คลังเล็งงัดมาตรการลดภาษีนำเข้าวัตถุดิบ ลดแรงคัดค้านลดภาษีนำเข้าสินค้าแบรนด์เนม

กระทู้สนทนา
ประชาชาติธุรกิจออนไลน์

คลังลุย "ช็อปปิ้งพาราไดส์" สศค. ยันพร้อมลดภาษีวัตถุดิบให้ผู้ประกอบการในประเทศที่อาจได้รับผลกระทบจากการลดภาษีนำเข้าสินค้าแบรนด์เนม ชี้ไม่ลดตอนนี้ ต่อไปก็ต้องลดตามกรอบ "อาเซียน-อียู" เผยกลุ่ม "เครื่องสำอาง-เครื่องหนัง" ยังค้าน ปลัดคลังลั่นชง ครม. ภายในสิ้น ต.ค.นี้

นายสมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า การลดภาษีนำเข้าสินค้าแบรนด์เนมเพื่อสนับสนุนให้ประเทศไทยเป็นช็อปปิ้งพาราไดส์นั้น สศค. ยังอยู่ระหว่างนัดภาคเอกชนมาหารือเพื่อหาข้อสรุปร่วมกันให้ได้ เนื่องจากมาตรการนี้เป็นมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดย สศค. พร้อมพิจารณาว่าหากสินค้าบางตัวที่ลดภาษีลงไปแล้ว ผู้ประกอบการได้รับผลกระทบบ้าง ก็อาจจะหาวิธีช่วยลดต้นทุนให้
อย่างไรก็ดี ขณะนี้ ยังไม่สรุปว่าจะลดสินค้ารายการใดบ้าง เพราะต้องดูผลได้ ผลเสียก่อน แต่ยืนยันว่าจะเร่งพิจารณาให้ทันภายในช่วงฤดูกาลท่องเที่ยวปลายปีนี้แน่นอน

"ตัวไหน (สินค้า) ถ้าลดแล้วอิมแพคน้อย ก็อย่าลดดีกว่า แต่ถ้าลดแล้วมีอิมแพคแรง และไม่กระทบผู้ประกอบการภายในประเทศ อันนี้จะทำ หลักการมีเท่านี้ ก็ต้องมาคุยกันก่อน ถ้าหากผู้ประกอบการมีผลกระทบ ก็มาคุยกันว่า ถ้าอย่างนั้นเราลดวัตถุดิบให้เอามั้ย เขาจะได้แข่งได้ คือดูว่าวัตถุดิบอันไหนยังไม่เป็นศูนย์ก็ลดเป็นศูนย์เสีย ก็จะช่วยเขาได้อีกทาง" นายสมชัยกล่าว

ทั้งนี้ การเชิญผู้ประกอบการมาหารือนั้น นายสมชัย กล่าวว่า จะเป็นการนำตัวเลขของแต่ละฝ่ายมาพิจารณาร่วมกัน เพื่อปรับจูนให้สามารถรับกันได้ทั้งสองฝ่าย โดยสินค้าที่จะพิจารณายอมรับว่า จะมีเครื่องสำอางบางส่วน น้ำหอม และเครื่องหนัง

นายสมชัย กล่าวว่า สศค.ได้ศึกษาภาพรวมแล้วส่วนหนึ่ง โดยยอมรับว่าในแง่ผลกระทบต่อรายได้ก็มีส่วนหนึ่ง แต่การได้ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจที่กลับมาจะต้องมากกว่าทั้งในแง่ตัวเงินและไม่ใช่ตัวเงิน ซึ่งเท่าที่ประเมินเบื้องต้น มูลค่านำเข้าสินค้าเหล่านี้มีไม่ถึง 10% ของมูลค่าการนำเข้าทั้งหมด อย่างไรก็ดี หากทำมาตรการนี้แล้ว ต้องทำให้เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่ายได้

"ถ้าทำแล้วคนไทยก็ซื้อได้ ก็ช่างเขา แต่มากกว่านั้นคือนักท่องเที่ยวจีน รัสเซีย ตะวันออกกลางมาเต็มเลย ก็คุ้มกว่า บริษัทสินค้าต่าง ๆก็มาตั้งในเมืองไทยมากนขึ้น ซึ่งก็คิดได้หลายแบบ" นายสมชัยกล่าว

ผู้อำนวยการ สศค. กล่าวอีกว่า มาตรการลดภาษีสินค้าแบรนด์เนมลักษณะนี้ จะมีความเป็นสากล เพราะปัจจุบันประเทศมาเลเซียก็มีการลดภาษีเป็นศูนย์มา 3-4 ปีแล้ว รวมถึงสิงคโปร์ และดูไบ ซึ่งประเทศไทยก็จะต้องนำบทเรียนของประเทศเหล่านี้มาพิจารณาประกอบด้วย โดยมั่นใจว่าแม้อัตราภาษีอาจจะลดเหลือเท่ากับประเทศอื่น แต่ประเทศไทยมีความน่าสนใจในแง่การเข้ามาท่องเที่ยวมากกว่าแน่นอน
นอกจากนี้ ผู้อำนวยการ สศค. มองว่า หากประเทศไทยยังไม่ลดภาษีนำเข้าสินค้าแบรนด์เนมตอนนี้ แต่ในระยะข้างหน้า ก็จะต้องลดลงตามกรอบการค้าเสรีอาเซียน-สหภาพยุโรป (อียู) ซึ่งสินค้าเหล่านี้ก็ต้องถูกลดภาษีนำเข้าเป็นศูนย์อยู่ดี
"ถ้าไม่ลดตอนนี้ ก็ต้องไปลดตอนเปิดเสรีการค้าอาเซียน-อียูอยู่ดี สุดท้ายต้องเป็นศูนย์หมด ไม่ว่าจะเครื่องหนัง หรือสินค้าอื่น ๆ แบรนด์เนมต้องเป็นศูนย์หมด" ผู้อำนวยการ สศค.กล่าว

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง กล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ตอนนี้ สินค้าแบรนด์เนมที่ผู้ประกอบการยังค้านอยู่ ได้แก่ เครื่องสำอาง และเครื่องหนัง จึงต้องหารือกันก่อนว่าจะหาข้อสรุปร่วมกันอย่างไร ส่วนกลุ่มที่ไม่ค้านจะเป็นพวกนาฬิกา น้ำหอม แว่นตา และไฟแช็ก เพราะไม่ได้ผลิตในประเทศอยู่แล้ว

ขณะที่นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า การดำเนินการเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงปลายปีนี้ ที่ผ่านมานายกรัฐมนตรี ได้ให้กระทรวงการคลังเร่งสรุปมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยว หรือช็อปปิ้งพาราไดส์ ด้วยการลดภาษีสินค้าแบรนด์เนม เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว ซึ่งทางคลังจะสรุปมาตรการเสนอ ครม.พิจารณาภายในสิ้นเดือน ต.ค.นี้

อย่างไรก็ดี การลดภาษีนำเข้าสินค้าแต่ละรายการต้องพิจารณาผลกระทบต่อผู้ประกอบการด้วย ไม่ว่าจะเป็นสินค้าเสื้อผ้า เครื่องสำอาง หรืออื่น ๆ แต่สุดท้ายเชื่อว่ารายได้จากการท่องเที่ยวที่มากขึ้นจะทำให้เศรษฐกิจของประเทศฟื้นตัวได้ดี
นายอารีพงศ์ กล่าวด้วยว่า นอกจากมาตรการลดภาษีสินค้าแบรนด์เนมนี้แล้ว ยังมีมาตรการส่งเสริมการค้าตามแนวชายแดน ที่มีการเพิ่มวงเงินการถือครองเงินสดข้ามแดนได้มากขึ้น
แก้ไขข้อความเมื่อ

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่