เปิดโลกหุ่นยนต์ไทย กรณีศึกษา: อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ไทยเกิดได้(จริงหรือ) ?

เปิดโลกหุ่นยนตร์ไทย
กรณีศึกษา: อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ไทยเกิดได้(จริงหรือ) ?



หลายๆคนรวมทั้งผมเองก็เคยสงสัยว่า ทำไมนักเรียน นักศึกษาของเรา ได้ไปประกวดแข่งขันหุ่นยนต์ในต่างประเทศได้แชมป์มาแล้วก็หลายครั้ง แต่ทำไมจึงนำมาต่อยอดไปใช้ในเชิงพาณิชย์ไม่ได้สักที  ลองมาอ่านบทสัมภาษณ์ของผู้ที่มีประสบการณ์และเกี่ยวข้องโดยตรงกันดูว่า มันมีอุปสรรคที่สำคัญอย่างไร จึงทำให้อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ไทยยังเกิดไม่ได้ในเชิงพาณิชย์และมีความเป็นไปได้หรือไม่ในอนาคต



เมื่อหลายปีก่อน มีนักอุตสาหกรรมไทยหัวเก้าหน้าท่านหนึ่ง มีแนวคิดและสร้างหุ่นยนต์อุตสาหกรรมไทยขึ้นมา จนกลายเป็นผลงานที่สร้างความฮือฮาให้กับวงการอุตสาหกรรมไทยไปพักใหญ่ อีกทั้งผลงานแขนกลอัตโนมัติดังกล่าว ยังได้รับการคัดเลือกให้เป็น 1 ใน 10 สุดยอดธุรกิจนวัตกรรม ประจำปี 2549 อีกดว้ย
ตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมาข่าวคราวของแขนกลอัตโนมัติดังกล่าวค่อยๆเลือนหายและถูกกลืนไปพร้อมกับกาลเวลา วันนี้เรื่องของหุ่นยนตร์และระบบอัตโนมัติกำลังกลายเป็นอนาคตของอุตสาหกรรม เนื่องจากเริ่มมีการใช้งานกันอย่างแพร่หลายมากขึ้น ด้วยเหตุและปัจจัยด้านความต้องการเพิ่ม Productivity  ในขณะที่กำลังคนขาดแคลนและค่าแรงที่ถีบตัวสูงขึ้นเป็นตัวผลักดันที่สำคัญ
เพื่อตามรอยแขนกลอุตสากรรม ฝีมือคนไทยก้าวไกลถึงไหนแล้วในปัจจุบัน เราทำการแกะรอยจากข่าวจนทราบต้นแหล่งแนวคิดแขนกลอุตสาหกรรม เริ่มต้นจาก คุณปรีชา ประเสริฐถาวร ประธานกรรมการ บริษัทนิวสมไทยมอเตอร์เวอค จำกัด บริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์รายใหญ่แห่งหนึ่ง  ภายหลังจากการสนทนาคร่าวๆจึงทราบว่า โปรเจคดังกล่าวได้ระงับขั่วคราว  เนื่องจากประสบปัญหาหลายอย่าง ซึ่งคุณปรีชาได้กรุณาถ่ายทอดเพื่อเป็นกรณีศึกษาสำหรับนักอุตสาหกรรมไทยไว้น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง



จากผู้รับจ้างผลิตสานฝันสู่การเป็นเจ้าของผลิตภัณฑ์ “หุ่นยนต์อุตสาหกรรม”

คุณปรีชา นับเป็นผู้ประกอบการอุตสาหกรรมที่มีหัวก้าวหน้าท่านหนึ่ง ที่มีแนวคิดอยากยกระดับอุตสาหกรรมจากผู้รับจ้างผลิต เป็นเจ้าของผลิตภัณฑ์ จนเป็นที่มาของการเริ่มต้นพัฒนาแขนกลอุตสาหกรรม
“เบื้องต้นก็อยากจะเล่าถึงแนวคิดที่มาที่ไปของการพัฒนาแขนกลอัตโนมัติ   โดยพื้นฐานของบริษัทนิวสมไทยมอเตอร์เวอค จำกัด หรือ NST เป็นบริษัทรับจ้างผลิตชิ้นส่วน ประเภทโลหะแปรรูปให้กับผู้ผลิตจักรยานยนต์ และรถยนต์ในประเทศไทย มาตั้งแต่รุ่นคุณพ่อ และในโรงงานผลิตนี้เองเราเริ่มมีและใช้แขนกลอัตโนมัติมากว่า 20 ปีแล้ว เนื่องจากนำเข้ามาทดแทนแรงงานคนที่หายากในไลน์การผลิตงานเชื่อมโลหะ และมีการใช้เรื่อยมาจนกระทั่งเข้าสู่ยุคฟองสบู่แตกในปี พ.ศ. 2540 ที่มีการลอยตัวค่าเงินบาท ออเดอร์จากลูกค้าก็ค่อยๆหายไป กระทั่งไม่มีการผลิตในโรงงาน เราจึงมีแนวคิดว่าอยากจะมีผลิตภัณฑ์ที่เป็นของตัวเอง เพื่อสร้างอนาคตใหม่ให้กับบริษัท แต่ ณ.ขณะนั้นยังไม่ได้นึกถึงหุ่นยนต์แต่อย่างใด เพราะเราต้องแก้ปัญหาเฉพาะหนาให้บริษัทอยู่รอดให้ได้ก่อน”



ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา คุณปรีชา ยอมรับว่า นับตั้งแต่ก่อตั้งและดำเนินธุรกิจมา ไม่มีการทำ R&D เลย หรือมีบ้างที่อาจจะต้องมีการพัฒนาชิ้นส่วนรูปแบบใหม่ หรือพัฒนาไลน์การผลิตให้สามารถลดต้นทุนและเกิดงานที่มีคุณภาพ ได้มาตราฐานตามที่ลูกค้าต้องการ การนำหุ่นยนตร์เข้ามาใช้ในส่วนของงานเชื่อม ซึ่งจากการคำนวณจุดคุ้มทุนแล้วพบว่า หุ่นยนตร์ 1ตัวสามารถทดแทนแรงงานได้ถึง 6 คนเลยทีเดียว ดังนั้นภายหลังจากบริษัทฟื้นตัว คุณปรีชาจึงมีแนวคิดที่อยากจะพัฒนาหุ่นยนตร์ในแบบแขนกลอุตสาหกรรมขึ้นมาเองบ้าง จึงได้หอบไอเดียดังกล่าวไปปรึกษากับสถาบันวิทยาศาสตร์หุ่นยนต์ภาคสนาม(FIBO)  
“เดิมผมเป็นศิษย์เก่า จบวิศวกรรมศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยพระเจ้าเกล้าธนบุรี จีงค่อนข้างมีเพื่อนฝูงเยอะ ก็ไปคุยกับเพื่อนที่สอนพิเศษอยู่ที่บางมดว่าเรามีไอเดีย อยากทำหุ่นยนต์ มีใครพอที่จะช่วยเราได้บ้าง เพื่อนก็แนะนำให้ไปปรึกษา ดร.ชิต ที่ฟีโบ้ดู ซึ่ง ดร.ชิต ท่านก็เห็นว่าแนวคิดนี้เป็นแนวคิดที่ดี แต่การทำแขนกล 6 แกนเป็นอะไรที่ทำยากและท้าทายมาก แต่เรามีความเชื่อร่วมกันว่า โนว์ฮาวของฟีโบ้น่าจะถึง ดังนั้นเราจึงตัดสินใจให้ทุนสนับสนุนแก่ฟีโบ้ในการทำ R&D โดยมีเราเข้าร่วมด้วยนับตั้งแต่การวางคอนเซ็ปต์ ออกแบบ และสร้างตัวหุ่นยนต์ขึ้นมาในเวลาประมาณ 6-8 เดือน ก็ทำเรื่องขอสนับสนุนจากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) และได้รับทุนสนับสนุนมา 1 ล้านบาท
ในส่วนของบริษัทเอง เราได้มีการลงทุนไปมาก มีการจัดซื้อจัดหาอุปกรณ์ต่างๆ ซึ่งแต่ละชิ้นมีราคาแพงมาก เพราะเราซื้อไม่เยอะ เราซื้อแค่พอสร้างตัว Prototype เพื่อ proof concept ก่อนว่าทำได้หรือไม่ได้ ดังนั้นพลังในการต่อรองก็ไม่มี การทำ Sourcing ก็ยากเพราะเราซื้อน้อย”



ข้ามขั้น เรียนลัด  อุปสรรคสำคัญ ฐานไม่แน่น

ในระหว่างการพัฒนาหุ่นยนต์นั้น ล้วนเต็มไปด้วยอุปสรรค ซึ่งคุณปรีชาได้วิเคราะห์ปัญหาที่เกิดขึ้นในระหว่างการพัฒนาจนกระทั่งได้ต้นแบบ(Prototype)ขึ้นมา แต่ยังไม่สามารถก้าวข้ามไปสู่การพัฒนาในเชิงพาณิชย์ได้
“ที่ผ่านมายอมรับว่าเราไม่ได้ทำ R&D ( Research and Development)  โดยตรง แต่เราทำ C&D (Copy and Development) โดยเอาหุ่นยนต์ที่มีอยู่ 2 ยี่ห้อ มาถอดเป็นชิ้นๆ เพราะเราจะไม่เสียเวลาเริ่มต้นทำใหมทั้งหมด และเรากะเรียนทางลัดด้วย ซึ่งตรงนี้ วันนี้เรารู้แล้วว่าคิดผิด ที่ไม่เริ่มจากการสร้างฐานให้แน่นเสียก่อน
หากดูตัวอย่างจากบริษัทต่างประเทศที่เขาทำหุ่นยนต์จะพบว่า ไม่ว่าจะเป็นบริษัท มิตซูบิชิ  ยาสกาว่า  พานาโซนิค  เอบีบี  และ ฟานัค เหล่านี้ ล้วนเป็นบริษัทที่มีพื้นฐานมาจากการทำมอเตอร์มาก่อน แล้วค่อยต่อยอดเป็นหุ่นยนต์อุตสาหกรรม แต่สิ่งที่เราทำคือ หยิบยอดมาแล้วต่อยอดเลย โดยที่ไม่ได้พัฒนามาตั้งแต่ต้น อีกทั้งพื้นฐานเดิมของเมืองไทยมาจากการเป็นเมืองกสิกรรม และก้าวกระโดดมาสู่เมืองอุตสาหกรรมในแบบที่รับจ้างผลิต เราไม่มีพื้นฐานในการสร้างเครื่องมืออุตสาหกรรมด้วยตัวเอง เราไม่มีมอเตอร์ที่มีความละเอียดสูงเพีองพอที่จะนำมาต่อยอดเป็นหุ่นยนต์  เพราะหุ่นยนต์เป็นอะไรที่ต้องการความแม่นยำ และความเที่ยงตรงสูงมาก หากโนว์ฮาวตรงนี้เรามีไม่ถึง ก็ยากที่จะก้าวไปสู่อุตสาหกรรมได้”
เรื่องโนว์ฮาว นับเป็นเรื่องหนึ่งที่สำคัญ แต่นอกจากโนว์ฮาวแล้ว ยังมีปัจจัยอีกหลายองค์ประกอบที่ทำให้การพัฒนาหุ่นยนต์ก้าวไปไม่ถึงฝั่งฝัน นั่นคือ คุณภาพคน และเงินทุน   “ เรื่องโนว์ฮาวเป็นหนึ่งในหลายปัจจัยที่ทำให้เรารู้สึกถึงความเป็นจริงที่ว่า เรามีฐานที่ยังไม่แน่นพอ นอกจากนี้ยังมีเรื่องของคุณภาพ อย่างคุณภาพของตัวต้นแบบที่เราพัฒนาสำเร็จและนำไปโชว์นั้น  สามารถวาดภาพพระบรมมหาราชวังได้ โดยการใส่โปรแกรมเข้าไป แต่หากเป็นเรื่องของความเที่ยงตรง แม่นยำ และสามารถทำซ้ำนับล้านครั้งได้โดยไม่ผิดพลาดนั้น  ผมยังมองว่ายังทำไม่ได้ เมื่อทำไม่ได้ก็ยังไม่สามารถนำมาใช้ในอุตสาหกรรมจริงได้ แต่หากต้องการก้าวสู่การผลิตในเชิงพาณิชย์จริงๆ ยังต้องอาศัยการลงทุนอีกมาก โดยเฉพาะในเรื่องการแก้ไข และปรับปรุง เนื่องจากอย่างที่เรียนว่า เราไม่ได้เริ่มต้นจากพื้นฐาน แล้วค่อยๆสั่งสมประสบการณ์มา แต่เราหยิบยอดมาทำเลย ทำให้การพัฒนาเพื่อปรับปรุงต้องใช้เงินลงทุนที่สูง นอกจากนี้เรื่องของบุคคลากร ก็เป็นอีกเรื่องที่สำคัญ



เมื่อปีที่แล้ว ท่านโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฏ์  มาเยี่ยมเราและเห็นตัวหุ่นยนต์ตัวนี้  ท่านบอกว่าอยากให้ทำให้เสร็จ ท่านจะสนับสนุนเรื่องเงินทุนเอง แต่แน่นอนเรื่องคนเรายังมีไม่ถึง และผมก็ได้เรียนท่านไปว่า เราไปหยิบแต่ยอดของเทคโนโลยี่ที่มีการพัฒนามาอย่างยาวนานจากบริษัททำมอเตอร์มา โดยที่เราเอามาประกอบขาย ในขณะที่ยังไปซื้อมอเตอร์จากบริษัทเหล่านั้นอยู่ หากเราจะผลิตขายทางเดียวที่เราจะสู้ได้ คือ เอาเรื่องปริมาณซึ่งเราเองก็ไม่แน่ใจว่าเราจะทำออกมาได้ดีกว่าต้นฉบับมากน้อยแค่ไหน รวมถึงต้นทุนในการสร้างหุ่นยนต์ 1 ตัว มีราคาแพงกว่านำเข้าหุ่นยนต์สำเร็จรูปเสียอีก ประกอบกับหุ่นยนต์ที่เราพัฒนาอยู่นี้เป็นหุ่นยนต์ระดับ Hi-end ซึ่งเป็นงานที่ยากและท้าทายความเที่ยงตรงและความแม่นยำค่อนข้างสูง ในขณะที่โนฮาวน์ของเราทางด้านนี้ไม่มี” คุณปรีชากล่าว

แม้จะรู้ว่าหุ่นยนต์จะเป็นอนาคต แต่เมื่อมีอุปสรรคที่ยากจะแก้ไข คุณปรีชาจึงตัดสินใจที่จะหยุดโปรเจ็คนี้ไว้ก่อน จนกว่าจะเห็นลู่ทางและอนาคตว่าจะมีความเป็นไปได้จริงๆ จึงจะตัดสินใจใหม่อีกครั้ง
“เบื้องต้นผมก็คิดว่าอยากจะเดินหน้าต่อไป แต่พอหันกลับมามองความพร้อมของเรา โดยเฉพาะบุคคลากรที่จะมาซัพพอร์ท เราเองก็ไม่มีโนวฮาวทางด้านนี้ ผมก็เลยมีความคิดว่า หุ่นยนต์ 6 แกน คงเป็นอะไรที่ยากเกินไป ผมจึงตัดสินใจและกลับมานั่งพิจารณว่า ประเทศจีนที่ได้ชื่อว่า ทำ C&D ได้ดีที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ยังไม่มีหุ่นยนต์ 6 แกน เพราะอย่างที่บอกคือ มันยาก และท้าทายต่อความเที่ยงตรงและแม่นยำมาก พอเราเห็นอย่างนั้นแล้ว ผมก็มีแนวคิดว่า ถ้าเราอยากเห็นอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ไทยเกิด เราควรมาร่วมกันพัฒนาอุตสาหกรรมมอเตอร์ (servo motor) ซึ่งเป็นพื้นฐานให้เกิดขึ้นเสียก่อน กลับมาทำรากของเราให้แน่นเสียก่อน และค่อยมาหาสูตรว่าทำอย่างไรให้มอเตอร์ทั้ง 6 ตัวเดินได้ และได้ผลลัพธ์ออกมาสอดคล้อง หรือเกิดการ synchronize กัน”



“หุ่นยนต์” หลายคนคิด แต่น้อยคนกล้าทำ

เมื่อถามถึงแนวคิดนี้ มีนักอุตสาหกรรมท่านอื่นๆ มีหรือไม่ที่คิดคล้ายกันกับคุณปรีชา ในเรื่องนี้ คุณปรีชามองว่า คงมีนักอุตสาหกรรมอีกมากที่คิดคล้ายผม คือไม่อยากเป็นผู้รับจ้างผลิตตลอดไป แต่จะมีใครกล้าทำเหมือนผมหรือเปล่านั้น ไม่แน่ใจว่ามีหรือไม่ โดยเฉพาะในวงการอุตสาหกรรมด้านการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ที่ต้นทุนการผลิตสูงขึ้นทุกปี ในขณะทีอีกด้านหนึ่งเราก็โดนลูกค้าบีบเรื่องราคา หากไม่ลดราคาก็จะไม่มีออเดอร์ใหม่ให้นะ อะไรอย่างนี้ คือเรื่องอย่างนี้ เราในฐานะผู้รับจ้างผลิตก็จำเป็นจะต้องให้ความร่วมมือ  แต่หากใครมีทางออก เราก็จะผันตัวเองไปสู่ทางออกใหม่ แต่หากใครที่ยังจะยืนอยู่ที่เดิม ก็ต้องยอมรับกับสภาพการแข่งขัน ที่กว่าจะได้เป็นผู้ผลิตพาร์ทใหม่สักชิ้น เราต้องแข่งขันกับผู้ผลิตรายอื่นอีกหลายราย โดยรายที่จะถูกเลือกจะต้องสามารถผลิตของได้คุณภาพดีสุดในราคาถูกสุด เมื่อได้ออเดอร์มาแล้ว เราจะทำอย่างไรที่จะต้องผลิตของดีในราคาต้นทุนต่ำได้ ก็ต้องมาปรับปรุงกระบวนการผลิตใหม่ ทำไคเซน คือ ทำทุกวิถีทางที่จะทำให้ได้ต้นทุนที่ต่ำที่สุด

“ในการทำหุ่นยนต์เป็นการดิ้นรนของผมและบริษัทที่ต้องการฉีกออกจากเส้นทางธุรกิจเดิม ถามว่าวันนี้เราทำได้อย่างที่คิดฝันไว้หรือเปล่า ทำได้ แต่เป็นเพียงตัวต้นแบบ ที่ยังขายไม่ได้ แม้จะมีลูกค้าสนใจสั่งจองมาแล้วไม่ต่ำกว่า 6 ตัว แต่เรายังขายไม่ได้ เพราะเรายังไม่สามารถก้าวไปถึงจุดๆนั้น เพราะมันเหมือนมีกำแพงที่จะกระโดดอย่างไรก็กระโดดข้ามไปไม่ได้ แม้เราจะรู้ว่าโอกาสแสนงามรออยู่เบื้องหน้าก็ตาม”



ท้ายที่สุดนี้ คุณปรีชา ได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับความสำคัญของหุ่นยนต์ในอุตสาหกรรมว่า “ผมมองว่า เนื่องจากค่าแรงในปัจจุบันแพงขึ้นเรื่อยๆ จะเป็นตัวเร่งที่สำคัญ ดังนั้นแนวโน้มอุตสาหกรรมกับหุ่นยนต์มาแน่ แต่อาจจะไม่ได้มาในรูปของหุ่นยนต์ 100 เปอร์เซนต์ แต่อาจมาในรูปของระบบออโตเมชั่นมากขึ้น ในโรงงานของผมแอง หลังจากค่าแรงเพิ่มเป็น 300 บาท ผมสั่งหุ่นยนต์เข้ามาเพิ่มอีกประมาณ 20 กว่าตัว ขยายจากงานเชื่อมเป็นส่วนอื่นๆ ขณะนี้ในโรงงานมีการใช้หุ่นยนต์ประมาณ 50 ตัวแล้ว และมีแนวโน้มจะขยายเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพื่อรองรับกับค่าแรงที่เพิ่ม และแรงงานหายากมากขึ้น”
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่