รบกวนสอบถามข้อมูลนี้มีข้อเท็จจริงไหมครับ สืบเนื่องจากเวป ผจก. ข้อมูลเรื่องไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน ครับ

คือท่านผู้รู้ช่วยไขข้อข้องใจ  ผมหน่อยเถิดว่าข้อมูลนี้มีความเป็นจริงหรือเป็นไปได้ไหมครับ  หากท่านมิชอบก็กรุณาข้ามได้เลยครับ
ข้อมูลจากเวป  ผจก.  มีตามนี้
พงศาวดารขอมสยามไทย (ฉบับไม่คลั่งชาติ)
1) ทฤษฎีพระเจ้าอู่ทองมาจากเมืองอู่ทองใช้ไม่ได้แล้วเพราะมีหลักฐานว่าเมืองนี้ร้างมาก่อนหน้านั้นสองร้อยปี อีกทั้งคนสามแสนจะไปเกณฑ์มาจากไหนเพราะในแดนขวานทองก็มีแต่เมืองเล็กๆ ระดับหมื่น
      
       2) พระเจ้าอู่ทองนำชาวสยาม (ขอม) สามแสนคนหนีตายมาจากการกบฏของทาสที่นครวัดมาพึ่งญาติพี่น้องท้องเดียวกันที่ลพบุรี มาสร้าง “กรุงศรีอยุธยา” (ใช้เวลา 14 ปี) จากนั้นสถาปนาขึ้นเป็น “พระรามาธิบดีที่ 1” ใน ค.ศ. 1350 เป็น “เทวราชา” ตามประเพณีขอมนครวัด ส่วนกษัตริย์เขมรที่นครวัดกลับยกเลิกระบบ “เทวราชา” มันสวนทางกันเช่นนี้แล (ก็เป็นทาสเขามาก่อนจะเป็นเทพไปได้อย่างไร) ที่คำราชาศัพท์เราเป็นภาษาขอมเสียมาก (เช่น เสวย เขนย) ไม่ใช่อิทธิพลขอมตามที่เชื่อกัน แต่มันเป็น “ขอมแท้ทั้งดุ้น” ต่างหาก
      
       3) กษัตริย์เทวราชาสาย “วรมัน” ที่ครองนครวัดมา 500 ปี สูญหายไปเมื่อ ค.ศ. 1336 (14 ปีก่อนตั้งกรุงศรีอยุธยา) กษัตริย์องค์ต่อมามีนามว่า ตระซ็อกประแอม (แตงหวาน)
      
       4) พงศาวดารเขมรฉบับแรกสุดเขียนโดยกษัตริย์ “นักองเอง” กล่าวว่า ต้นตระกูลเขมรคือตระซ็อกประแอมนี่แหละ ซึ่งถ้าเขมรมีเชื้อขอมวรมันมีหรือที่นักองเองจะไม่ภูมิใจจนสาวไปถึง (จะว่าไม่รู้ก็ไม่ได้เพราะมีจารึกหินบอกไว้หมด) แต่พงศาวดารเขมรฉบับหลังๆ ถูกฝรั่งเศสเสี้ยมให้เป็นลูกหลาน “วรมัน” เพื่อหวังฮุบนครวัดไปเป็นอาณานิคมในที่สุด
      
       5) ตระซ็อกฯ นี้เป็นหัวหน้าทาสเชื้อสาย “แขกจาม” ที่ขอมจับมาเป็นแรงงานสร้างปราสาท จนมีจำนวนมากกว่าพวกนายทาสเสียอีก นายมี 4 แสน ทาสมี 6 แสน (ขอมกับจามรบกันหนักและนานสามร้อยปี...โจวตากวน พ่อค้าจีนก็บันทึกไว้ว่านครวัดเต็มไปด้วยทาส) เมื่อพวกนายทาสอ่อนแอลง ทาสก็ยึดเมืองและฆ่านายทาส (พวกขอมสยาม) ตายราบแล้วเปลี่ยนชื่อเมืองเป็น “เสียมเรียบ” (แปลว่าพวกสยามตายเรียบ)
      
       6) แม้ในวันนี้เขมรยังนับเลขได้แค่ ๕ พอถึงเลข ๖ เขมรจะนับเป็น ๕๑ เจ็ดเป็น ๕๒ มันตีแสกหน้าบอกเลยว่าเขมรไม่ใช่ขอม เพราะขอมใช้ระบบเลข ๑-๑๐ เหมือนสยามอยุธยาทั้งแท่ง
      
       7) พระเจ้าอู่ทองยกทัพไปล้างแค้นพวกเขมรโดยรบชนะกันเด็ดขาดที่เมืองหนึ่ง จึงเปลี่ยนชื่อเมืองนั้นเป็น “อู่ทองมีชัย” จนกลายเป็นเมืองหลวงของพวกเขมรนานกว่าสองร้อยปี วันนี้นิยมเรียกให้เพี้ยนกันว่า อุดง หรือ อุดรมีชัย เพื่อกลบเกลื่อนหลักฐาน แต่นักวิชาการฝรั่งส่วนใหญ่เชื่อว่าชื่อนี้มาแต่นามของพระเจ้าอู่ทองแห่งสยาม
      
       8) อยุธยามีคนพูดไทยปนคนพูดขอมอยู่แล้ว ภายหลังคนพูดไทยอพยพเข้ามามากจนกลืนภาษาขอมหมด ยกเว้นราชาศัพท์ (ในช่วงนั้นสุโขทัยก็ไม่มีราชาศัพท์ ยังจารึกว่า พ่อกูขุนศรี แม่กูนางเสือง อยู่เลย)
      
       9) ต้นกำเนิดคนเขมรตรงกับจามยังกะแกะ คือมาจาก “นางนาค” นามว่า “โสมา” ที่สมสู่กับฤาษีตนหนึ่ง แสดงว่าเขมรคือพวกแขกจามที่ถูกขอมจับมาเป็นทาส แล้วพกนิทานปรัมปราต้นกำเนิดดังกล่าวนี้ติดตัวมาด้วย ...ประวัติศาสตร์มักเขียนตามแต่ที่ผู้ชนะจะสั่ง แต่นิทานนั้นบิดเบือนได้ยาก แม้รูปลักษณ์ของชาวเขมรวันนี้ก็ยังมีร่องรอยของ “แขกจาม” ให้เห็น
      
       10) ชัยวรมัน ๒ กษัตริย์ขอมองค์แรกที่ว่ามาจาก “ชวา” นั้น นักวิชาการฝรั่งบางคนก็ว่ามาจาก ชามา (หรือจามนั่นเอง) แต่กระผม (ขยม) ว่ามาจาก ลวา, ลพา, ลพ (บุรี)
      
       11) ไม่มีจารึกว่าพระฯ สุริยวรมัน 1 (ซึ่งเป็นพุทธ) มาจากไหน น่าเป็นลพบุรีส่งกำลังมายกให้เป็นกษัตริย์พุทธ ไม่เช่นนั้นจู่ๆ จะเอาทหารจากไหนมา “ยึดอำนาจ” ให้เป็นกษัตริย์พุทธในท่ามกลางสังคมฮินดู
      
       12) ส่วนชัยวรมัน 6 นั้นมีจารึกแน่ชัดว่ามาจากพิมาย มีพ่อชื่อ สวายามภูวา (ต้นกำเนิดของคำว่า สยาม?) นักวิชาการฝรั่งเชื่อว่า ชย. 6 มาจากการยึดอำนาจ (โดยการช่วยเหลือของพิมาย?) เป็นผู้สร้างปราสาทหินพิมาย รวมทั้งสร้างทางด่วนเชื่อมพิมายกับนครวัด
      
       13) สุริยวรมัน 2 (ผู้เริ่มสร้างปราสาทนครวัด) ก็มีจารึกว่าไปจากลพบุรี ทรงรบและจับเอาจามมาเป็นทาสเพื่อสร้างปราสาทมากมาย แต่กลับกลายเป็นหอกข้างแคร่ที่ฆ่าขอมสยามเสียสิ้นในที่สุด
      
       14) ชัยวรมัน 7 ก็มาจากที่อื่น (นักวิชาการฝรั่งเชื่อว่ามาโดยการยึดอำนาจ) เป็นผู้เปลี่ยนนครวัดมาเป็นพุทธอย่างถาวร แสดงว่าต้องมีเมืองพุทธมาช่วยยึดอำนาจ (พิมาย?) เป็นผู้สร้างปราสาทนครวัดต่อจนเสร็จสมบูรณ์ และสร้างนครธม ทรงบำรุงทางด่วนสายพิมาย-นครวัดที่ ชย. 6 สร้างไว้ให้สมบูรณ์ จึงเป็นหลักฐานว่ามาจากพิมาย
      
       15) ในอดีต...เมื่อเมืองใดไร้กษัตริย์ปกครอง (ฆ่ากันตายหมด) ปชช.จะไปขอหน่อเนื้อจากเมืองอื่นที่เป็นสายเลือดมาสืบต่อ ดังเช่นลำพูนขอพระนางจามเทวีจากลพบุรี ดังนั้น สย.๑-๒ และ ชย.๖-๗ ที่ว่ามาจากลพบุรีและพิมายนั้นก็ไม่แปลกเพราะเป็นพี่น้องกัน
      
       16) ภาพกองทัพ “สยำกุก” ที่แกะสลักไว้ที่กำแพงนครวัด (ในสมัย ชย.7) ที่ยังเป็นปริศนานั้นคงคือกองทหารจากพิมาย เป็นพวกสวายาม หรือ สยำ เชื้อเถาเหล่ากอแห่งบิดาของ ชย.6
      
       17) ขอมไม่ได้หายสูญไปไหน แต่หลอมรวมเลือดเนื้อมาเป็นเชื้อเหล่าเผ่าไทยสยามเรานี่แหละ แต่เศษฝรั่งได้ยกเขมรให้เป็นขอมเพื่อประโยชน์แห่งการล่าอาณานิคมของพวกเขา

จาก http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9530000181578
ข้อมูลเหล่านี้เป็นได้หรือเป็นเพียง  บทความชาตินิยม  รบกวนท่านผู้รู้ช่วยไขข้อข้องใจ  ถือว่าเป็นวิทยาทานเถอะครับ
ปล. ขอร้องไม่เอาการเมืองนะครับ  ผมจึงไม่แท็ก  ราชดำเนิน
พาพันขอบคุณ
คำตอบที่ได้รับเลือกจากเจ้าของกระทู้
ความคิดเห็นที่ 3
เป็นบทความที่พยายามอย่างยิ่งที่จะให้พระเจ้าอู่ทองเป็นขอมให้ได้ แต่ข้อมูลที่ยกมากับมั่วมากมาย เห็นอะไรที่คิดว่าจะตรงกับความคิดของตน ก็เอามาผสมกันไปหมด บางเรื่องก็กล่าวขึ้นมาแล้วสรุปลอยๆด้วยซ้ำ ความจริงผมเป็นคนชาตินิยมนะครับ แต่เรื่องของประวัติศาสตร์จะตั้งบนพื้นฐานของการเป็นชาตินิยมไม่ได้ เพราะมันจะไม่สามารถนำไปสู่ความจริงที่เราอยากรู้ บทความนี้ก็เป็นสิ่งพิสูจน์แล้วว่า หากตั้งสมมติฐานทางประวัติศาสตร์ตามแนวชาตินิยมแล้ว ก็จะกลายเป็นการคลั่งชาติในที่สุด ท้ายสุดเราจะไม่ได้อะไรเลยจากสิ่งที่อยากศึกษาเลย แต่ไหนๆแล้ว ก็อยากลองถกเถียงดูแล้วกันนะครับ...

๑. มีการประมาณการว่า เมืองพระนคร หรือนครธม ในขณะนั้นมีประชากรราว ๗๐๐,๐๐๐ คน ทั้งๆที่ตอนนั้นอยู่ภาวะเสื่อมถอยแล้ว ขณะที่มีการวิเคราะห์กันว่าศูนย์อำนาจเดิมของกลุ่มพระเจ้าอู่ทองน่าอยู่แถบแคว้นละโว้ และหัวเมืองแถบลุ่มน้ำเจ้าพระยาที่มีศูนย์กลางอยู่ที่ละโว้เคยเป็นเมืองอุปราชของเมืองพระนครมาก่อนก็ควรมีประชากรไม่หย่อนแสนเหมือนกัน และบรรดาแคว้นเหล่านี้็มีความเข้มแข็งถึงกลับสามารถต่อกรกับแคว้นสุโขทัยโดยเข้ายึดเมืองชัยนาท ขณะที่กองทัพสุโขทัยกลับเป็นฝ่ายขอเจรจา แสดงว่าพระเจ้าอู่ทองต้องมีไพร่พลมากพอสมควร และมากพอที่ทำให้เจ้าผู้ครองนครแถบนั้นอย่างเช่นแคว้นสุพรรณภูมิยกให้เป็นผู้นำ ส่วนที่ว่าพระเจ้าอู่ทองไม่น่าจะมาจากเมืองอู่ทองอันนี้นักประวัติศาสตร์หลายท่านก็เห็นตรงกัน และมีข้อสรุปแล้วว่าก่อนสร้างเมืองอโยธยาที่หนองโสน เมืองเดิมของพระเจ้าอู่ทองก็อยู่ที่อยุธยานี่หล่ะแต่อยู่ฝั่งตรงข้ามแม่น้ำ เพราะแถบนี้มีต้องมีเมืองใหญ่ซึ่งสามารถสร้างพระพุทธรูปขนาดมหึมาอย่างพระเจ้าพนัญเชิงได้

๒. เมืองพระนคร ในตอนนั้น พระมหากษัตริย์ยังเป็นเทวราชาสลับกับการเป็นพระโพธิสัตว์อยู่ยังไม่มีการยกเลิก และอยุธยาก็รับเอาความเป็นเทวราชามาจากเขมรจริงๆ ในช่วงแรกรับมาเพียงคติหลักเท่านั้น แต่ต่อมาเมื่อตีเมืองพระนครของเขมรแตกในรัชกาลเจ้าสามพระยา ความเป็นเทวราชาจึงสมบูรณ์แบบมากขึ้นเพราะมีการรับเอาพิธีกรรมและคติทางราชสำนักมาทั้งหมด แม้แต่คติพราหมณ์ที่ผสมกับความเชื่อเดิมของชนชาติเขมรที่กษัตริย์ต้องทำพิธีสมสู่กับนางนาค อยุธยาก็รับมาจนเกิดประเพณีที่กษัตริย์อยุธยาจะต้องบรรทมกับเทวรูปที่เรียกกันว่าแม่หยั่วพระผีเจ้า แต่นี่ก็ไม่ได้แสดงหรือรองรับสมมติฐานที่ว่าพระเจ้าอู่ทองทรงเป็นขอมจากเมืองพระนครและย้ายราชธานีมาตั้งที่อยุธยาตามที่บทความนั้นพยายามกล่าวอ้างหรอกนะครับ เพราะตอนที่ตั้งกรุงศรีอยุธยา เมืองพระนครหรือนครธมยังอยู่ไม่ได้หายไปไหน โดยมีกษัตริย์ครองราชย์สมบัติอยู่ ๓๘ ปี ๘ รัชกาล ก่อนที่พระบรมราชาเจ้าพระยาญาติ กษัตรย์เขมร จะย้ายราชธานีมาอยู่ที่กรุงจตุรมุขหลังจากที่ทรงประทับอยู่ที่นครธมสิบห้าปี ส่วนเรื่องคำราชาศัพท์นั้นนอกจากจะใช้บอกว่าอยุธยาเป็นเจ้าของภาษาเขมรหรือที่มักเรียกกันว่าขอมไม่ได้แล้ว ยังเป็นการรองรับว่าผู้ที่ใช้ภาษาของชาติอื่นเป็นคำราชาศัพท์ของตน แสดงว่ายกย่องอารยธรรมของเจ้าของภาษานั้น ซึ่งไม่ได้มีแต่อยุธยาเท่านั้นที่รับเอาภาษาเขมรมาเป็นคำราชาศัพท์ของตน แต่กัมพูชายุคหลังยังรับเอาภาษาไทยมาเป็นราชาศัพท์ของตนด้วยเช่นกัน (เช่น ย่าง เข็มขัด จดหมาย) ในเรื่องความเป็นเทวราชาของกษัตริย์นั้นไม่ใช่หายไปไหน แต่ถูกอยุธยาหลอมรวมเข้ากับความเชื่อเรื่องจักรพรรดิราชของพุทธเถรวาทผสมปนเปกันและเขมรก็รับเอาไปใช้ด้วย

๓. ไม่เคยมี กษัตริย์เทวราชาสาย “วรมัน” เพราะวรมันไม่ใช่ชื่อราชวงศ์แต่เป็นคำในภาษาสันสกฤต คือ วรรมม แปลว่า ผู้ถูกอุปภัมภ์ ซึ่งเป็นคำต่อท้ายพระนามกษัตริย์ราชวงศ์ปัลลวะ ของอินเดียใต้ และอาณาจักรต่างๆที่รับเอาวัฒนธรรมของปัลลวะไปใช้ จะต้องเอาคติการตั้งชื่อกษัตริย์ตามแบบปัลลวะไปด้วย เช่น อาณาจักรฟูนัน เจนละ ศรีวิชัย จามปา ล้วนแต่มีชื่อกษัตริย์ลงท้ายด้วยวรมันทั้งสิ้น และกษัตริย์ของเขมรที่มีพระนามว่า วรมัน ไม่ได้หายไปก่อนสร้างกรุงศรีอยุธยาสิบห้าปี เพราะกษัตริย์พระองค์สุดท้ายที่พระนามว่าวรมัน คือ พระเจ้าชัยวรมันปรเมศวร หรือที่รู้จักกันในพระนามพระบาทลำพง และปี ค.ศ.ที่อ้างว่าเป็นปีที่สิ้นสุดกษัตริย์ที่มีพระนาม วรมัน ก็ไม่จริง เพราะ ค.ศ. ๑๓๓๖ อยู่ในรัชกาลพระเจ้าชัยวรมันปรเมศวร(ครองราชย์ระหว่าง ค.ศ. ๑๓๒๗ - ๑๓๕๓)  ส่วนเรื่องพระเจ้าแตงหวานนั้นเป็นเพียงตำนานทำนองเดียวกับเรื่องท้าวแสนปม ซึ่งสมเด็จพระนารายณ์ราชาหรือนักองค์เองรวบรวมไว้กับพงศาวดารกัมพูชาแต่งขึ้นถวายรัชกาลที่ ๑ ตามพระราชประสงค์ แต่เนื่องจากว่ากัมพูชาตอนนั้นเกิดเหตุจลาจลภายในติดต่อกันมากว่า ๒๐ ปี ทำให้เอกสารหลายอย่างหายสูญไปนักองค์เองจึงใส่เรื่องพระเจ้าแตงหวานเข้าไปด้วย สำหรับประเด็นที่ว่า แล้วทำไมกษัตริย์เขมรในสมัยหลังจึงไม่มีพระนามว่าวรมัน? คำตอบคือ เพราะภาษาสันสกฤตที่เข้ามาพร้อมศาสนาฮินดูและพุทธมหายานไม่เป็นที่นิยม เนื่องจากเขมรรับเอาพุทธแบบเถรวาทซึ่งใช้ภาษาบาลีมาแทน ทำให้พระนามของกษัตริย์เขมรมีความเป็นพุทธแบบเถรวาทตามไปด้วย

๔. พระราชพงศาวดารกรุงกัมพูชา ฉบับสมเด็จพระนารายน์รามาธิบดี (นักองค์เอง) สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงอธิบายว่า "...คิดสันนิฐานดูเข้าใจว่า ในเวลานั้นหนังสือพงษาวดารเขมรจะไม่มีฉบับที่ดีอยู่ในกรุงเทพ ฯ เมื่ออภิเศกสมเด็จพระนารายณ์รามาธิบดีออกไปครองเมือง เห็นจะมีรับสั่งออกไปให้สืบหาหนังสือพงษาวดารเขมรส่งเข้ามาถวาย ในเวลานั้นกรุงกัมพูชาก็กำลังยับเยิน ด้วยถูกข้าศึกภายนอกเข้าไปตี แลเกิดเหตุจลาจลภายในติดต่อกันมากว่า ๒๐ ปี สมเด็จพระนารายน์รามาธิบดีเทียวสืบเสาะหาหนังสือพงษาวดาร จึงได้แต่ฉบับนี้มาถวายเปนฉบับอย่างย่อแลข้อความไม่ถูกถ้วน..." พูดง่ายๆ คือ ในเวลาที่นักองค์แต่งพงศาวดารฉบับนี้ยังไม่อาจค้นคว้าข้อมูลทางประวัติศาสตร์ได้ครบถ้วน จึงแต่งพงศาวดารขึ่นเท่าที่มีข้อมูลอยู่ในขณะนั้น จนสมัยหลังจึงมีการค้นหาหลักฐานทางประวัติศาสตร์อย่างจริงจัง ทำให้สามารถสืบค้นลำดับกษัตริย์กัมพูชาได้ว่าสืบสายกันลงมาตั้งแต่สมัยกรุงจัตุรมุขที่ย้ายราชธานีมาจากนครธมอีกทีหนึ่ง

๕. อันดับแรกให้แยก "ทาส" กับ "เชลย" ออกจากันเสียก่อน ทาสคือคนที่ถูกขายให้นายเงินซึ่งอาจเป็นคนชาติเดียวกันก็ได้ ส่วนเชลยคือศัตรูที่ถูกจับในสงคราม เพราะฉะนั้นทาสอาจไม่ใช่เชลยทั้งหมด ทีนี้มาที่ชื่อเมือง “เสียมเรียบ” เกิดจาก "...ลุศักราช ๑๔๖๒ (จ.ศ. ๙๐๒) ศกชวดนักษัตรได้ ๒๕ ปี พระชันษาได้ ๕๕ ปี พระเจ้ากรุงศรีอยุธยา จึ่งยกทัพมาถึงพระนครหลวง ในปีชวดนั้น พระองค์ยกทัพไปถึงพระนครหลวงรบชนะพระเจ้ากรุงศรีอยุธยาหนีไป พระเจ้าจันทร์ราชาจับได้เชลยไทยเป็นอันมากแล้วเสด็จกลับเข้ามาครองราชสมบัติ..." เป็นเหตุการณ์ที่กองทัพเขมรเอาชนะกองทัพกรุงศรีอยุธยาได้ในรัชกาลเจ้าพญาจันทราชา จึงให้ชื่อตำบลนั้นว่า เสียมเรียบ แปลว่า สยามพ่าย ต่อมาในสมัยรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๑ เห็นว่าชื่อไม่เป็นมงคลจึงทรงเปลี่ยนเป็น เสียมราฐ  แปลว่า ดินแดนของสยาม เพราะตอนนั้นโปรดให้เจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ปกครองดินแดนส่วนนี้และถูกผนวกเป็นดินแดนของสยามแล้ว เมื่อเสียดินแดนให้ฝรั่งเศสจึงกลับมาใช้ชื่อเสียมเรียบตามเดิม ไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องที่ยกมาในบทความเลย ยอมรับเลยว่าผู้เขียนบทความจับแพะชนแกะได้เก่งมาก

๖. ระบบการนับเลขเขมรเป็นฐานห้าจริงครับ แต่ระบบการเขียนก็เป็นเลขฐานสิบเหมือนกับเลขฮินดู-อารบิก ซึ่งเขมรรับเอามาตั้งแต่สมัยฟูนันแล้ว สำหรับเลขเขมรมีดังนี้ ๑(មួយ)  ๒(ពីរ) ๓(បី ) ๔(បួន) ๕ (ប្រាំ) ๖(ប្រាំមួយ) ๗(ប្រាំពីរ) ๘(ប្រាំបី)  ๙(ប្រាំបួន) ๐(សូន្យ) เลขเขมรกับเลขไทยจะเขียนเหมือนกัน รูปแบบเหมือนกัน แต่อ่านไม่เหมือนกันเฉยๆ
(ปล.สำหรับเลขไทยนั้น การออกเสียงนับ หนึ่ง สอง สาม สี่...ในปัจจุบัน จะไม่เหมือนกับสมัยโบราณ โดยสมัยโบราณจะนับ อ้าย ยี่  สาม  ไส  งัว  ลก  เจ็ด  แปด  เก้า  สิบ)

๗. อุดงมีชัย หรืออุดงฦาไชย ชื่อนี้พึ่งตั้งในรัชกาลพระชัยเชษฐาธิราชที่ ๒ ในปีพุทธศักราช ๒๑๖๔ มีนามเต็มว่า "กรุงอุดงมีชัยบุรีรมย์ อุดมราชนิเวศวิเศษสถาน" เมืองนี้ใช้เป็นราชธานีทางเหนือของเขมรเพื่อหนีกองทัพญวน สมัยที่เขมรแตกออกเป็น ๒ อาณาจักร ฝ่ายเขมรฝักใฝ่สยามจะตั้งราชธานีที่อุดงมีชัย และเขมรที่ฝักใฝ่ญวนจะตั้งราชธานีที่พนมเปญ จนเมื่อสยามและญวนทำสนธิสัญญารวมเขมรจึงย้ายราชธานีมาอยู่ที่พนมเปญ กรุงอุดงมีชัยจึงกลายเป็นราชธานีเก่าไป (ปล.เกี่ยวกับพระเจ้าอู่ทองยังไงเนี่ย?)

๘. คนแถบนี้ใช้ภาษาเขมรมาตั้งแต่ก่อนตั้งกรุงศรีอยุธยาเสียอีก ในสมัยสุโขทัยก็มีการใช้ภาษาเขมรอยู่มากเช่นกัน มีคำราชาศัพท์และภาษาเขมรใช้ปนภาษาไทยแล้ว หาอ่านได้จากจารึกหลักที่ ๒ วัดศรีชุม ไม่ใช่พึ่งเกิดสมัยอยุธยา และขอแนะนำให้ไปค้นหา "ศิลาจารึกวัดป่ามะม่วง ภาษาเขมร " ซึ่งทำขึ้นในรัชการพระมหาธรรมราชาลิไท ของสุโขทัยด้วย

๑๐.ชัยวรมันที่ ๒ เป็นปฐมกษัตริย์ของจักรวรรดิเขมรยุคหลังเจนละ ทรงประกาศอิสระภาพจากการยึดครองของอาณาจักรศรีวิชัยหรือชวา แม้จะไม่แน่ชัดว่าทรงมาชวาจริงหรือไม่ แต่ที่แน่ชัดคือ ชวา ที่กล่าวถึงหมายถึงอาณาจักรศรีวิชัยแน่นอน เพราะเจนละและศรีวิชัยเคยทำสงครามกันราวสิบสามปีก่อนที่ศรีวิชัยจะชนะเจนละได้ ในศิลาจารึกพระเจ้าพระเจ้านฤบดีศรีสญชัย กษัตริย์ชวา ที่พบทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของบรมพุทโธ ยกย่องว่าพระองค์ทรงเป็นแม่ทัพเรือศรีวิชัย เคยรบพุ่งอย่างห้าวหาญ ได้รับชัยชนะกองทัพ และศิลาจารึกของพระเจ้าสัตยวรมันแห่งอาณาจักรจามปา สลักข้อความเล่าถึงการรุกรานของกองทัพเรือชวา ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อราว พ.ศ. ๑๓๑๗ ไว้ว่า “คนพวกนี้ข้ามทะเลมาจากที่อื่น กินของโสมมยิ่งกว่าซากศพ หน้าตาน่าเกลียดน่ากลัว ผิวดำเป็นมัน ผอมโซ มีสันดานเป็นพาลและหยาบช้า ทารุณโหดร้ายยิ่งกว่ามัจจุราช พวกมันได้บุกเข้าโจมตี ปล้นสดมภ์และจุดไฟเผาผลาญเทวสถานของพระผู้เป็นเจ้า” แสดงว่าในตอนนั้นศรีวิชัยหรือชวามีอำนาจเหนือดินแดนแถบนี้

๑๑.- ๑๒. - ๑๓. - ๑๔. สุริยวรมันที่ ๑, ชัยวรมันที่ ๖, สุริยวรมันที่ ๒ ,ชัยวรมันที่ ๗ กษัตริย์ทั้งสี่พระองค์มาจากราชวงศ์เดียวกัน ราชวงศ์นั้นชื่อว่า "มหิธรปุระ" มีฐานอำนาจอยู่แถบพนมดงรัก รายละเอียดสามารถค้นหาได้ไม่ยาก
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่