"ทริส"ชี้บจ.ก่อหนี้เพิ่มเท่าตัว

ปัญหาการเมือง และการขาดแคลนแรงงาน เป็นปัจจัยที่ดูมีความเสี่ยงกับธุรกิจมากขึ้น

    "ทริส" เผยความเข้มแข็งบริษัทจดทะเบียนไทยลดลง หลังก่อหนี้เพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด อัตราส่วนหนี้สินต่อทุนพุ่งไม่สอดคล้องกับการเติบโต มีความเสี่ยงล้มหากเศรษฐกิจชะงักหรือถดถอยรุนแรง แนะมองทางเลือกเพิ่มทุน-จ่ายปันผลน้อยลง เพื่อบริหารฐานะการเงินให้แข็งแกร่ง รับภาวะเศรษฐกิจผันผวน

    นายสันติ กีระนันทน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทริส เรทติ้ง (TRIS) ให้สัมภาษณ์ "กรุงเทพธุรกิจ" ว่า จากการดูโครงสร้างฐานะทางการเงินของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ที่เป็นลูกค้าของบริษัทกว่า 133 บริษัท พบว่า ความเข้มแข็งของฐานะการเงินลดลง จากการก่อหนี้ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่วนมากเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด หลายบริษัทก่อหนี้ไม่สอดคล้องกับการเติบโตของบริษัท ทำให้เกิดความเสี่ยงที่จะล้ม หากเศรษฐกิจถดถอยรุนแรง หรือชะงักอย่างกะทันหัน

    ทั้งเมื่อเทียบกับปี 2550 ซึ่งเป็นช่วงก่อนเกิดวิกฤติการเงินในสหรัฐ กับข้อมูลล่าสุด ณ ไตรมาส 1 ปีนี้ พบว่า บริษัทที่มีอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน หรือดีอี (DE)ในระดับต่ำลดลง โดยสัดส่วนบริษัทที่มีดีอีต่ำกว่า 1 เท่า จากเดิมมีถึง 70% ลดลงมาอยู่ที่ระดับ 55% ขณะที่บริษัทที่มีดีอีตั้งแต่ 1-1.5 เท่า เพิ่มขึ้นจาก 9% เพิ่มขึ้นเป็น 24% บริษัทที่มีดีอีตั้งแต่ 1.5-2 เท่า เพิ่มขึ้นจาก 7% เป็น 15% ขณะที่บริษัทที่มีดีอีตั้งแต่ 2 เท่าขึ้นไป ลดลงจาก 13% เหลือ 7%

    "ฐานะการเงินของบริษัทเหล่านี้ไม่ถึงกับอ่อนแอ แต่ความเข้มแข็งลดลง จากการก่อหนี้ที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทำให้เราไม่สบายใจ แม้ว่าจะเป็นการก่อหนี้เพื่อลงทุน แต่เป็นการลงทุนแบบอะเกรสซีฟ (Aggressive) เพราะความสำเร็จที่ผ่านมา ทำให้ความระมัดระวังในการลงทุนน้อยลง ใช้การกู้แบบลงทุนมากกว่ากำไรสะสม และการเพิ่มทุน"

แนะเพิ่มทุน-ลดปันผลเพิ่มสภาพคล่อง
    เขากล่าวต่อว่า การลงทุนเพื่อสร้างการเติบโตสามารถทำได้ แต่ต้องดูโครงสร้างทางธุรกิจ หรือ บิซิเนส โมเดล การเข้ามาของรายได้ การเติบโตต้องอยู่บนพื้นฐานฐานะการเงินที่แข็งแกร่ง และหากก่อหนี้ ก็ต้องมีแผนงานในการลดหนี้ที่ชัดเจน ซึ่งผู้ประกอบการอาจจะเลือกการจ่ายเงินปันผลที่น้อยลง เพื่อสะสมกำไรในการลงทุน หรือเลือกช่องทางการระดมทุน เช่น เพิ่มทุน แทนการก่อหนี้ เพื่อรักษาฐานะการเงินให้เข้มแข็ง

    โดยที่มีดีอีสูงกว่า 50% ขึ้นไป จำเป็นต้องเป็นผู้ประกอบการที่มีความสามารถในการแข่งขันสูง รวมทั้งมีระดับของความคล่องตัวทางการเงินมาก และมีความสัมพันธ์กับสถาบันการเงิน และเจ้าหนี้ที่ดี เพื่อเป็นกลไกในการป้องกันในกรณีที่การขยายตัวทางเศรษฐกิจต่ำกว่าที่คาดไว้

ทิศทางอันดับเครดิตเรทติ้งครึ่งปีหลัง
    ภาพรวมอันดับเครดิตเรทติ้งในปีนี้ ถือว่าอยู่ระดับกลาง มีทั้งที่ปรับลดลง และปรับเพิ่มขึ้น โดยหลายธุรกิจมีแนวโน้มเปลี่ยนแปลงตามทิศทางของเศรษฐกิจในประเทศ ซึ่งปีนี้คงชะลอตัวจากปีที่ผ่านมา อัตราการขยายตัวที่หน่วยงานรัฐและเอกชนมองที่ระดับ 4-5% ถือว่ายังไม่น่าห่วงสำหรับธุรกิจที่เป็นลูกค้าของทริสโดยส่วนใหญ่ เนื่องจากธุรกิจที่ทริสจัดอันดับเครดิตในปัจจุบัน ส่วนมากได้รับอานิสงส์จากมาตรการประชานิยมของรัฐบาลหลายประการ ทั้งรถยนต์คันแรก การลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคล

    นอกจากนี้การเดินหน้าโครงการสาธารณูปโภคของรัฐบาลหลายโครงการ ทำให้อนาคตของธุรกิจรับเหมาก่อสร้างดูสดใส ในขณะที่ราคาอุปกรณ์ก่อสร้างยังไม่อยู่ในระดับสูงมาก แต่ก็มีปัญหาการขาดแคลนแรงงานมากระทบ

    "ผู้ประกอบการที่มีความเสี่ยงต่อการถูกปรับอันดับเครดิตในปี 2556 มีจำนวนน้อย จากแนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจไทยที่ยังเติบโตอยู่ แม้ว่าจะปรับฐานลดลงจากที่มีการคาดการณ์"

จับตากลุ่มส่งออกขั้นพื้นฐาน-อสังหาฯ
    ในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2556 ว่า กลุ่มธุรกิจที่มีความเสี่ยงมากกว่ากลุ่มอื่น และต้องจับตาดูอย่างใกล้ชิด ในช่วงครึ่งหลังของปี 2556 คือ กลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการส่งออกสินค้าขั้นพื้นฐาน เช่น ปิโตรเคมี และ สินค้าเกษตร อิเล็กทรอนิกส์ ที่ไม่มีการสร้างมูลค่าเพิ่มในผลิตภัณฑ์ โดยได้รับแรงกดดันจากการแข่งขันของประเทศเกิดใหม่ในอาเซียน เช่น กัมพูชา ลาว พม่า และเวียดนาม ซึ่งมีค่าครองชีพต่ำกว่าไทยมาก

    นอกจากนี้ยังมีกลุ่มที่พึ่งพาแรงงานจำนวนมาก เช่น กลุ่มรับเหมาก่อสร้างขนาดกลางและขนาดเล็ก จากปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ซึ่งเริ่มมีความรุนแรงมากขึ้น หลังพม่ามีการเปิดประเทศ ทำให้แรงงานส่วนใหญ่กลับประเทศ ซึ่งลูกค้าในกลุ่มอสังหาริมทรัพย์หลายราย ต้องแก้ปัญหาด้วยการเข้าไปติดต่อสถานทูตประเทศเพื่อนบ้านโดยตรง ในการจัดหาแรงงานให้ แม้ว่าจะต้องจ่ายแพงขึ้นก็ตาม

    สำหรับกลุ่มอสังหาริมทรัพย์นั้น เป็นกลุ่มที่ยังต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดเหมือนเดิม ซึ่งเป็นกลุ่มที่ไม่เคยไว้ใจ เพราะแต่ละปีไม่เคยคาดการณ์สถานการณ์ถูก และปีนี้ยังเป็นปีที่กลุ่มอสังหาฯลงทุนเปิดโครงการใหม่จำนวนมาก จากความต้องการของลูกค้า โดยเฉพาะโครงการที่มีแบรนด์ที่ขายดีและเร็ว ทำให้กลุ่มนี้มีการก่อหนี้ลงทุนมาก บางบริษัทอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (ดีอี)เกิน 2 เท่า

"การเมือง-แรงงานขาด"เป็นปัจจัยเสี่ยง
    ส่วนปัจจัยเสี่ยงในช่วงครึ่งปีหลังของนี้ น้ำหนักจะอยู่ที่ปัจจัยในประเทศเป็นหลัก ทั้งสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่มีการปรับลดคาดการณ์การเติบโตลดลง ล่าสุดธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ปรับลดคาดการณ์ปีนี้ลงถึง 0.9% ซึ่งนับว่าสูงมาก นอกจากนี้ยังมีปัญหาทางการเมืองที่มีความตึงเครียดมากขึ้น โดยให้น้ำหนักปัจจัยในประเทศ 55- 65% และต่างประเทศ 45-35% จากช่วงก่อนหน้าที่ปัจจัยเสี่ยงจะอยู่ที่ต่างประเทศมากกว่า

    "ปัญหาการเมือง และการขาดแคลนแรงงาน เป็นปัจจัยที่ดูมีความเสี่ยงกับธุรกิจมากขึ้น จากการออกไปพบปะผู้บริหารหลายบริษัท พูดตรงกันว่า ปัญหาแรงงานซีเรียสขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะแรงงานขั้นต่ำ ยิ่งมีการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ในปี 2558 ทำให้กังวลว่าจะเกิดการย้ายฐานของแรงงานมีฝีมือ รัฐบาลจึงควรหาทางแก้ไขเรื่องนี้อย่างเร่งด่วน ส่วนการเมือง เป็นเรื่องความเชื่อมั่น และความไม่ไว้วางใจ แม้ว่าจะมีคนพูดถึงเรื่องยุบสภาไม่มาก แต่คนที่คิดเรื่องนี้ก็มีไม่น้อย"

    สำหรับความเสี่ยงจากปัจจัยภายนอก คือ การอ่อนตัวลงของเศรษฐกิจจีน และความเปราะบางของเศรษฐกิจในยุโรป และสหรัฐอเมริกา ทำให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ ในตลาดโลกลดลง ทั้งในกลุ่มแร่ (เงิน ทอง ถ่านหิน เหล็ก ยางพารา) ราคาสินค้าเกษตรที่ไม่ได้แปรรูป และอิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ ซึ่งกระทบต่อผลประกอบการของผู้ประกอบธุรกิจที่เกี่ยวข้อง ขณะที่การลดมาตรการคิวอีของสหรัฐมีผลต่อภาคอุตสาหกรรมที่แท้จริงน้อย    

ที่มา:กรุงเทพธุรกิจ

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่