น่าเห็นใจ!! ประชาชน-ข้าราชการ แค่หนูทดลองยา

กระทู้สนทนา
‘จะหายขาดก็ไม่หาย จะตายก็รอมร่อเต็มทน’ ต้นเหตุจากหลักประกันสุขภาพของประชาชนชาวไทย จั่วหัวแบบนี้คงไม่วายสาวไส้ระบบงานสาธารณสุขของไทยที่ผู้คลุกคลี่ในแวดวงต่างลงมติไปในทิศทางเดียวกันว่า ’เละไม่เป็นท่า’

“หมอขอยกตัวอย่างเหมือนกับว่าประชาชนอยากจะนั่งเครื่องบิน อยากจะนั่งรถไฟความเร็วสูง แต่รัฐบาลไม่ให้นั่ง รัฐบาลให้นั่งรถไฟชั้น 3 แต่ว่ารถไฟชั้น 3 ก็พาเราไปถึงที่หมายได้แต่ ยาชั้น 3 มันไม่พาเราไปถึงที่หมายนะคะ อันนี้เป็นสิ่งที่หมอทั้งหลายอึดอัดคับข้องใจ หมอที่รักษาคนไข้นะคะ” คำกล่าวของ พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา ประธานสหพันธ์ผู้ปฏิบัติงานด้านการแพทย์และสาธารณสุขแห่งประเทศไทย

แม้ประเทศประชาชนคนไทยจะได้รับสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือที่คุ้นกันในชื่อ 30 บาทรักษาทุกโรค ก็ใช่ว่าคุณภาพชีวิตของคนไทยจะดีเลิศ เบื้องลึกแล้วสวัสดิการด้านสาธารณะสุขที่ประชาชนแทบไม่ต้องควักเงินจ่าย กลับถูกริดรอนสิทธิในการรักษาพยาบาล โดยเฉพาะในเรื่องของ ‘ยา’ ที่เจาะจงนำมารักษาประชาชน ในเรื่องนี้คงไม่ต้องสาธายายให้มาความเพราะเชื่อว่าหลายท่านคงรับรู้ถึงรูปแบบหลักประกันนี้แล้ว

เป็นที่รู้กันแต่ไหนแต่ไรว่าราชการแม้จะเงินเดือน แต่ในเรื่องสวัสดิการรักษาพยาบาลนั้นได้รับการดูแลเต็มที่จากภาครัฐ นอกจากดูแลตัวท่านเองยังเหมารวมไปจนถึงพ่อแม่ คู่สมรส และบุตร สบายใจได้เลยว่าหากเจ็บไข้ได้ป่วยอย่างน้อยๆ เรื่องค่าใช้จ่ายในการรักษาก็ไม่ต้องเป็นกังวล แต่! ปัจุบันไม่ได้เป็นเช่นนั้นเสียแล้ว สิทธิในเรื่องการรักษาพยาบาลของราชการแม้ยังมีอยู่ หารู้ไม่..สิทธิการรักษาพยาบาลที่พึงได้ถูกริดรอนด้วยการตัดสิทธิ์เบิกยาในการรักษาพยาบาลข้าราชการและประชาชน โดย ‘กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง’ เป็นที่เรียบร้อย

เท่ากับว่า ประสิทธิภาพในรับการรักษาโดยเฉพาะในเรื่องของตัวยาที่หันมาใช้ยาในบัญชี งดยานอกบัญชี (จำพวกยาต่างประเทศ ยาคุณภาพดี ยาราคาแพง) เพื่อลดภาระค่าใช้จ่าย และปฏิเสธไม่ได้เลยว่ายาในส่วนนี้ที่แพทย์จ่ายให้บางตัวยาด้อยคุณภาพเสียเหลือเกิน แต่ก็ต้องจำจ่ายเพราะมีคำสั่งจากผู้ใหญ่ลงมา

ทีมข่าวฯ ได้รับข้อมูลมาว่าหากแพทย์สั่งยานอกบัญชี ก็เสียค่าใช้จ่ายเอาเองก็แล้วกัน หรือหากคนไข้ไม่หายจากอาการเจ็บป่วย ก็ไปฟ้องร้องทางกฏหมายสู้คดีต่อไป

พญ.เชิดชู กล่าวว่า ในปัจจุบันระบบการแพทย์ และยา มีการพัฒนาอย่างก้าวหน้า เอื้อต่อการรักษาทำให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ยาวนานขึ้น แต่ปัญหาในเรื่องการตัดสิทธิการเบิกจ่ายของภาครัฐในหลักประกันสุขภาพต่างๆ ที่เป็นสวัสดิการที่ประชาชนพึ่งได้รับกลับกลายเป็นการซ้ำเติมสุขภาพประชน

“การมากำหนดยาแบบนี้ให้เราได้ใช้ยาเก่าๆ เดิมๆ มันทำให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยแย่ลง ที่สมควรหายก็ไม่หาย จะตายก็ไม่ตายเป็นโรคเรื้อรัง คุณภาพชีวิตไม่ดี เพราะฉะนั้นระบบการบริการสาธารณะสุขของเรามันมาผิดทางค่ะ ในแง่ที่ว่าเราต้องการให้ประชาชนรับบริการอย่างทั่วถึงแล้วก็อ้างความเป็นธรรมไม่ให้มีการเหลื่อมล้ำ แต่ว่างบประมาณที่รัฐบาลจัดให้มันไม่เพียงพอ เราไม่ต้องการฟุ้มเฟือย เราต้องการเพียงแต่ว่าให้มันพอรักษาคุณภาพมาตรฐานใหม่ได้ได้ แต่ว่ารัฐบาลมาจำกัดยา จำกัดขอบเขตการรักษา แล้วมาบอกว่าให้รักษาได้แค่นี้แค่นั้นมันไม่ใช่เฉพาะข้าราชการ ประชาชนทั่วไปก็เช่นเดียวกัน”

พญ.เชิดชู ขยายภาพการเปลี่ยนแปลงรูปแบบสิทธิการรักษาพยาบาลของข้าราชการที่คุณภาพเทียบเคียงสวัสดิการทางสาธารณะสุขที่คนได้รับ

“คือเมื่อก่อนข้าราชการ เมื่อหมอที่ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านเห็นว่าควรใช้ยาใหม่เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้ป่วยเค้าก็สามารถใช้ได้ แต่เมื่อใช้แล้วมีกลุ่มคนอยู่กลุ่มหนึ่ง กลุ่มที่เรียกว่า ‘สำนักวิจัยสาธารณะสุข’ เค้าก็จะมาอ้างงานวิจัยว่า กลุ่มข้าราชการมี 5 ล้านคน ทำไมใช้งบประมาณเปลืองกว่าบัตรทองซึ่งมีกว่า 50 ล้านคน? แต่ทีนี้เค้าไมได้วิจัยลงลึกในรายละเอียดว่ากลุ่มข้าราชการเนี้ยผู้ที่มีสิทธิมีทั้ง เด็ก ที่เป็นลูกของข้าราชการ เป็นทั้งคนแก่ พ่อแม่ของข้าราชการ รวมทั้งข้าราชการบำนาญ เพราะฉะนั้น 2 วัยนี้จะมีการเจ็บป่วยมากกว่าวัยอื่น แล้วสามารถใช้ยาที่มีคุณภาพมาตรฐานได้ทำให้มีชีวิตยืนยาว แล้วก็มีคุณภาพชีวิตดี

“เค้าไปมองเปรียบเทียบกับประชาชนในกลุ่มหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งประชาชนกลุ่มนี้ถูกจำกัดสิทธิในการได้รับยา ก็คือให้ใช้ได้แต่เฉพาะบัญชียาหลัก ซึ่งเป็นยาที่ในประเทศด้อยพัฒนาเค้าเรียกว่าเป็นยาจำเป็นที่จะขาดจากบัญชียาไม่ได้ ประเทศของคุณจะจนแค่ไหนต้องมียาเหล่านี้ไว้รักษาประชาชนของตน”

อย่างไรก็ตาม พญ.เชิดชู อธิบายถึงโครงการ 30 บาทฯ ว่าเป็นโครงการที่แนวคิดดี “30 บาท เป็นระบบที่พอใช้ได้ ในแง่ที่ทำให้ประชาชนคิดว่าเรามีสิทธิมารับการรักษา แต่ประชาชนไม่รู้ว่าสิทธิการรักษานั้นถูกจำกัดเป็นมาตรฐานต่ำๆ

กล่าวย้ำได้เต็มปากเต็มคำเลยว่า สถานการณ์ทางสาธารณะสุขที่ประชาชนคนไทยกำลังเผชิญเข้าข่ายละเมิดสิทธิประชาชน พญ.เชิดชู กล่าวเพิ่มเติม

“อันที่หนึ่ง ละเมิดสิทธิประชาชน อันที่สองละเมิดสิทธิผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ละเมิดสิทธิอย่างไร..หมอเนี้ยได้รับการอบรมสั่งสอนมาว่าให้ใช้ ยาที่เหมาะสมที่สุด เราเรียกว่า drug of choice ก็คือยาที่เราเลือก เพราะฉะนั้นเป็นโรค a อาจะมียาให้เลือก a b c d f หมอที่เชี่ยวชษาญรักษาโรคเค้าจะรู้ทันทีว่ายาที่ drug of choice ให้ใช้ยา a ไปเลยดีที่สุด

“แต่กรมบัญชีกลางสั่งว่าคุณต้องลองยาที่ถูกที่สุด ไม่หาย..เปลี่ยน..ไม่หาย..เปลี่ยน เรียกว่าเป็นหนูทดลองโดยแท้เลย เป็นหนูทดลองโดยผู้ที่ไม่มีความรู้ทางการแพทย์แล้วประชาชนไม่รู้ เพราะว่ากรมบัญชีกลางเค้าสั่งตรงไปที่โรงพยาบาลและแพทย์ในโรงพยาบาล แพทย์จะเป็นผู้รู้ว่า หนึ่ง-ประชาชนถูกละเมิดสิทธิ สอง-ตัวเองถูกละเมิดสิทธิ”

ข่าวและภาพโดย: manager.co.th
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่