2 มุมต่างของ 2 ดอกเตอร์…สางปมคลื่น 1800 ซิม (ไม่) ดับ

ยังคงเป็นประเด็นสุดร้อนเป็น Talk of the Town ของสังคมวงกว้างในเวลานี้ กับกรณีสัมปทาน มือถือบนคลื่นความถี่ 1800 MHz ระหว่าง บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ CAT กับบริษัท ทรูมูฟ จำกัด และบริษัทดิจิตอล โฟน จำกัด (ดีพีซี) ที่กำลังเข้าสู่โหมดการนับถอยหลังการสิ้นสุดสัมปทาน วันที่ 15 กันยายน 2556 นี้

แม้คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม(กทค.)ในกสทช. จะยืนยันว่าจะไม่เกิดปัญหาซิมดับ ด้วยการทำคลอดมาตรการเยียวยา เพื่อคุ้มครองผู้ใช้บริการในกรณีการสิ้นสุดสัญญาสัมปทาน ตามประกาศกสทช.ว่าด้วยมาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการในกรณีสิ้นสุดการอนุญาต สัมปทาน หรือสิ้นสุดสัญญา (มาตรการเยียวยา 1800 MHz) เปิดทางให้ผู้ให้บริการรายเดิมให้บริการต่อเนื่องในช่วง “เปลี่ยนผ่าน” ระหว่างรอกระบวนการเปิดประมูลใบอนุญาตใหม่ แต่ก็ยังมีนักวิชาการบางสำนัก เช่น ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(ทีดีอาร์ไอ) บอกว่า มาตรการเยียวยาเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคดังกล่าวเอื้อประโยชน์เอกชนและหมิ่นเหม่ขัดต่อกฎหมาย รัฐธรรมนูญ...ผู้ใช้บริการ 17 ล้านเลขหมายก็เลยต้องลุ้นระทึกเอาเข้าจริง...จะเกิดปัญหา “ซิมดับ” หรือไม่ ?

ในขณะที่ทีดีอาร์ไอออกหน้าต้าน..กทค.แต่ยังมีนักวิชาการอีกกลุ่มที่มองเห็นต่างจากทีดีอาร์ไอ..เช่น ศาสตราจารย์ ดร.ถวิล พึ่งมา อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง(สจล.)

วันนี้สังคมจึงต้องฟังและพิเคราะห์เหตุผลจากนักวิชาการ ที่อยู่กันคนละฝั่ง คิดกันคนและแบบ…แล้วก็ตัดใจเลือกว่าอะไรคือ
คำตอบที่สังคมควรรับ หรืออะไรคือคำตอบที่สังคมคิดว่ามันไม่ใช่....

ประธานทีดีอาร์ไอชี้กสทช.เอื้อเอกชน

ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า การเปิดให้บริการ 4จี ด้วยคลื่น 1800 เมกะเฮิรตซ์ ล่าช้าไปเท่าใด ก็จะทำให้รัฐบาลสูญเสียรายได้ โดยคาดว่า จะมีมูลค่ามากถึง 1.6 แสนล้านบาท การที่กสทช.ได้อนุมัติร่างประกาศกสทช.เรื่อง มาตรการคุ้มครองผู้ให้บริการในกรณีสิ้นสุดการอนุญาตสัมปทาน หรือสัญญาการให้บริหารโทรศัพท์เคลื่อนที่ พ.ศ....(ร่างเยียวยา 1800) ไปเมื่อวันที่ 14 ส.ค.ที่ผ่านมา และลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นที่เรียบร้อยแล้วนั้น ไม่ต่างกับการขยายเวลาสัมปทานคลื่น 1800 เมกะเฮิรตซ์ ระหว่างบริษัท กสท โทรคมนาคม กับบริษัท ทรูมูฟและบริษัท ดิจิตอลโฟนหรือดีพีซี ซึ่งจะหมดอายุสัมปทานในวันที่ 15 ก.ย.นี้ แม้กสทช.จะอ้างว่า เป็นการให้บริการช่วงเปลี่ยนผ่านเยียวยาให้ลูกค้า แต่แท้ที่จริงคือ การให้เอกชนได้สิทธิ์ต่ออายุสัมปทานออกไปอีก 1 ปี

ซึ่งตามอำนาจกสทช.ที่ได้รับตามพ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่กำกับกิจการวิทยุกระจายเสียง กิจการวิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2533 หรือการจัดสรรทรัพยากรนำคลื่นความถี่มาจัดประมูล แต่เมื่อไม่สามารถคืนคลื่นเพื่อจัดสรรด้วยการประมูลได้ทันเวลา ทำให้ประเทศและประชาชนเสียประโยชน์ พร้อมกับระบุว่า หน้าที่ของกสทช.คือ จัดสรรคลื่นใหม่ ต้องมีการลงทุนบริการ 4จี และมีบริการ 4จี ได้ภายในปี 2557 แต่เท่ากับบริการ 2จี ตามสัญญาสัมปทานเดิมยังดำเนินต่อไปอีก 1 ปี ทั้งที่ความจริงกสทช.มีเวลาเตรียมการมากกว่า 1 ปี เพราะกสทช.มีโรดแม็ปอยู่แล้ว จะจัดสรรคลื่นความถี่ใดก่อนหลัง”

ม.ลาดกระบังหนุนกสทช.จัดสรรคลื่น1800ใหม่

“ศ.ดร.ถวิล พึ่งมา” อธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหาร ลาดกระบัง (สจล.) กล่าวถึงประเด็นเดียวกันว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นผลพวงมาจากสัมปทานเดิมที่ กสทช. ไม่สามารถเข้าไปก้าวก่ายหรือล้วงลูกได้ แต่เมื่อ กสทช.ได้เข้ามาทำหน้าที่กำกับดูแลในช่วงการเปลี่ยนผ่าน เมื่อมีปัญหาเกิดขึ้นก็ต้องหาทางแก้ไข ซึ่งโดยปกติการเปลี่ยนผ่าน มี 2 รูปแบบคือ แบบฉับพลัน ซึ่งจะทำได้ต้องมีการเปิดประมูล ใบอนุญาตใหม่ไว้แล้ว กับแบบค่อยเป็นค่อยไปซึ่งต้องใช้เวลา 1-2 ปีในการ
ผ่องถ่ายเครื่องลูกข่ายไปยังเครือข่ายใหม่

แต่เนื่องจากเราไม่สามารถจะดำเนินการจัดประมูลคลื่นดังกล่าวในระหว่างที่ผู้ประกอบการรายเดิมยังให้บริการอยู่กสทช.จึงไม่มีทางเลือกอื่น จึงต้องเลือกแนวทางการเปลี่ยนผ่านแบบค่อยเป็นค่อยไป ต้องรอให้สัญญาสัมปทานเดิมสิ้นสุดลงแล้วจึงจะดำเนินการได้ ซึ่งเมื่อเป็นแบบนี้ กทค.และกสทช.เอง ก็ต้องยอมรับข้อวิพากษ์ต่างๆ ที่จะมีตามมา

ส่วนกรณีที่ บริษัท กสท โทรคมนาคม ยืนยันสามารถจะให้บริการเองได้นั้น เป็นเรื่องที่ทำไม่ได้แน่ เพราะโครงข่ายโทรคมนาคมที่ กสท ได้รับมอบมาเหล่านี้จำเป็นต้องอาศัยคน Operate ที่ต้องมีการลงทุนซอฟต์แวร์ วางระบบบิลลิ่งที่ต้องมีการลงทุนใหม่และใช้เวลาเป็นปีๆ ถึงจะให้บริการได้ อีกทั้งโครงข่ายที่ได้รับมอบมานั้นกว่า 2 ใน 3 เป็นอุปกรณ์ที่กล่าวได้ว่าแทบจะเป็นเศษเหล็กที่ กสท จะต้องเข้ามาจัดระเบียบระบบใหม่ เพราะเป็นอุปกรณ์สื่อสารที่บริษัทเอกชนต้องยกออกมาจากพื้นที่เช่า หรือพื้นที่ของเอกชนซึ่งไม่อยู่ในสัญญาและไม่ได้ส่งมอบมาให้

ที่สำคัญการจะบริหารโครงข่ายมือถือที่มีผู้ใช้บริการมากกว่า 17-18 ล้านเลขหมายนั้น ไม่ใช่เรื่องที่จะทำได้โดยง่าย ไหนจะต้องมีการลงทุนด้านเครื่องมือ วางระบบบิลลิ่ง จัดทำค่าใช้จ่ายทางบัญชีใหม่ยกกระบิ ต้องอาศัยเวลา ในการดำเนินการ ขณะที่ต้นทุนค่าใช้จ่ายในการจัดทำบัญชีใหญ่ระดับนี้ย่อมมีต้นทุน มากกว่า 50% ของรายได้แน่นอน ดังนั้น แนวทางที่ดีที่สุดในเวลานี้ จึงหนีไม่พ้นการให้ผู้ประกอบการรายเก่า ที่ให้บริการอยู่แล้ว ให้บริการต่อเนื่อง ต่อไปเพราะน่าจะมีต้นทุนต่ำสุด เพียงแต่อาจต้องเจรจา ในเรื่องของค่าบริหารโครงข่ายเดิมลงมา

หากจะปล่อยให้เกิดสุญญากาศ รอเวลาให้ กสทช.ประมูลเพื่อออกใบอนุญาตรายใหม่ที่ต้องใช้เวลาเป็นปีๆ แล้ว ผลกระทบที่เกิดขึ้นไม่เพียงจะกระทบกับประชาชนผู้ใช้บริการเท่านั้น ประเทศเองก็เสียหายเสียประโยชน์ไปด้วย เฉพาะค่าเสียโอกาส หากคิดเฉพาะค่าเสียโอกาสหากไม่สามารถให้บริการได้อย่างต่อเนื่อง แค่ 18 ล้านเลขหมายที่มี หากแต่ละเลขหมายมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 1,000 บาท/เดือนก็สูญไปกว่า 18,000 บาทต่อเดือนเข้าไปแล้ว รายได้ที่จะเข้ารัฐที่ต้องสูญไปจะมากมายมหาศาลแค่ไหน....

ทั้งหมดเป็นการเปรียบเทียบมุมมองของ “สองดอกเตอร์” ต่อกรณีคลื่นสัมปทาน 1800 MHZ จะสิ้นสุดสัญญาสัมปทานในวันที่ 15 ก.ย.2556 นี้...

แต่ถึงตรงนี้ผมว่าสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญคือ....การรักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนเป็นสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกสทช.จะต้องกล้าทุบโต๊ะ เพื่อจะเดินหน้านำคลื่น 1800 MHz ไปจัดสรรใหม่ โดยการเปิดประมูล เพื่อให้มีการแข่งขันอย่างเสรี และนำรายได้ทั้งหมดส่งเข้ารัฐ และที่สำคัญงานนี้กระแสสังคมส่วนใหญ่ต่างสนับสนุนให้กสทช.เดินหน้าปิดตำนาน “เสือนอนกิน” ขององค์กรรัฐในธุรกิจสื่อสารเหมือนในอดีตที่ผ่านมา!

ที่มา : http://www.naewna.com/business/68081
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่