การศึกษาไทยตกอันดับเป็นรองกัมพูชา เวียดนาม: แต่..ไม่ได้แย่อย่างที่คิด? ข้อมูลบางอย่างที่สื่อไทยไม่นำเสนอ

การศึกษาไทยตกอันดับเป็นรองกัมพูชา เวียดนาม: แต่..ไม่ได้แย่อย่างที่คิด?  



ความเห็นต่าง: การศึกษาไทยไม่ได้แย่อย่างที่คิด

โดย ชนาธิป สุกใส
มหาวิทยาลัยสยาม

“ตื่นตระหนก” กันยกใหญ่ในสังคมไทย และกลายเป็นประเด็นถกเถียงในสื่อสังคมออนไลน์ต่าง ๆ ชั่วข้ามคืน ทันทีที่ทราบว่า World Economic Forum (WEF) หน่วยงานอิสระระดับโลก ได้ออกมาระบุว่า คุณภาพการศึกษาของไทยอยู่ในอันดับที่ 78 จาก 144 อันดับ ตามหลังกัมพูชาและเวียดนาม


รายงานที่ WEF ตีแผ่มีชื่อว่า Global Information Technology Report 2013 ความยาว 381 หน้า แบ่งหัวข้อหลักในการนำเสนอเป็น 4 บทใหญ่ ๆ แต่ส่วนที่จะนำมาวิเคราะห์และแตกประเด็นในบทความฉบับนี้ คือ

บทที่ 4 ว่าด้วยข้อมูลตาราง (Part 4: Data Tables) ดัชนีย่อยที่ 2 ด้านความพร้อม (Readiness Subindex) เสาหลักที่ 5 ทักษะความชำนาญ (5th pillar: Skills) ส่วนของมาตรฐานของระบบการศึกษา (Quality of the Educational System) เกณฑ์การให้คะแนนของ WEF คือ มีคะแนนเต็ม 7

สิ่งที่สื่อไทยนำเสนอ

คุณภาพของระบบการศึกษาอันดับที่ 1 ของโลก คือ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ได้คะแนนเต็ม 7 อันที่ 2 และ 3 คือ ฟินแลนด์ และสิงคโปร์ โดยมีคะแนนเท่ากันที่ 5.8 ส่วนประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 78

สื่อไทยขีดเส้นใต้และเน้นย้ำว่า คุณภาพระบบการศึกษาไทยล้มเหลวตามหลังกัมพูชาและเวียดนาม ที่รั้งอันดับที่ 58 และ 72 (Benat Bibao-Osorio, Soumitra Dutta, and Bruno Lanvin (2013), The Global Information Technology Report 2013)

ยิ่งไปกว่านั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา) ยังออกมายอมรับอีกว่า “การศึกษาไทยห่วยจริงและกล่าวเพิ่มเติมว่า การศึกษาไทยถูกประเมินในระดับนานาชาติหลายครั้ง ผลที่ได้ก็แสดงให้เห็นว่าเรายังทำได้ไม่ดีจริง ๆ แม้ผลอาจไม่ตรงร้อยเปอร์เซ็นว่า ประเทศไทยอยู่ลำดับนั้นจริงหรือไม่ แต่อย่างน้อยก็แสดงให้เห็นว่าการศึกษาไทยมีปัญหาอยู่มาก”

ดังนั้น ความตระหนกตกใจจากข่าว ประกอบกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งเป็นผู้ที่มีอำนาจหน้าที่โดยตรง ในการจัดการระบบการศึกษาของประเทศออกมายอมรับ ผสมกับความเชื่อดั้งเดิมและทัศนคติเชิงลบของคนไทยที่มีต่อระบบการศึกษาไทยในปัจจุบัน จึงได้ข้อสรุปในใจขึ้นมาทันทีว่า ระบบการศึกษาไทยนั้นล้มเหลว ความจริงก็คือ นี่แหละสิ่งที่คนไทยส่วนใหญ่รับรู้ (เพียงมุมหนึ่ง)


สิ่งที่สื่อไทยไม่ได้นำเสนอ
จากรายงานฉบับเดียวกันนี้ อังกฤษ สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส และญี่ปุ่น ถูกจัดอยู่ในอันดับที่ 27, 28, 41 และ 43 ตามลำดับ ส่วนประเทศชั้นนำที่ตามหลังไทย แต่สื่อไทยไม่ได้กล่าวถึง คือ สเปน รัสเซีย และอิตาลี ซึ่งอยู่ในอันดับที่ 81, 86 และ 87 มาถึงจุดนี้ หลายท่านคงแปลกใจว่า เกิดอะไรขึ้นกับระบบการศึกษาของประเทศที่พัฒนาแล้วอย่าง สเปนและอิตาลี โดยเฉพาะอย่างยิ่งอังกฤษและสหรัฐอเมริกา ทำไมไม่อยู่ใน Top Ten และอยู่ห่างจากสิงคโปร์ ซึ่งอยู่อันดับ 3 และมาเลเซีย ซึ่งอยู่อันดับ 14 อย่างไม่เห็นฝุ่น

ขัดกับความเชื่อเดิมมาโดยตลอดว่า ระบบการศึกษาของอังกฤษและสหรัฐอเมริกานั้นต้องเป็นที่หนึ่ง เนื่องจากมีความเป็นเลิศทางวิชาการที่ยาวนาน มีงานวิจัยที่มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับ เป็นที่ตั้งของสถาบันการศึกษาชั้นนำของโลก และคนไทยนิยมส่งลูกหลานไปเรียนต่อ ตั้งแต่ระดับ High School จนถึงระดับ Ph.D

ยิ่งไปกว่านั้น เกิดอะไรขึ้นในแดนหมีขาวรัสเซีย ซึ่งถือเป็นประเทศที่ผลิตนักวิทยาศาสตร์และนักคณิตศาสตร์เอกชั้นนำของโลก แต่ทำไมระบบการศึกษาของรัสเซียจึงแย่กว่าไทย? เกิดอะไรขึ้นกับคุณภาพการศึกษาของอังกฤษและสหรัฐอเมริกา? รายงานฉบับนี้ใช้เกณฑ์ใดเป็นตัววัดตัดสิน?

มีประเทศใดหรือไม่นอกจากประเทศไทยที่เดือดร้อนกับรายงานของ WEF? และที่สำคัญที่สุดผลการศึกษานี้เชื่อถือได้หรือไม่?

ข้างต้นคือสิ่งที่สื่อไทยไม่ได้นำเสนอเลยแม้แต่น้อย ไม่มีการวิพากษ์วิจารณ์ ไม่มีการตั้งคำถามเชิงโต้แย้ง ไม่มีการนำเสนอข้อมูลในชุดเดียวกันนี้ให้ครบถ้วน ทั้ง ๆ ที่ข้อมูลเหล่านี้อยู่ในหน้าเดียวกัน

ความจริงคืออะไร?
ความจริงคือ รายงานฉบับนี้เป็นเพียง “การสำรวจความคิดเห็น (Opinion Survey)” ดังนั้น การเก็บข้อมูลต่าง ๆ จึงได้มาจากการสอบถามความคิดเห็นล้วน ๆ โดยไม่ได้มีการอภิปรายผลการวิเคราะห์ข้อมูลเหมือนงานวิจัยเชิงวิชาการทั่วไป และไม่ได้มีการเก็บข้อมูลในส่วนอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง


ดังนั้น เมื่อทราบความจริงดังนี้แล้ว ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องประหลาดใจ ตกใจ หรือเศร้าใจว่า ทำไมคุณภาพของระบบการศึกษาไทยถึงเป็นเช่นนั้น เพราะการได้มาซึ่งข้อมูลของ WEF ถือเป็นอัตวิสัย (Subjective) โดยแท้ ผลการสำรวจจึงออกมาเป็นเช่นนั้น อย่างไรก็ดี นี่ก็ถือว่าเป็นผลสะท้อนกลับให้พิจารณาถึงความรับรู้ของคนไทยต่อระบบการศึกษาไทยว่า คนไทยเองไม่มีความเชื่อมั่นต่อคุณภาพของระบบการศึกษาไทย และคนไทยส่วนใหญ่ก็ยังมีทัศนะเชิงลบต่อระบบการศึกษาไทยในภาพรวม

ข้อมูลที่น่าสนใจอีกด้านหนึ่ง: รายงาน “นักศึกษาต่างชาติที่ศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาไทย”
ผมในฐานะคนตัวเล็ก ๆ คนหนึ่งที่อยู่ในแวดวงการศึกษาไม่เชื่อว่า คุณภาพของการศึกษาไทยจะย่ำแย่ถึงขนาดนั้น เนื่องจากได้มีโอกาสอ่านรายงานของสำนักคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) เรื่อง นักศึกษาต่างชาติที่ศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอุดศึกษา ปีการศึกษา 2555 (ธีรธร ลิขิตพงศธร, (2556), น. 7-10, นักศึกษาต่างชาติที่ศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา ปีการศึกษา 2555)

รายงานนี้มีข้อมูลที่น่าสนใจอีกแง่มุมหนึ่ง และผมขอเรียนสรุปในประเด็นสำคัญ ดังนี้

รายงานฉบับนี้โดยเป็นการรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับนักศึกษาต่างชาติที่ศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา ทั้งในสังกัดและในกำกับของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ
รวบรวมจากสถาบันอุดมศึกษาภาครัฐและเอกชนที่มีนักศึกษาต่างชาติอยู่ในช่วงระยะเวลาตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2553 – เดือนกรกฎาคม 2554 จำนวนทั้งสิ้น 103 แห่ง
ผลการศึกษาที่สำคัญของรายงานฉบับนี้ พบว่า
นักศึกษาต่างชาติอยู่ในสถาบันอุดมศึกษาไทย จำนวน 20,309 คน จาก 130 ประเทศ
นักศึกษาต่างชาติที่เข้ามาศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาไทยมากที่สุด ได้แก่ นักศึกษาจากประเทศจีน (8,444 คน) รองลงมาได้แก่ พม่า (1,481 คน) ลาว (1,344 คน) เวียดนาม (1,290 คน) และกัมพูชา (955 คน) ตามลำดับ
สาขาที่นักศึกษาต่างชาติเลือกเรียนในสถาบันอุดมศึกษาไทยมากที่สุด ได้แก่ สาขาบริหารธุรกิจ รองลงมาได้แก่ ธุรกิจระหว่างประเทศ ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ และการตลาด ตามลำดับ
นักศึกษาต่างชาติส่วนใหญ่ที่เข้ามาศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาไทยและของรัฐและเอกชน เข้ามาศึกษาด้วยทุนส่วนตัว รองลงมาได้แก่ ทุนจากหน่วยงานไทย และทุนจากต่างประเทศ
ผลการศึกษาของรายงานฉบับนี้สามารถสรุปได้ว่า การศึกษาของประเทศไทยยังเป็นที่น่าดึงดูดต่อนักศึกษาชาวต่างชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักศึกษาจากทวีปเอเชีย บอกเป็นนัยได้ว่า ระบบการศึกษาไทยในสายตาคนต่างประเทศนั้นไม่ได้ย่ำแย่อย่างที่คิด มีนักศึกษาจากประเทศเพื่อนบ้านทั้งจากพม่า ลาว เวียดนาม และกัมพูชา รวมทั้งสิ้นมีจำนวนหลายพันคนตั้งใจที่จะมาศึกษาเล่าเรียนในประเทศไทย

โดยนักศึกษาส่วนใหญ่ใช้เงินทุนส่วนตัวของตนเองเป็นเงินสนับสนุนทั้งสิ้น จากข้อนี้เองก็ได้ข้อสรุปอีกประการหนึ่งที่สำคัญว่า การที่นักศึกษาต่างชาติตัดสินใจมาเรียนในสถาบันอุดมศึกษาไทย ไม่ได้เป็นเพราะว่ามีทุนการศึกษา (Scholarship) หรือทุนให้เปล่า (Grant) ให้ เขาจึงมาเรียน แต่เป็นเพราะว่า เขาเล็งเห็นว่าการศึกษาของไทยในหลาย ๆ สาขามีศักยภาพ เช่น สาขาบริหารธุรกิจ ธุรกิจระหว่างประเทศ ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ และการตลาด

บทความฉบับนี้ จึงเป็นการให้ข้อมูลอีกด้านหนึ่งที่สะท้อนมุมมองของนักศึกษาต่างชาติต่อระบบการศึกษาของไทยว่า การศึกษาของไทยยังมีความน่าดึงดูดอยู่พอสมควร และไม่ได้แย่อย่างที่รายงานของ WEF ได้ระบุ

ดังนั้น การจะสรุปความว่าคุณภาพการศึกษาไทย “ดีหรือไม” มีความจำเป็นต้องพิจารณาจากหลายองค์ประกอบทั้งในมิติด้านลึกและด้านกว้าง บางครั้งต้องตัดในส่วนของความรู้สึกและความรับรู้ดั้งเดิมออกไป

แน่นอนว่าการสรุปความนั้น เราคงไม่สามารถมองตัวเองแล้วสรุปความด้านเดียวได้ ทว่า ต้องมองให้รอบด้านไปถึงทัศนคติและความคิดของนักศึกษาต่างชาติที่มองมาที่เรา รวมทั้งการใช้ข้อมูลและสถิติเชิงตัวเลขเข้ามาเป็นส่วนประกอบในการสรุปความด้วย

ที่มา
http://www.siamintelligence.com/poor-education-rankings-in-thai/
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่