สารจาก "อันวาร์" สันติภาพภาคใต้

กระทู้ข่าว
นที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2556 เวลา 10:44 น.  ข่าวสดออนไลน์


สารจาก"อันวาร์" สันติภาพภาคใต้

ธิติ มีแต้ม





เวทีพูดคุยสันติภาพไฟใต้ระหว่างรัฐบาลไทยกับบีอาร์เอ็น ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย เริ่มต้นอย่างเป็นการตั้งแต่วันที่ 28 มี.ค. ที่ผ่านมา

ตลอดเส้นทางของระยะเวลา 5 เดือนที่ผ่านมา มีทั้งอุปสรรคและราบรื่น เต็มไปด้วยความหวังและความกังวล ขณะที่มีบางคนเปรียบว่า "ท่าม กลางเสียงปืน เสียงกระพือของพิราบย่อมต้องดังกว่า"

หลังการพูดคุยสันติภาพที่มาเลเซียครั้งที่ 2 วันที่ 29 เม.ย. หลังจากนั้นอีก 2 วัน ในวันที่ 1 พ.ค. ชื่อของ "มูฮาหมัดอัณวัร หะยีเต๊ะ" หนุ่มมุสลิมวัย 29 ปี ชาวอำเภอยะรัง จ.ปัตตานี หรือที่กลุ่มเพื่อนเรียกสั้นๆ ว่า "อันวาร์" ถูกพูดกันอย่างกว้างขวางในกลุ่มนักกิจกรรมด้านสันติภาพในภาคใต้ เมื่อศาลฎีกามีคำพิพากษาให้จำคุก 12 ปี พร้อมกับพวกอีก 9 คน ในความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้าย อั้งยี่ ซ่องโจร

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 17 ส.ค. 2548 ในช่วงที่ไฟใต้คุโชนใหม่ๆ ขณะที่ยังเป็นนักศึกษาชั้นปีที่ 2 คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา อันวาร์ถูกเจ้าหน้าที่จับกุม และถูกกล่าวหาว่าเกี่ยวข้องกับกลุ่มก่อความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้

อันวาร์ถูกคุมขังอยู่ 1 ปี 2 เดือน กระทั่งวันที่ 25 ก.ค. 2550 ศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุก 12 ปี แต่ได้รับการประกันตัว ในระหว่างอุทธรณ์ ต่อมาวันที่ 16 มิ.ย.2552 ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้อง และอีก 4 ปีต่อมา ศาลฎีกาพิพากษายืนตามศาลชั้นต้น

"อีก 12 ปี ข้าจะออกมาเห็นผลงานของพวกท่าน อดทนไว้นะ ขอให้สำเร็จ" เป็นประโยคสุดท้ายที่อันวาร์กล่าวกับเพื่อนนักกิจกรรมที่อยู่ร่วมฟังคำพิพาษาของศาลฎีกา ก่อนก้าวขึ้นรถเรือนจำ

วงการนักเคลื่อนไหวสันติภาพในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ต่างสะเทือนใจและหดหู่กับชะตากรรมอันวาร์ เพราะเขาเป็นคนหนึ่งในพื้นที่ที่ผลักดันประเด็นสันติภาพมาตลอดกว่า 8 ปี

ทั้งในนามสื่ออิสระที่ร่วมปลุกปั้นชื่อ "บุหงารายานิวส์" หมายถึงดอกชบา ดอกไม้ประจำดินแดนมลายูปาตานี ซึ่งแปลความหมายได้ว่า "สันติภาพจะเบ่งบานดั่งดอกชบา"

และ "บุหงารายาบุ๊ก" ที่อันวาร์กับเพื่อนร่วมกันก่อตั้งผลิตการ์ตูนนิทานสำหรับเด็กเป็นภาษามลายู การออกแบบโปสเตอร์รณรงค์เขตปลอดอาวุธ และการยกเลิกกฎหมายความมั่นคง ที่แฝงไปด้วยอารมณ์ขัน รวมถึงร้านบุหงา ชาชัก และกาแฟ ที่เปิดขายหน้าบ้านตัวเองเพื่อเป็นพื้นที่พบปะของนักกิจกรรม

กิจกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับชะตากรรมของอันวาร์ เริ่มแพร่กระจายทั้งในโลกออนไลน์และตามเวทีสาธารณะอย่างรวดเร็ว มีการเปิด เฟซบุ๊กในชื่อ "เพื่อนอันวาร์-Save Anwar" และแชร์กันเป็นจำนวนมาก ข้อความดังกล่าวไปอยู่ทั้งในรถไฟฟ้า ห้องเรียน ป้ายรถเมล์ ร้านหนังสือ ร้านกาแฟ ห้างสรรพสินค้า มหาวิทยาลัย และสวนสาธารณะ

ไปไกลกระทั่งกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ

แม้แต่สำนักข่าวอาหรับชื่อดังอย่าง "อัลจาซีร่า" ก็เดินทางมาทำข่าวเกี่ยวกับอันวาร์ และนักโทษคดีความมั่นคง เพื่อรายงานถึงกระบวนการสันติภาพที่กำลังดำเนินอยู่นี้

ฤดูถือศีลอด หรือเดือนรอมฎอนเพิ่งผ่านพ้นไป อันวาร์ หนุ่มผิวคล้ำดวงตาคมเข้มตามเอกลักษณ์ชาวมลายู เปิดใจครั้งแรกผ่านผู้ที่ไปเยี่ยมในเรือนจำจังหวัดปัตตานี ที่ที่เคยถูกจองจำมาแล้วเมื่อ 8 ปีก่อน ซึ่งอันวาร์คิดว่าการไร้อิสรภาพในวันนั้นทำให้ตัวเองต้องต่อสู้เพื่อสันติภาพ

อันวาร์เล่าย้อนไปก่อนหน้าจะถูกคุมขังครั้งล่าสุดว่า กว่า 6 ปีที่ผ่านมา หลังจากเคยอยู่ในเรือนจำถึงปีกว่า ตัวเองได้มีโอกาสเดินทางเข้าร่วมกิจกรรมด้านสื่อเพื่อสันติภาพตามที่ต่างๆ ทั้งในไทยและต่างประเทศ การได้ไปกัมพูชาทำให้ได้เรียนรู้การก้าวผ่านความขัดแย้งที่ชาวกัมพูชาเคยบาดเจ็บล้มตายในสมัยเขมรแดงก่อสงครามไว้ ที่อินเดียทำให้เห็นความแตกต่างหลากหลายทางเชื้อชาติศาสนา แต่ทุกที่จะมีคนที่ไม่ได้รับความยุติธรรมอยู่เสมอ

ปัจจุบัน อีกไม่กี่วันก็จะครบ 4 เดือนที่อันวาร์ถูกจองจำ เขาเล่าว่าปรับตัวได้เร็ว เพราะเข้ามาเป็นรอบที่ 2 แล้ว รู้สึกเวลาผ่านไปเร็วมาก สงสารครอบครัวที่เกี่ยวข้องกับคดีความมั่นคง แต่ต้องรับสภาพการณ์ที่กำหนดโดย "อัลลอฮ์" เราต้องตระหนักว่าเป้าหมายที่ "อัลลอฮ์" เลือกให้ในสภาวการณ์เช่นนี้แท้จริงคืออะไร ทุกวันนี้มีกำลังใจและความศรัทธา จากคำสอนของท่านศาสดา รวมถึงกำลังใจจากครอบครัว พ่อแม่ และภรรยา

"ในฐานะที่เลือกใช้สันติวิธี แม้จะมีสถานะเป็นนักโทษชาย แต่ไม่ได้ส่งผลต่อแนวคิดสันติวิธี ตอนอยู่ข้างนอก ผมใช้แป้นพิมพ์ในการขับเคลื่อนประเด็นสันติภาพ เมื่อถูกบังคับให้อยู่ข้างใน ผมยังมีดินสอ กระดาษ เขียนบทกวีเป็นเครื่องมือกระจายแนวคิดสันติวิธีออกไป" อันวาร์กล่าวอย่างมุ่งมั่น และเล่าถึงการได้คุยกับผู้ต้องขังคดีความมั่นคงรายอื่นๆ ว่า

"เวลานี้มีความคิดเห็นที่แตกต่างกันบ้าง อาจเพราะแต่ละคนมีข้อมูลที่แตกต่างกัน โดยเฉพาะประเด็นการพูดคุยสันติภาพ บางคนยังคิดว่าเป็นภาพยนตร์ที่ถูกจัดฉากโดยรัฐไทย พวกเขาไม่มั่นใจว่ารัฐไทยจะจริงใจในการแก้ปัญหานักโทษคดีความมั่นคง แต่แนวคิดที่คล้ายกันระหว่างผมกับคนอื่นๆ คือ การมอบอำนาจการตัดสินใจในการสร้างสันติภาพให้เป็นหน้าที่ของประชาชนชาวปาตานี"

อันวาร์เล่าถึงเดือนรอมฎอนที่ผ่านมาว่า แม้จะมีความสะดวกน้อย แต่เรือนจำก็เตรียมความพร้อมได้อย่างดี เราได้รับของบริจาคจากหน่วยงานทั้งภาครัฐ เอกชน และภาคประชาชนในพื้นที่เป็นจำนวนมาก มีเวลาประกอบศาสนกิจมากกว่าอยู่ข้างนอก พวกเราทำเต็มที่ เพราะเป็นเดือนที่อัลลอฮ์จะเปิดรับพรจากบ่าวของพระองค์

โดยเฉพาะพรของผู้ที่ถูกทรมาน หรือผู้ที่ได้รับความอยุติธรรม สิ่งที่พวกเขาปรารถนาตลอดทั้งเดือนรอมฎอนที่ผ่านมา คือความยุติธรรมและสันติภาพบนแผ่นดินปาตานี

"ตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมา การรับรู้ข่าวสารใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ของคนเมืองหลวง คือความรุนแรงอย่างเดียว พวกเขาเข้าใจว่าทุกพื้นที่ใน 3 จังหวัดมีแต่ความรุนแรง เกือบ 10 ปี กว่าสื่อมวลชนกระแสหลักจะนำเสนอ มุมอื่นๆ หรือภาพเชิงบวก แต่ผมคิดว่าไม่ใช่เฉพาะคน 3 จังหวัดเท่านั้นที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรง คนส่วนกลางก็เป็นเหยื่อของความรุนแรงจากการเสพสื่อที่สร้างความกลัว ความหวาดระแวง และอคติ สิ่งเหล่านี้เป็นปัญหาเรื้อรัง" อันวาร์เชื่อเช่นกัน

พร้อมทั้งเสนอมุมมองอีกว่า สิ่งที่ประชาชน 3 จังหวัดเรียกร้องมาตลอด คือรัฐไทยเอาทหารที่ไม่มีความเข้าใจในพื้นที่ ไม่เข้าใจวัฒนธรรมของคนในพื้นที่ เข้ามาแก้ปัญหา แต่เราไม่ได้หวังให้ทหารชั้นผู้น้อยต้องปรับตัว ทางที่ง่ายที่สุดคือรัฐไทยควรถอนกำลังกลับไปตามความต้องการของประชาชน คงไม่มีใครอยากให้ทหารตั้งฐานทัพในรั้วบ้านของตัวเอง

อันวาร์เล่าอีกว่า ปัจจุบันรับรู้ความเคลื่อนไหวข้างนอกผ่านการเล่าของญาติเวลามาเยี่ยม โดยเฉพาะภรรยาและเพื่อนในสายภาคประชาสังคม สื่อมวลชนที่มาเยี่ยม

อีกทั้งก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 21 มิ.ย. เนื่องในวันสันติภาพสากล อันวาร์เขียนจดหมายจากเรือนจำส่งถึง "แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล" หรือองค์การนิรโทษกรรมสากล เพื่อเรียกร้องว่าอยากให้รัฐบาลไทยนิรโทษกรรมผู้ต้องขังคดีความมั่นคง ที่เป็นผลมาจากใช้กฎหมายพิเศษของเจ้าหน้าที่รัฐ ทำให้มีการปิดล้อมจับกุม เพื่อให้กระบวนการสร้างสันติภาพดำเนินต่อไปได้อย่างราบรื่น

ล่าสุดอันวาร์เตรียมยื่นถวายฎีกาเพื่อขอพระราชทานอภัยโทษ มีการประกาศในเฟซบุ๊ก "เพื่อนอันวาร์-Save Anwar" เพื่อขอความช่วยเหลือจากผู้ที่รู้จักอันวาร์ให้ช่วยรับรองความประพฤติ ว่าเป็นผู้ที่มีสำนึกในสันติภาพ ไม่ได้สนับสนุน หรือมีส่วนเกี่ยวข้องกับการก่อความรุนแรง เพื่อแนบเอกสารการขออภัยโทษต่อไป

ผู้ที่ขับเคลื่อนประสานงานเป็นหลัก คือ "รอมมือละห์ แซเยะ" ภรรยาของอันวาร์ ที่เป็นนักกิจกรรมในกลุ่มเยาวชนใจอาสา นราธิวาส

ภรรยาของอันวาร์ บอกว่า อันวาร์ หรือ "อัณวัร" ในภาษาอาหรับหมายถึง แสงสว่าง ส่วน "รอมมือละห์" หมายถึง เม็ดทราย ชีวิตและอิสรภาพ ก็เหมือนดั่งแสงสว่างที่ทอแสงประกายในเม็ดทราย

โดยเธอเล่าความในใจว่า มีบางครั้งที่กังวลว่าอันวาร์น่าจะอยู่ข้างในจะปลอดภัยกว่า เพราะช่วงนี้ทราบว่าหลายคนที่มีคดีความ มั่นคง เมื่อถูกยกฟ้อง หรือถูกปล่อยตัวออกมา มักถูกตามล่าได้รับอันตราย โดยไม่รู้ว่าฝ่ายไหนกระทำ แต่หวังว่าความรุนแรงในบ้านเราจะหมดไป ด้วยความศรัทธาในพระเจ้าที่ทำให้เราใช้ชีวิตอย่างปกติที่สุด


http://www.khaosod.co.th/view_newsonline.php?newsid=TVRNM056TXhOVGswTnc9PQ%3D%3D&sectionid
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่