“ปลัดวิฑูรย์” สั่งสถาบันก่อสร้างฯ เตรียมยกแผง อุตสาหกรรมก่อสร้าง 5 ด้านรับการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน

กระทู้ข่าว
กระทรวงอุตสาหกรรม โดยสถาบันก่อสร้างฯ เตรียมความพร้อมยกเครื่องอุตสาหกรรมก่อสร้างทั้งแผงรวม 5 ด้าน เตรียมรองรับการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ เพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานมูลนิธิเพื่อสถาบันการก่อสร้างแห่งประเทศไทย  เปิดเผยว่า ในขณะนี้กระทรวงอุตสาหกรรม โดยสถาบันก่อสร้างแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นหน่วยงานเครือข่ายที่ภาคเอกชนสนับสนุนและยอมรับโดยร่วมเป็นกรรมการสถาบันฯ ได้เตรียมความพร้อมรองรับการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของประเทศ โดยร่วมกับสมาคม องค์กร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในภาคการก่อสร้าง  ได้มีความเห็นตรงกันว่า การลงทุนดังกล่าวจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการพัฒนาประเทศและภาคการก่อสร้างไทย และมี 5 ภารกิจเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการเพื่อที่จะรองรับการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานครั้งประวัติศาสตร์ของประเทศ
“ปัญหาของอุตสาหกรรมก่อสร้าง คือ ปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายให้ใบอนุญาตผู้ประกอบธุรกิจก่อสร้าง จึงทำให้การกำกับดูแลผู้ประกอบธุรกิจขาดกติกาและทิศทางที่ชัดเจน การควบคุมคุณภาพจึงเป็นไปได้ยากและขาดการพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการอย่างเป็นระบบ รวมทั้งมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) ที่มีอยู่ ยังไม่ครอบคลุมทุกรายการ มีเฉพาะผลิตภัณฑ์ก่อสร้างที่สำคัญๆ แต่ปัญหาใหญ่คือการขาดแคลนแรงงานเป็นจำนวนมาก คนไทยส่วนใหญ่ไม่สนใจทำงานในสาขาก่อสร้าง เพราะเป็นงานที่หนักและเหนื่อย ค่อนข้างจะมีความเสี่ยงสูง”  นายวิฑูรย์ กล่าว
สำหรับการพัฒนาภาคการก่อสร้างไทย เพื่อรองรับการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ กระทรวงอุตสาหกรรม เตรียมการดำเนินการดังนี้
1. การจัดทำมาตรฐานวิสาหกิจก่อสร้าง จะดำเนินการใน 3 มาตรฐาน คือ มาตรฐานการจัดชั้นผู้ประกอบการก่อสร้าง มาตรฐานบริหารงานคุณภาพสำหรับวิสาหกิจก่อสร้าง และมาตรฐานคุณภาพงานก่อสร้าง
2. การจัดทำมาตรฐานบุคลากรก่อสร้าง เนื่องจากประเทศไทยไม่มีมาตรฐานบุคลากรก่อสร้างอันเป็นที่ยอมรับ อีกทั้งในการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC ที่จะเริ่มมีผลบังคับใช้ในปี 2558 จะส่งผลให้เกิดการเคลื่อนย้ายแรงงานในกลุ่มประเทศอาเซียน ซึ่งภาคแรงงานก่อสร้างในแต่ละประเทศมีขีดความสามารถไม่เท่าเทียม-
กัน ดังนั้น ในปี 2556 สถาบันฯ มีแผนในการจัดทำมาตรฐานบุคลากรก่อสร้างและมาตรฐานแรงงานที่เหลืออีก 60 อาชีพให้แล้วเสร็จในปี 2557
3. การจัดทำมาตรฐานวัสดุก่อสร้าง ถือเป็นองค์ประกอบสำคัญในงานก่อสร้าง เพราะนอกจากเป็นต้นทุนโดยตรงของงานก่อสร้างแล้ว ยังเกี่ยวข้องกับความปลอดภัยของผู้ใช้และประชาชนทั่วไป ซึ่งการก่อสร้างที่มีคุณภาพได้มาตรฐานและมีความปลอดภัยจำเป็นต้องใช้วัสดุที่ได้มาตรฐานด้วยเช่นกัน แต่ปัจจุบันวัสดุก่อสร้างที่ได้การรับรองมาตรฐาน มอก. มีเพียง 450 รายการเท่านั้น ดังนั้น สถาบันฯ ร่วมกับภาคเอกชนจึงได้จัดทำร่างมาตรฐานสำหรับวัสดุก่อสร้างจำนวน 10 รายการ  เพื่อให้ได้ใช้วัสดุก่อสร้างที่มีคุณภาพ และยังเกิดประโยชน์ต่อผู้ผลิตในการส่งออก
4. การปรับปรุงกฎระเบียบเพื่อการพัฒนาภาคการก่อสร้าง โดยปรับปรุงด้านการจัดซื้อจัดจ้างและการประมาณราคาก่อสร้าง เพื่อให้การพัฒนาระบบการจัดซื้อจัดจ้างภาคการก่อสร้างมีความโปร่งใส และเปิดกว้างทางการแข่งขัน และเป็นธรรมต่อทุกภาคส่วน ทางสถาบันฯ ได้เสนอแนวทางการแก้ไขกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการจัดซื้อจัดจ้างของภาคการก่อสร้าง โดยการจัดเป็นกลุ่มปัญหาอุปสรรค 3 กลุ่ม คือ 1. ปัญหาอุปสรรคในข้อกำหนดด้านระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุที่เกี่ยวข้องกับการจัดซื้อจัดจ้าง 2. ปัญหาอุปสรรคในวิธีปฏิบัติเกี่ยวกับรูปแบบของสัญญาจ้างวิศวกรที่ปรึกษาสำหรับงานก่อสร้าง และ 3. ปัญหาอุปสรรคจากแนวทางปฏิบัติ ขั้นตอน และกระบวนการจัดซื้อ จัดจ้างและการประมาณราคาค่าก่อสร้างในงานก่อสร้างของทางราชการ
5. การแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ปัจจุบันภาคการก่อสร้างเกิดปัญหาการขาดแคลนแรงงานเป็นจำนวนมาก ย่อมส่งผลก่อให้เกิดการชะลอการเริ่มโครงการก่อสร้างใหม่ และความล่าช้าในงานก่อสร้าง สถาบันฯ ได้นำประเด็นปัญหาการขาดแคลนแรงงานในภาคการก่อสร้างเข้าหารือกับกระทรวงแรงงาน โดยเบื้องต้น พบว่า ในปี 2555 ภาคการก่อสร้าง มีการขาดแคลนแรงงานประมาณ 1 แสนคน ส่งผลให้เกิดการชะลอการเริ่มโครงการก่อสร้างใหม่และความล่าช้าในงานก่อสร้าง
ด้านนายจักรพร อุ่นจิตต์ ผู้อำนวยการสถาบันการก่อสร้างแห่งประเทศไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า ในปี 2555 ประเทศไทยมีมูลค่าการลงทุนภาคการก่อสร้างมากกว่า 9.27 แสนล้านบาท โดยเพิ่มจากปี 2554 ถึงร้อยละ 12.7 และคาดว่ามูลค่าการลงทุนในภาคการก่อสร้างในปี 2556 จะยังขยายตัวอย่างต่อเนื่องที่ประมาณร้อยละ 8.0-8.5 หรือเป็นมูลค่ากว่า 1 ล้านบาทซึ่งยังไม่รวมการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานดังกล่าว โดยในปีที่ผ่านมาประเทศไทยมีการจ้างงานในภาคการก่อสร้างถึง 2.46 ล้านคน หรือเท่ากับร้อยละ 6.3 ของผู้มีงานทำทั้งประเทศ
---------------------------------
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่