หุ้นยุโรปลดลง ผลเลือกตั้งเยอรมันฉุดตลาด

กระทู้สนทนา


ตลาดหุ้นทั่วทั้งภูมิภาคยุโรปต่างปรับตัวลดลงกันถ้วนหน้า จากความวิตกกังวลต่อการลดมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณของเฟด อย่างไรก็ตามยุโรปได้ข่าวดีจากเยอรมัน และจีนพยุงตลาดไม่ให้ลดลงมากกว่านี้

      อุณหภูมิการลงทุนในตลาดหุ้นยุโรป วันที่ 23 กันยายน 2556 นักลงทุนขายหุ้นออกมาตั้งแต่ต้นตลาด จากความกดดันจากกระแสข่าวการลดมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ(QE)ของธนาคารกลางสหรัฐฯในเดือนหน้า อย่างไรก็ตาม การเลือกตั้งในเยอรมัน ที่ได้นายกรัฐมนตรีและรัฐบาลชุดเดิมกลับมาทำงานอีกครั้ง ส่งผลให้กลายเป็นข่าวที่พอพยุงดัชนีอยู่ได้บ้างรวมทั้งข้อมูลของเศรษฐกิจของยุโรปและจีนที่ออกมาดีกว่าที่คาดการณ์ก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ตลาดหุ้นยุโรปไม่ลดลงมากไปกว่านี้
ผลการเลือกตั้งในเยอรมันนี ไม่เพียงนางแองเกล่า เมอร์เคิ่ล นายกรัฐมนตรีของเยอรมันจะชนะอย่างขาดลอย ได้กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งหนึ่งเท่านั้น หากแต่จำนวนปริมาณส.ส.ของพรรคที่ได้ชัยชนะในการเลือกตั้งครั้งนี้ก็พอเพียง ที่จะจัดตั้งรัฐบาล ภายหลังจากที่ก่อนหน้านี้ ตลาดยุโรปกังวลกันว่า จำนวนส.ส.จะไม่เพียงพอ จนอาจจะต้องตั้งรัฐบาลร่วมกับพรรคฝ่ายค้าน

       ข้อมูลเศรษฐกิจของยูโรโซนออกมาดีกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ โดยมาร์กิต รายงานดัชนีการจัดซื้อ(PMI)ของภาคธุรกิจยูโรโซน ในเดือนกันยายน ทะยานขึ้นสู่ระดับ 52.1 จากเดือนก่อนหน้านี้ที่อยู่ที่ระดับ 51.5 สูงที่สุดนับตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2554 หรือกว่า 2 ปีที่ผ่านมา

            และยังสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ก่อนหน้านี้ว่า จะขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 51.9(ผลการสำรวจนักวิเคราะห์ของรอยเตอร์)

       วิธีการอ่านดัชนี PMI ก็คือ หากดัชนีเหนือระดับ 50 จะสะท้อนสัญญาณแนวโน้มของการเติบโต หากต่ำกว่า 50 จะสะท้อนแนวโน้มของการหดตัว

       ในเยอรมัน ซึ่งเป็นเขตเศรษฐกิจที่ใหญ่และแข็งแกร่งที่สุดของยูโรโซน ข้อมูลดัชนี PMI จากการสำรวจก็ทะยานขึ้นอย่างรุนแรงกว่าเดือนก่อนหน้า ในขณะที่ในฝรั่งเศสเขตเศรษฐกิจที่ใหญ่เป็นอันดับที่สอง ดัชนีธุรกรรมการจัดซื้อ(PMI)สะท้อนสัญญาณถึงการเติบโตเป็นครั้งแรกในรอบ 19 เดือน โดยขึ้นไปอยู่ที่ระดับ 50.2 จากเดือนก่อนหน้านี้ที่อยู่ที่ระดับ 48.8

             สะท้อนให้เห็นถึงยูโรโซนมีการฟื้นตัวและเติบโตในทุกด้านทั้งทางด้านการผลิตและการบริการหลังจากลงไปในระดับที่ต่ำที่สุด จนเป็นที่น่ากังวลก่อนหน้านี้

            ในสหรัฐอเมริกา การอภิปรายโต้เถียงในสภาผู้แทนราษฎรยังคงเดินหน้าต่อไป ในประเด็นของเงินทุนที่ได้รับอนุมัติพิเศษเพื่อการใช้จ่ายในงบประมาณของรัฐบาลสหรัฐอเมริกาจะหมดอายุลงในวันที่ 1 ตุลาคมที่จะถึงนี้ และล่าสุดในวันนี้ พรรครีพับลิกันซึ่งเป็นฝ่ายค้านในสภา ยอมให้ต่ออายุการใช้เงินทุนพิเศษที่เกินเพดานหนี้ไปจนกระทั่งถึงวันที่ 15 ธันวาคม แต่ไม่ยอมอนุมัติให้มีการใช้จ่ายเพื่อการจัดตั้งกองทุนเพื่อประกันสุขภาพประชาชนตามแผนการของนายบารัค โอบามา (Obamacare)

       นายไมเคิล มอร์แรน แห่งไดวา แคปปิตอลกล่าวว่า การอภิปรายโต้แย้งกันในสภา อาจจะส่งผลให้เกิดการลดความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและธุรกิจลงได้ และจะนำไปสู่การหยุดการใช้จ่าย แม้พวกเขาอาจจะเคยมีแผนการอยู่ ซึ่งจะส่งผลต่อเนื่องให้เศรษฐกิจซบเซา

       นายวิลเลี่ยม ดัดเล่ย์ ประธานธนาคารกลางสาขานิวลยอร์ค กล่าวว่า ธนาคารกลางยังคงจำเป็นต้องผลักดันมาตรกรเพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจต่อไป พร้อมกับกล่าวปกป้องถึงการตัดสินใจของธนาคารกลางสหรัฐอเมริกเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า หากธนาคารกลางสหรัฐอเมริกาลดการซื้อพันธบัตร หรือเปลี่ยนแปลงมาตรการผ่อนคลายทางการเงินใดๆ จะส่งผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจได้

       HSBC รายงานผลการสำรวจดัชนีธุรกรรมการจัดซื้อ(PMI)ภาคการผลิตของจีน ในเดือนกันยายน 2556 เบื้องต้นวันนี้(23 กันยายน 56)ว่า ดัชนีขึ้นมาแตะระดับที่สูงที่สุดในรอบ 6 เดือนที่ 51.2 จากเดือนก่อนหน้าที่ซึ่งรายงานครั้งสุดท้ายอยู่ที่ระดับ 50.1

       ส่งผลให้ดัชนี PMI ของจีน ทะยานขึ้นมาเหนือระดับ 50 จุดอย่างต่อเนื่องเป็นเดือนที่สองติดต่อกัน สะท้อนถึงสัญญาณการเติบโตอย่างแข็งแกร่งและต่อเนื่องของเขตเศรษฐกิจยักษ์ใหญ่อันดับที่สองของโลก

            รวมทั้งข้อมูลดังกล่าวสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ก่อนหน้านี้ว่าจะเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 50.9(จากโพลสำรวจนักวิเคราะห์ของบลูมเบิร์ก)

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่