้านบาท หรือเพิ่มขี้น 16.1% โดยมีปริมาณการใช้น้ำมันเพิ่มขึ้น 4.7% ก๊าซธรรมชาติเพิ่มขึ้น 9.2% และถ่านหินเพิ่มขึ้น 4.6% ซึ่งรายจ่ายด้านพลังงานที่ขยายตัวต่อเนื่อง ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจ

                    ขณะที่ราคาพลังงานของไทยนับว่าถูกสุดในอาเซียนยกเว้นมาเลเซียโดยเฉพาะน้ำมันดีเซลที่รัฐบาลตรึงราคาไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร เป็นเวลาเกือบ 2 ปี และใช้เงินอุดหนุนราคาพลังงานทั้งแอลพีจีและดีเซล สูงถึง 365,000 ล้านบาท ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ทำให้เสียโอกาสในการนำเงินส่วนนี้ไปพัฒนารถไฟความเร็วสูง ตลอดจนสวัสดิการทางสังคมต่างๆ คาดการณ์ว่าภายในปี 2573 ไทยจะบริโภคพลังงานเพิ่มขึ้น โดยนำเข้าก๊าซธรรมชาติเพิ่มขึ้นจาก 21% เป็น 52% นำเข้าก๊าซปิโตรเลียมเหลว (แอลเอ็นจี) เพิ่มขึ้นเป็น 25 ล้านตันต่อปี นำเข้าแอลพีจี เพิ่มจาก 1.8 ล้านตันต่อปี เป็น 8 ล้านตันต่อปี

                    นายณัฐชาติ จารุจินดา ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ กลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย บริษัท ปตท. มองว่า ประเทศไทยอยู่ในภาวะเสี่ยงด้านพลังงาน เพราะยังต้องพึ่งพาการนำเข้าน้ำมันส่วนใหญ่ จากความต้องการใช้น้ำมันสูงกว่าการผลิตจริง โดยการใช้อยู่ที่ 100 ล้านลิตรต่อวัน ขณะที่การผลิตอยู่ที่ 34 ล้านลิตรต่อวัน จากสถิติพบว่าการใช้น้ำมันของไทยอยู่อันดับที่ 19 ขณะที่การผลิตอยู่ที่อันดับ 32 และปริมาณสำรองอยู่ที่อันดับ 47 ของโลก

ที่มา : www.gonextgreen.com
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่