อันดับขีดความสามารถในการแข่งขันไทยแซงหน้าอาเซียน

สถาบันจัดอันดับขีดความสามารถทางการแข่งขันชั้นนำของโลก จัดอันดับให้ไทยมีขีดความสามารถทางการแข่งขันที่สูงขึ้นกว่าปีก่อนๆ และถือเป็นประเทศเดียวในอาเซียน ที่มีอันดับดีขึ้น พร้อมแนะให้ไทยเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อการพัฒนาศักยภาพด้านเศรษฐกิจของประเทศ


International Institute for Management Development หรือ IMD คือสถาบันการศึกษาด้านธุรกิจที่มีชื่อเสียงที่สุดในสวิตเซอร์แลนด์ และได้รับการจัดอันดับให้เป็นสถาบันด้านธุรกิจและภาวะความเป็นผู้นำที่ดีที่สุดในโลก จากหนังสือพิมพ์เศรษฐกิจหลายฉบับ ทั้ง Financial Times , Business Week และ Forbes


สถาบันแห่งนี้ มีศูนย์วิจัยที่ได้รับการยอมรับจากทั่วโลกอยู่ 3 แห่ง และหนึ่งในนั้น ก็คือ IMD World Competitiveness Center หรือ WCC หรือศูนย์จัดอันดับขีดความสามารถทางการแข่งขันของโลก ซึ่งที่ผ่านมา ได้ศึกษาวิจัย และเก็บข้อมูลขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศต่างๆ รวมถึงประเทศไทย


ข้อมูลดังกล่าวมีความน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากไทยได้รับการจัดอันดับอยู่ในอันดับต้นๆ ของประเทศที่มีขีดความสามารถในการพัฒนาสูงสุดประจำปี 2556


โดยไทยได้รับการจัดอันดับให้อยู่ที่ 27 ของประเทศที่มีขีดความสามารถในการแข่งขันสูงที่สุดในโลกประจำปีนี้ ขยับขึ้นมาจากอันดับที่ 30 จากปีก่อน โดยผู้ที่ได้อันดับ
1 คือสหรัฐอเมริกา
2 สวิตเซอร์แลนด์
3  ฮ่องกง
4 สวีเดน และอันดับที่ 5 คือสิงคโปร์


ขณะที่ ขีดความสามารถในการแข่งขันในภาคพื้นเอเชีย-แปซิฟิก ประจำปีนี้ อันดับที่ 1 คือฮ่องกง ตามมาด้วย สิงคโปร์ และไต้หวัน ส่วนไทยอยู่ในอันดับที่ 10   เอาชนะอินเดีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ที่อยู่ในอันดับรองลงมาได้  ส่วนการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันในกลุ่มอาเซียน ประเทศที่นำมาเป็นอันดับ 1 คือสิงคโปร์ รองลงมาคือมาเลเซีย โดยมีไทยเป็นอันดับที่ 3


ซึ่งหากวิเคราะห์เปรียบเทียบการจัดอันดับประจำปีนี้ กับการเก็บข้อมูลตลอด 16 ปีที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่า ไทยเป็นเพียงประเทศเดียว ที่อันดับขยับสูงขึ้น เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆในอาเซียน โดยสิงคโปร์ แม้จะได้รับการจัดอันดับให้อยู่ที่ 5 ของประเทศที่มีขีดความสามารถสูงที่สุดประจำปีนี้ แต่ก็ถูกปรับลดลงจากปีก่อนหน้านี้ถึง 3 อันดับ


ส่วนมาเลเซีย อยู่ในอันดับที่ 15 ของประเทศที่มีขีดความสามารถในการแข่งขันสูงที่สุดในโลก แต่ก็ถูกปรับลดลงมา 1 อันดับ  ฟิลิปปินส์ มีขีดความสามารถใน การแข่งขันอยู่ในอันดับที่ 38 ถูกปรับลดลงถึง 9 อันดับ และอินโดนีเซีย มีขีดความสามารถทางการแข่งขันอยู่ในอันดับที่ 39 และถูกปรับลดลงมา 1 อันดับ ดังนั้น ไทยจึงเป็นเพียงประเทศเดียวในอาเซียน ที่อันดับปรับสูงขึ้นจากเดิมถึง 4 อันดับ


สำหรับปัจจัยที่ IMD World Competitiveness Center  นำมาใช้ในการจัดอันดับขีดความสามารถทางการแข่งขันในครั้งนี้ มีอยู่ 4 ปัจจัยหลัก ได้แก่ ศักยภาพทางเศรษฐกิจ , ความมีประสิทธิภาพของรัฐบาล , ความมีประสิทธิภาพในการทำธุรกิจ และโครงสร้างพื้นฐานที่มีคุณภาพ


โดยศักยภาพทางเศรษฐกิจนั้น จะดูตัวชี้วัดจำพวกปริมาณการค้า การลงทุนจากต่างชาติ อัตราการจ้างงาน และระบบเศรษฐกิจภายในเป็นหลัก ส่วนความมีประสิทธิภาพของรัฐบาล จะดูที่นโยบายภาษีอากร การคลังสาธารณะ กฎหมายธุรกิจ และกรอบการทำงานในระดับสังคมและสถาบัน  ความมีประสิทธิภาพในการทำธุรกิจจะดูที่อัตราการผลิต ตลาดแรงงาน ระบบการเงิน  การบริหารจัดการ รวมถึงทัศนคติและค่านิยมในการทำธุรกิจ ส่วนปัจจัยสุดท้ายคือโครงสร้างพื้นฐานที่มีคุณภาพ จะดูที่ระบบเทคโนโลยี ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ ระบบสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม รวมถึงระบบการศึกษา


ซึ่งปัจจัยหลักทั้ง 4 ปัจจัยที่ว่ามานี้ ในกลุ่มประเทศอาเซียนทั้ง 5 ประเทศ อันประกอบไปด้วยไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และสิงคโปร์ ต่างก็มีจุดแข็ง-จุดอ่อนที่ต่างกันออกไป ซึ่งจุดแข็งที่สุดของไทย คือ ศักยภาพทางเศรษฐกิจ ซึ่งถูกจัดอันดับให้อยู่ที่ 9 จากทั้งหมด 60 ประเทศทั่วโลก


ส่วนจุดอ่อนที่สุดของไทย คือระบบโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งถูกจัดให้อยู่ในอันดับที่ 48 ขณะที่ ประเทศที่มีระบบโครงสร้างพื้นฐานดีที่สุดใน 5 ประเทศสมาชิกอาเซียนนี้คือประเทศสิงคโปร์ ถูกจัดให้อยู่ในอันดับที่ 12  ส่วนความมีประสิทธิภาพของรัฐบาล  ไทยถูกจัดให้อยู่ในอันดับที่ 22 และความมีประสิทธิภาพในการทำธุรกิจ ไทยอยู่ในอันดับที่ 18


หรับวันพรุ่งนี้ เราจะไปเจาะลึกถึงรายละเอียดที่เป็นข้อได้เปรียบและข้อเสียเปรียบของประเทศไทย ในการสร้างขีดความสามารถทางการแข่งขันกับประเทศอื่นๆ พร้อมกับไปฟังความเห็นของศาสตราจารย์สถาบัน IMD ผู้อยู่เบื้องหลังผลการจัดอันดับดังกล่าว ว่าไทยควรจะดำเนินนโยบายอย่างไร เพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของตน

http://news.voicetv.co.th/global/83219.html
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่