methyl bromide กับสัตว์เลี้ยง มีอันตรายไหมครับ

กระทู้คำถาม
ผมกำลังสงสัยว่า อาหารสัตว์สำเร็จรูปหลายๆชนิด เช่น นกเลี้ยง ไก่เนื้อ ไก่ไข่ ไก่ชน ฯลฯ

จะมีข้าวปนด้วยเสมอ (ส่วนใหญ่จะเป็นข้าวคุณภาพต่ำ หรือข้าวหัก)

หากมีการใช้สาร methyl bromide ในข้าวสำหรับผลิตอาหารสัตว์

ซึ่งคงไม่มีใครปรุงอาหารสัตว์ หรือล้างก่อนให้แน่ๆ เลยอยากรู้ว่ามันจะทำให้สัตว์เหล่านั้นมีอันตรายไหมครับ

ปล.ผมไม่ได้ถามว่ามีอันตรายกับคนนะครับ ผมถามว่ามันมีอันตรายกับสัตว์เลี้ยงหรือเปล่า
คำตอบที่ได้รับเลือกจากเจ้าของกระทู้
ความคิดเห็นที่ 2
ตัวสาร มีอันตราย ครับ (สารใดๆ แม้แต่น้ำและอากาศก็มีอันตราย)

แต่ถ้าปริมาณที่คาดว่าจะปนเปื้อนได้ ถึงจะเกินมาตรฐาน codex ก็ยังไม่อันตรายพอที่จะทำให้สัตว์(และคน) เป็นอันตรายได้ครับ
สามารถพิจารณาเองได้จากค่า LD50 (คือปริมาณที่รับเข้าไปแล้วสัตว์ทดลองตายครึ่งนึงของทั้งหมด)
หรือพิจารณาจากค่า LC50 (คือความเข้มข้นที่ได้รับอย่างต่อเนื่องแล้วทำให้สัตว์ครึ่งหนึ่งเกิดอาการพิษ) เป็นเกณฑ์
ถึงแม้ค่าที่วัดได้จากสัตว์แต่ละชนิดไม่เท่ากัน แต่ ก็ยังพิจารณาคร่าวๆในแง่ ความมีพิษมาก-น้อย เชิงเปรียบเทียบได้ครับ

หนู
- ในหนู (rat) สาร Methyl Bromide มีค่า LD50 = 214 mg/kg เมื่อได้รับโดยการรับประทาน
[Ref: National Pesticide Information Center - USA, 2000]
สมมติ หนูทดลองหนัก 2 ขีด (0.2 กิโลกรัม) เมื่อได้รับเมทิลโบรไมด์โดยการกิน 100 ตัวตาย 50 ตัวนั้น
ต้องกินเมทิลโบรไมด์ถึง 42.8 มิลลิกรัม
สมมติ ข้าว มีการปนเปื้อนเมทิลโบรไมด์สูงมาก 100 ppm (100 ส่วน ใน 1000000 ส่วน = มี 100 มิลลิกรัม ต่อข้าว 1 กิโลกรัม)
ต้องยัดข้าวให้หนูที่หนักเพียง 200 กรัมนั้นทีเดียวถึง 43 กรัม (!)
ดูท่าทางหนูจะกระเพาะแตกตายก่อนแน่ๆ ครับ

หนู
- ในหนู (rat) สาร Methyl Bromide มีค่า LC50 = 3034 mg/m3 (=782 ppm) เมื่อได้รับโดยการสูดดมอย่างต่อเนื่อง
- ในหนูเล็ก (mice)  สาร Methyl Bromide มีค่า LC50 = 1575 mg/m3 (=406 ppm) เมื่อได้รับโดยการสูดดมอย่างต่อเนื่อง
[Ref: National Pesticide Information Center - USA, 2000]
แสงว่าต้องมีสารที่ระเหยออกมาที่ความเข้มข้นสูงขนาดนี้ จึงจะได้รับอันตราย

หนู
และในเปเปอร์เดียวกัน มีการทดลองจับหนูไปขังในที่ ที่มีไอระเหยของเมทิลโบรไมด์ ปริมาณ 0, 7.5, 15, 30, 60 ppm ต่อเนื่อง
วันละ 6 ชั่วโมง สัปดาห์ละ 5 วัน เป็นเวลา 3 เดือนเศษ (13สัปดาห์) ไม่พบความผิดปกติใดๆ ในหนูทุกตัวทั้งในระบบทางเดินอาหาร
ระบบหายใจ และระบบประสาท และไม่เป็นมะเร็ง ยกเว้น หนูที่ได้รับปริมาณสูง 60ppm ต่อเนื่องนั้น มีน้ำหนักตัวลดลงเล็กน้อย


หมา
ทดสอบกับสุนัข โดยให้อาหารที่รมด้วยเมทิลโบรไมด์ และให้เหลือปริมาณตกค้างที่ค่าต่างๆ เป็นเวลา 1 ปี
พบว่าสุนัขทีได้รับแม้ในปริมาณสูง (0.27 mg/kgน้ำหนักตัว (ตัวเมีย) / 0.28mg/kgน้ำหนักตัว (ตัวผู้) ไม่พบความผิดปกติในระบบใดๆ เลย
สมมติ สุนัขตัวผู้ หนัก 50 กิโลกรัม แสดงว่าในการทดลองนี้เขาให้อาหารที่มีเมทิลโบรไมด์ปริมาณ 14 มิลลิกรัม
สมมติ ให้อาหารมีการปนเปื้อนสูงเป็นสองเท่าของมาตรฐานโคเด็กซ์ คือมี 100ppm
แสดงว่า ให้อาหารที่รมด้วยเมทิลโบรไมด์ ปริมาณถึงวันละขีดครึ่ง ต่อเนื่องกัน 1 ปี ก็ยังไม่พบผลกระทบใดๆ

เข้ามาดู
ในเข้ามาดู เอ้ย ไม่ใช่ ในมนุษย์ สารเมทิลโบรไมด์ที่ทำให้ตาย อยู่ในช่วง 1600 - 60000 ppm
[Ref: Muir G.D., Hazards in Chemical Laboratory, London 1971]
ลองเทียบกับ:
- คาร์บอนมอนอกไซด์ ที่ทำให้ตายคือ 70-400ppm ทำไมเราไม่เห็นจะกลัวว่าจะตายเพราะดม ไอเสียรถยนต์กันมั่งเลย...
- ไฮโดรเจนซัลไฟด์ ที่ทำให้ตายคือ 320-530ppm ทำไมเราไม่เห็นจะกลัวว่าจะตายเพราะดม กลิ่นตด กันเลย...

มีการทดลองต่างๆ อีกเยอะครับ หลายเจ้า หลายสำนัก หลายประเทศด้วย
ทั้งนี้เพราะสารเมทิลโบรไมด์ใช้ในการรมผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรทั่วโลกมา 95 ปี(เป้นอย่างน้อยเท่าที่หาข้อมูลได้)
เลยมีงานวิจัยออกมาเยอะ สามารถนำมาเปรียบเทียบผลกันได้เลยครับ ส่วนใหญ่จะได้ไปในทำนองเดียวกัน มีค่าใกล้เคียงกัน

ดังนั้น ก็ตามที่อ.เจดีย์กล่าวด้านบนเลยครับ ว่า สารนี้ หากเป็นอันตราย ก็น่าจะเป็นกับผู้ที่รมควัน
เพราะเอาถังเมทิลโบรไมด์ไปเปิดในที่ปิด จึงมีโอกาสได้รับความเข้มข้นสูงระดับอันตราย
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่