สัสสตทิฎฐิ-เห็นว่ารับผลกรรมในชาติต่อไป ส่วน อุจเฉททิฎฐ-เห็นว่าไม่ต้องรับผลกรรมเลย

โดยสรุปแล้วความเห็นพวกสัสสตทิฎฐิก็คือความเห็นว่า เมื่อทำกรรมใดแล้วจะต้องได้รับผลของกรรมนั้น แต่ว่าต้องไปรับเอาในชาติต่อไป จึงเป็นเหตุให้เกิดความเชื่อว่าตายไปแล้วยังจะมีตัวเราเกิดมาได้ใหม่อีก อันเป็นเหตุให้เกิดความเชื่อเรื่องนรกใต้ดิน สวรรค์บนฟ้า ผี เทวดาพระอินทร์ พระพรหม เป็นต้นขึ้นมาอีกด้วย

ส่วนความเห็นพวกอุจเฉททิฎญิก็คือความเห็นว่า เมื่อทำกรรมใดแล้วจะไม่มีผลใดๆเลย คือทำดีก็ไม่มีผล ทำชั่วก็ไม่มีผล หรือพ่อแม่ ครูอาจารย์ เป็นต้นไม่มีบุญคุณ เป็นต้น จึงเป็นเหตุให้เกิดความเชื่อว่าตายไปแล้วจะสุญไปเลย หรือไม่มีตัวเรามาเกิดใหม่ได้อีก

ความเห็นทั้งสองนี้พระพุทธเจ้าสอนว่าเป็นความเห็นผิดทั้งสิ้น ส่วนความเห็นที่ถูกต้อง(สัมมาทิฎฐิ)นั้นก็คือเห็นว่า เมื่อทำกรรมใดแล้วจะต้องได้รับผลของกรรมนั้นเสมอ ซึ่งผลของกรรมนั้นก็อยู่ในปัจจุบันนี่เอง คือเป็นผลที่เกิดกับจิตใต้สำนึกของเราทุกคน คือทำดีก็สุขใจอิ่มใจ สบายใจ ทำชั่วก็ทุกข์ใจร้อนใจ ไม่สบายใจ  (ส่วนผลภายนอกนั้นเอาแน่ไม่ได้จึงไม่ควรสนใจ)

ส่วนเรื่องว่าตายแล้วจะเป็นอย่างไรนั้น ถ้าเราได้ศึกษาเรื่องการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับหายไปของขันธ์ ๕ อย่างละเอียดแล้ว ก็จะเข้าใจได้เองว่า "มันไม่มีสิ่งที่ใดที่จะมาเป็น "ตัวเรา" ได้" คือเรียกได้ว่า "มันไม่มีเรามาเกิด" ดังนั้นจึง "ไม่มีเราตาย" และเมื่อเข้าใจดังนี้แล้วคำถามว่า "ทำไม?"ก็จะหมดสิ้นไป
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่