สมรภูมิ "ละคร" เดือด ดาวเทียมเปิดศึก "ฟรีทีวี"

http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1379047364

กลายเป็นคอนเทนต์ "แรง" และช่วยสร้างชื่อให้กับทีวีไทย สำหรับคอนเทนต์ละครที่วันนี้ไม่ว่าจะเป็นช่องฟรีทีวี ทีวีดาวเทียม หรือเคเบิลทีวี ต่างต้องมีคอนเทนต์ละครมาเรียกเรตติ้งจากผู้ชมกันอย่างคึกคัก ส่วนหนึ่งมาจากวันนี้ การแข่งขันของอุตสาหกรรมบรอดแคสต์ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงเฉพาะแพลตฟอร์มใดแพลตฟอร์มหนึ่งเท่านั้น แต่ทุกแพลตฟอร์มล้วนเป็นคู่แข่งในสมรภูมิเดียวกัน โดยมีเป้าหมายสำคัญอยู่ที่การช่วงชิงเม็ดเงินโฆษณา 6-7 หมื่นล้านบาท มาครอบครองให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ประกอบกับด้วยพื้นฐานของทีวีไทยที่ได้วางรากฐานกันไว้ตั้งแต่แรก โดยที่ฟรีทีวีช่องต่าง ๆ ได้จัดผังรายการ ด้วยการวางช่วงไพรมไทม์ไว้สำหรับคอนเทนต์นี้โดยเฉพาะ และจนกลายเป็นความเคยชินของผู้ชมว่า เวลาหลัง 20.00 น. คือช่วงเวลาดูละคร

ยิ่งถ้าละครเรื่องไหนที่โดนใจผู้ชม สนุกสนาน ออกรส ได้ใจผู้ชม จะส่งผลให้เรตติ้งแรงแบบฉุดไม่อยู่ จนขนาดว่าสินค้าต่าง ๆ ต้องวิ่งซื้อเวลาลงโฆษณากันแบบฝุ่นตลบ

ด้วยโอกาสจากเม็ดเงินโฆษณาที่วิ่งเข้าหา ทำให้ฟรีทีวีทุกช่อง เคเบิลทีวีทุกค่าย ต่างหันมาให้ความสำคัญและชูคอนเทนต์ละคร เป็นทัพหน้าในการกระชากเรตติ้งและเม็ดเงินโฆษณา ล่าสุดเป็นรายของ "ทรูวิชั่นส์" ที่กระโดดเข้ามาแจมอย่างเต็มตัว

"อาณัติ เมฆไพบูลย์วัฒนา" กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทรูวิชั่นส์ กรุ๊ป จำกัด กล่าวว่า ปัจจุบันแม้บริษัทจะมีคอนเทนต์ที่หลากหลายและมีความแข็งแกร่ง ทั้งภาพยนตร์ ข่าวสารและกีฬา แต่สำหรับคอนเทนต์ละคร ถือว่าเพิ่งจะเริ่มต้นเท่านั้น ยังคงต้องศึกษารายละเอียดอีกมาก

ล่าสุดได้เริ่มเปิดกล้องละครเรื่องบ่วงมาร จะออกอากาศประมาณต้นปี 2557 ทางช่อง ทรู 10 ทั้งนี้เพื่อให้สอดรับกับพฤติกรรมผู้ชมไทยที่ชอบดูรายการสด เรียลิตี้โชว์ และละครก็เป็นส่วนหนึ่งที่คนไทยชื่นชอบ

"ช่องทรู 10 จะมีคอนเทนต์ที่หลากหลาย โดยการผลิตละครนั้นจะเน้นเป็นการจ้างบริษัทผู้จัดรุ่นใหม่ เพื่อผลิตละครให้แก่ทรูฯ โดยแต่ละปีคาดว่าจะใช้งบประมาณ 350 ล้านบาท ซึ่งยังมีละครที่กำลังพิจารณาอีก 10 เรื่อง และอยู่ระหว่างวางแผนว่าจะวางละครให้ออกอากาศทุกวัน หรือเฉพาะแค่ 5 วันเท่านั้น"

อย่างไรก็ตามบริษัทได้วางตำแหน่งทางการตลาด ช่องทรู 10 ให้เป็นช่องรายการวาไรตี้ ฟรีทูแอร์ที่ออกอากาศในทุกแพลตฟอร์มก่อน หวังตอบโจทย์ผู้ชมทุกเพศทุกวัย มีคอนเทนต์ที่หลากหลายทั้งบันเทิง กีฬา ข่าว ภาพยนตร์ และละครที่กลายเป็นไฮไลต์ของช่อง

นอกจากนี้ ในอนาคตยังต่อยอดด้วยการปั้นช่องทรู 10 สำหรับพัฒนาเป็นช่องวาไรตี้ระบบความคมชัดสูง (เอชดี) เพื่อออกอากาศในระบบดิจิทัลทีวี หากบริษัทชนะการประมูลดิจิทัลทีวีที่กำลังจะเริ่มต้นขึ้น ทั้งนี้ บริษัทได้เตรียมงบฯลงทุนสำหรับการประมูลดิจิทัลทีวีรวม 3 ช่องไว้กว่า 2,000 ล้านบาท

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้คอนเทนต์โพรไวเดอร์อย่าง บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) ก็วางช่อง 8 ให้เป็นช่องรายการวาไรตี้ ด้วยการผลิตคอนเทนต์เอง ทั้งหนัง เกมโชว์ ข่าว รวมถึงละคร ซึ่งสร้างกระแสให้ช่อง 8 เป็นที่รู้จักในกลุ่มผู้ชมจำนวนหนึ่ง

เช่นเดียวกับบริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) ที่รีแบรนด์ช่องวัน ให้เป็นช่องรายการวาไรตี้ เมื่อต้นปีที่ผ่านมา ด้วยการระดมยอดฝีมือในเครือแกรมมี่ทั้งหมด มานั่งแท่นผู้บริหารช่องวัน และจุดติดด้วยกระแสละคร "Hormones วัยว้าวุ่น"

"สุรพล พีรพงศ์พิพัฒน์" ผู้อำนวยการฝ่ายขายและการตลาดช่องวัน บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ให้มุมมองว่า ปรากฏการณ์กระแสตอบรับจากซีรีส์ "Hormones วัยว้าวุ่น" ถือเป็นมาตรฐานใหม่ของผู้ผลิตคอนเทนต์ทีวีดาวเทียม ที่ต้องคำนึงถึงคุณภาพที่ดี ถ้าคอนเทนต์ดี ไม่ว่าจะออกอากาศผ่านแพลตฟอร์มไหน ผู้ชมก็จะติดตาม

ขณะที่เจ้าตลาดฟรีทีวี สถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 7 ก็ไม่นิ่งอยู่เฉยๆ กินบุญเก่าแต่กำลังเดินหน้า "บาลานซ์" ระหว่างฐานผู้ชมกลุ่มคนเมืองและต่างจังหวัดในหลากหลายรูปแบบ โดยเฉพาะ "คนเมือง" ที่ยังเป็นจุดอ่อนของค่ายนี้ ไม่ว่าจะเป็นการปรับคอนเทนต์เกมโชว์-วาไรตี้ และละคร โดยวางนโยบายใหม่เปิดโอกาสให้ผู้ผลิตรายใหม่ ๆ เข้ามามากขึ้น เพื่อปิดช่องว่างช่วงชิงฐานผู้ชมกลุ่มคนเมืองมาให้จงได้

สอดรับกับ "สุบัณฑิต สุวรรณนพ" ผู้จัดการฝ่ายผลิตรายการ บริษัท กรุงเทพโทรทัศน์และวิทยุ จำกัด กล่าวว่า หัวใจความสำเร็จของช่อง คือ ความครบครันของคอนเทนต์ที่ตอบโจทย์ทุกความต้องการผู้ชม แต่ต้องยอมรับว่าละคร คือคอนเทนต์ที่อยู่ในช่วงไพรมไทม์ ทำให้แบรนด์สินค้าและเอเยนซี่โฆษณาต่างให้ความสำคัญ

ล่าสุดช่อง 7 ยังเปิดโอกาสให้ผู้ผลิตหน้าใหม่เข้ามาสร้างสีสันให้ช่องมากขึ้น เช่น บริษัท ดูมันดี จำกัด ของ "อัษฎาวุธ เหลืองสุนทร" บริษัท มงคลการละคร จำกัด ของ "ตะวัน จารุจินดา" หรือ "นิรัตติศัย กัลย์จาฤก" ที่แยกออกจากบริษัท กันตนา กรุ๊ป จำกัด มารับผลิตละครเรื่องใหม่ให้แก่ช่อง 7 ด้วย รวมถึงยังมีนักแสดงในสังกัดอีกหลายรายที่เตรียมขึ้นแท่นเป็นผู้จัดละครให้แก่สถานี


ขณะที่สถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 ก็เพิ่มเวลาการออกอากาศของละครช่วงวันศุกร์-เสาร์-อาทิตย์ เพิ่มขึ้นอีก 1 เบรก หรือประมาณ 15 นาทีในครึ่งปีหลังนี้ นั่นก็หมายถึงเม็ดเงินโฆษณาจะเพิ่มขึ้นตามไปด้วย

ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น หากจะเรียกว่า "ละคร" กลายเป็นขุมทรัพย์สำคัญไม่เพียงแต่ฟรีทีวี แต่รวมถึงทีวีดาวเทียม ก็คงไม่ผิดนัก
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่