ไม่เอาเผด็จการเสียงข้างมาก แล้วอะไรคือทางเลือก .... กษิต ภิรมย์ ...แนวหน้าออนไลน์

กระทู้สนทนา
ระบอบทักษิณทุนนิยมสามานย์ได้เข้ามาครอบงำชีวิตการเมืองแบบประชาธิปไตยของไทยในระบอบสภา
แบบตัวแทนที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรง  โดยพรรคการเมืองเป็นผู้คัดเลือกและผู้เสนอตัวผู้สมัคร

ระบอบทักษิณทุนนิยมสามานย์ได้ใช้หลักเสียงข้างมากในสภาเป็นความชอบธรรมในการตัดสินใจบริหารบ้านเมือง
ซึ่งเรื่องใหญ่คือ การใช้เงินภาษีราษฎร รวมทั้งเงินกู้

และบัดนี้ ระบอบทักษิณทุนนิยมสามานย์กำลังใช้หลักเสียงข้างมากเป็นคัมภีร์แห่งความชอบธรรมที่จะแก้ไข
กฎหมายรัฐธรรมนูญเพื่อให้อำนาจตกอยู่ที่เสียงข้างมากยิ่งขึ้น  ดังกรณีการแก้ไขมาตรา 68 และ 190  และที่จะ
ออกกฎหมายนิรโทษกรรม  เพื่อให้มีผลย้อนหลัง และล้มล้างคำตัดสินของศาลยุติธรรม ซึ่งการกระทำที่จะก่อ
ให้เกิดผลย้อนหลังก็ดี หรือการล้มล้างอำนาจหน้าที่ศาลยุติธรรมหรือฝ่ายตุลาการก็ดี เป็นการขัดกับหลักกฎหมาย
ว่าด้วยการย้อนหลังมิได้ และขัดกับหลักกฎหมายว่าด้วยการแบ่งแยกคานอำนาจ และการไม่ก้าวก่ายอำนาจหน้าที่
ระหว่างฝ่ายอำนาจอธิปไตยทั้ง 3 ซึ่งกันและกัน

การใช้หลักเสียงข้างมากอย่างไม่ไว้หน้าอินทร์หน้าพรหม ก่อให้เกิดความเหนื่อยหน่าย ผิดหวัง และหมดหวังกับ
การเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภาของไทย เพราะไม่มีการใช้เหตุใช้ผล ไม่รับฟังเหตุและผล
ไม่มีการหาฉันทมติและข้อยุติร่วมกันระหว่างฝ่ายรัฐบาลกับฝ่ายค้าน ด้วยเหตุด้วยผล ด้วยหลักกฎหมาย ความถูก
ต้องและความเหมาะสม หรือความควรไม่ควรของประเด็นปัญหา หรือสาระเนื้อหาของเรื่อง หรือข้อกฎหมาย

ก็เลยมีการตั้งคำถามว่า เมื่อรัฐสภาซึ่งควรเป็นเวทีที่จะปกป้องผลประโยชน์ชาติ แต่กลับกลายเป็นเวทีที่ฝ่ายเสียง
ข้างมากสามารถทำตามอำเภอใจ หรือเป็นเครื่องมือของระบอบทักษิณทุนนิยมสามานย์  แล้วจะมีรัฐสภากันไปทำไม
แล้วเราจะมีรูปแบบการเมืองทางเลือกอย่างไร ที่เสียงข้างมากมิใช่ความชอบธรรมเสมอไป หรือจะมีรูปแบบโครงสร้าง
การเมืองใหม่อย่างใดที่จะป้องกันการถูกครอบงำโดยหลักเสียงข้างมาก ที่ชักใยโดยระบอบทักษิณทุนนิยมสามานย์

ข้อคิดหนึ่งก็คือ ก็คงต้องหาทางออกจากการที่สังคมการเมืองของไทยจะผูกปิ่นโต หรือฝากชีวิต ฝากผีฝากไข้ทั้งหมด
ไว้กับระบอบรัฐสภาที่ถูกครอบงำด้วยเสียงข้างมากของทุนนิยมสามานย์ดังกล่าว  โดยกระจายอำนาจไปสู่ภาคประชาชน
ให้มากยิ่งขึ้น ในการตรวจสอบและการเข้าร่วมในกระบวนการตัดสินใจโดยทางตรงให้มากขึ้น แทนการผ่านผู้แทนราษฎร
และการเพิ่มองค์กรกลไกที่จะมาถ่วงดุลอำนาจรัฐสภา หรือแบ่งรับงานจากรัฐสภาให้มากหรือหลากหลายยิ่งขึ้น

ก็ทำให้คิดถึงประเทศต่างๆในโลกว่า เขาต่างมีองค์กรต่างๆมากกว่าองค์กรคณะรัฐมนตรี  องค์กรคณะนิติบัญญัติ
และองค์กรตุลาการ  เช่นที่ สหรัฐอเมริกาและแคนาดา เขามีองค์กรของคนอินเดียนแดง ซึ่งเป็นผู้ครอบครองพื้นที่ดั้งเดิม
ก่อนที่คนยุโรปจะอพยพเข้ามาอยู่ และยึดไปครองที่เบลเยี่ยม มีสภาชุมชนของชาวเบลเยี่ยมที่พูดภาษาฝรั่งเศส และ
ที่พูดภาษาเฟลมมิช หรือดัชท์

ที่อังกฤษก็มีสภาขุนนางของผู้เป็นอดีตข้าราชการ อดีตผู้มีชื่อเสียงด้านหนึ่งที่ได้ยศถาบรรดาศักดิ์ หรือผู้ที่เป็นขุนนาง
ตามสายเลือด

อีกหลายๆประเทศก็มีสภาสูง แต่มีที่ไปที่มาทั้งคุณสมบัติและวิธีเข้ามาสู่ตำแหน่งหน้าที่แตกต่างไปจากผู้แทนราษฎร
ในสภาล่างอย่างสิ้นเชิง  ขณะเดียวกันหลายๆประเทศก็มีองค์กรทางภาคธุรกิจ และภาคประชาชนที่เข้มแข็งเพื่อรักษา
ผลประโยชน์ของสายสาขาอาชีพและของภาคสังคม ที่จะคอยทักท้วง หรือยื่นข้อเสนอต่างๆต่อองค์กรภาครัฐโดยเฉพาะ
รัฐสภา รวมทั้งเรื่องการโน้มน้าว และการมีอิทธิพลต่อความคิดต่อการตัดสินใจ (Lobby)

สำหรับไทยเรา เพื่อถ่วงดุลอำนาจของรัฐสภา ซึ่งในความเป็นจริงถูกครอบงำโดยเสียงข้างมากภายใต้การกำกับสั่งการ
ของระบอบทักษิณทุนนิยมสามานย์ดังกล่าว  ก็อาจคิดกันได้ในเรื่องการกระจายอำนาจ การเสนอและร่วมพิจาณากฎหมาย
หรือการร่วมพิจารณาเรื่องระดับชาติร่วมกับรัฐสภาได้ เช่น

การมีสภาเชื้อชาติ และชนกลุ่มน้อย,การมีสภาขององค์กรปกครองท้องถิ่น(อบจ. อบต. เทศบาล),การมีสภาภาค 4 ภาค
หรือกลุ่มจังหวัด หรืออนุภาค ซึ่งเป็นสภาพื้นที่ทางภูมิศาสตร์,การมีสภาวิชาชีพ และสาขาอาชีพหลัก, การมีสภาคุ้มครอง
ผู้บริโภค,การมีสภาของผู้ด้อยโอกาสต่างๆ,การมีสภาคุ้มครองสิทธิประชาชนต่อพฤติกรรมของฝ่ายราชการ

และสภาเหล่านี้สามารถร่วมพิจาณาให้ข้อคิดเห็นเสนอต่อรัฐสภาได้ในเรื่องของชาติบ้านเมือง ส่วนเรื่องอื่นๆ หรือ
กฎหมายใดๆ ที่เกี่ยวกับชีวิตหรือผลประโยชน์ของกลุ่มเฉพาะกิจนั้นๆ ก็ต้องได้รับความเห็นชอบจากสภานั้นๆ ด้วย

ก็จริงอยู่ ทุนนิยมสามานย์อาจเข้าครอบงำได้ทุกวงการหรือทุกสภา แต่คงยากขึ้น อีกทั้งการเข้าถึงซึ่งข้อมูล การหมุน
เวียนของข้อมูลจะไม่เปิดโอกาสให้มีสภาวะของการปราศจากความโปร่งใส และความรับผิดชอบ ซึ่งการได้รับรู้และการ
ได้เข้าถึงข้อมูลข่าวสาร การได้เข้าร่วมมีสิทธิ์มีเสียงด้วยอย่างจริงจังโดยตรง ก็เป็นการแสดงพลังอำนาจและการมีส่วน
ร่วมแล้ว ยังเป็นการลดการครอบงำของอำนาจเบ็ดเสร็จเสียงข้างมากในรัฐสภาได้

นอกจากนั้น เรื่องสำคัญต่างๆของชาติ เช่น การลงประชามติ หรือการลงคะแนนเห็นชอบหรือไม่กับเรื่องนั้นๆ โดยผ่าน
ระบบอีเล็คโทรนิคส์ที่ทุกคนมีเบอร์ประจำตัวที่สามารถตรวจสอบว่า เป็นของแท้ และป้องกันการทุจริตมิชอบได้  ด้วย
การที่เทคโนโลยีการสื่อสารเจริญก้าวหน้า จึงเป็นโอกาสที่ดีที่จะอำนวยให้มีการขยายประชาธิปไตยโดยการมีส่วนร่วม
โดยตรงมากยิ่งขึ้น

ทั้งหมดนี้เป็นข้อคิด เพื่อมุ่งเรื่องการกระจายอำนาจและการขยายการมีส่วนร่วมทั้งโดยทางอ้อม และทางตรงมากยิ่งขึ้น  
เป็นการเสริมสร้างความเป็นประชาธิปไตย และเป็นการป้องกันการครอบงำโดยเสียงข้างมากที่อยู่ในอาณัติของระบอบ
ทุนนิยมสามานย์

กษิต  ภิรมย์

http://www.naewna.com/politic/columnist/7231

ข้อคิดนี้  คงจะน่ารับฟังมากขึ้น  หากผู้เขียนไม่นำทุกเรื่องของข้อเสนอแนะ  ไปโยงใยกับ  คุณทักษิณ
แค่ขึ้นต้นด้วย "ระบอบทักษิณทุนนิยมสามานย์"  ก็ดูจะทำให้ข้อเขียนนี้  หมดคุณค่าลงไปทันที  เพราะ
ดูจะก้าวไม่ข้าม   "ทักษิณ"  

อันที่จริง คนนนิยม  ชมชอบ  คุณทักษิณ  เพราะเชื่อมั่นในวิสัยทัศน์  และผลงาน  ก็ต้องไม่ก้าวข้าม
คุณทักษิณ  ...อยู่แล้ว ....

แต่หากไม่นิยมชมชอบ  คุณทักษิณ  แต่ยังต้องนำทุกสิ่งที่เสนอแนะ  มาเปรียบเทียบกับ  คุณทักษิณ
อยู่ตลอด   ด้วยการเสียดสี  ถากถางแบบนี้   คงยากเหมือนกัน  ที่จะทำให้คนที่เขายังนิยมชมชอบ
ยอมรับ ในข้อคิดของคุณ  ....

ดูเอาเถอะ ทั้งขึ้นต้น  ลงท้าย ก็   ระบอบทุนนิยมสามานย์  มันเป็นระบอบอะไรกันนะ ระบอบการปกครอง
แบบไหน  เป็นประชาธิปไตย  หรือเผด็จการ  มีสภาผู้แทนราษฎร  และมีรัฐธรรมนูญไหม
?   ยิ้ม

สาวแว่น
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่