เลือดนองตลาด By ดร.นิเวศน์

กระทู้สนทนา




ช่วงประมาณ 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมานั้นดูเหมือนว่าตลาดหุ้นจะมีการปรับตัวลงมาแรงจนน่าตกใจ  ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ตกลงมาจากประมาณ  1640 กว่าจุดเหลือ 1465 จุดในวันที่ 14 มิถุนายน 2556 ซึ่งเป็นการตกลงมาเกือบ 200 จุดหรือลดลงประมาณ 10%    ในบางช่วงนั้น  บางวันหุ้นตกลงมาถึง 5%  และยังตกติดต่อกันอีกหลายเปอร์เซ็นต์ในวันต่อมาแม้ว่าจะมีการ “รีบาวด์”  เป็นระยะ ๆ  บางทีในวันเดียวกัน  เหตุผลที่หุ้นตกลงมานั้น  นักวิเคราะห์ต่างก็บอกว่าเป็นเรื่องของการที่สหรัฐอเมริกามีภาวะทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้นดังนั้นมาตรการ QE ซึ่งคอยอัดฉีดเงินเข้าระบบการเงินทุกเดือนอาจจะต้องลดลงซึ่งจะทำให้สภาพคล่องทางการเงินที่เคยไหลมาลงทุนในตลาดหุ้นเอเซียต้องถูกถอนกลับ  ผลก็คือ  นักลงทุนเทขายหุ้นและทำให้หุ้นตกลงมาอย่างหนักทั่วเอเซีย  ตัวเลขการขายหุ้นสุทธิของนักลงทุนต่างชาติในตลาดหุ้นของไทยก็ฟ้องว่ามีการขายหุ้นจริงคิดเป็นหลายหมื่นล้านบาทตั้งแต่ต้นปี   วันที่หุ้นตกอย่างหนักบางวันก็เห็นว่านักลงทุนต่างชาติขายสุทธิมากถึง 5-6 พันล้านบาท   ปรากฏการณ์หุ้นตกครั้งนี้ผมมีความคิดและข้อสังเกตหลาย ๆ  อย่างที่อยากจะพูด
   เรื่องแรกก็คือ  การตกของหุ้นในรอบนี้ที่ดูเหมือนว่าจะรุนแรงนั้น  ว่าที่จริงดัชนีหุ้นก็ยังสูงกว่าดัชนีเมื่อสิ้นปีที่ผ่านมาที่อยู่ที่ 1392 จุด  ดังนั้น  สำหรับคนที่  “มองยาว”  อย่างผมซึ่งมักจะดูดัชนีเป็นปี ๆ  แล้ว  ผมไม่ได้คิดว่าหุ้นตกอะไรเลย  เพราะเมื่อผ่านมาประมาณเกือบครึ่งปีของปีนี้หุ้นก็ยังขึ้นมาประมาณ 5%  เมื่อรวมกับปันผลประมาณเกือบ 3%  ผลตอบแทนจากการลงทุนหุ้นในตลาดหลักทรัพย์โดยรวมยังสูงถึง 8%  และถ้าเราคาดว่าหุ้นก็จะมีผลประกอบการแบบเดิมในครึ่งปีที่เหลือ   เราก็คูณด้วย 2  ก็จะได้ว่าหุ้นปีนี้อาจจะให้ผลตอบแทนถึง 16% ซึ่งเป็นอัตราผลตอบแทนที่ดีเลิศ  ดังนั้น  เราจะเสียอกเสียใจไปทำไมถ้าเราเป็นนักลงทุนระยะยาว?   คนที่จะกลุ้มใจและอาจจะเสียหายหนักน่าจะเป็นคนที่เพิ่งเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นในช่วงเร็ว ๆ   นี้ก่อนหุ้นจะตก   หรือไม่ก็เป็นคนที่ทุ่มเงินเข้ามาลงทุนมากในช่วงนี้   อย่างไรก็ตาม  คนที่มีหุ้นเต็มพอร์ตมาตลอดและถือหุ้นระยะยาวเองก็คงรู้สึกเศร้าอยู่เหมือนกันที่เห็นเงินในพอร์ต  “หาย”  หรือลดลงไปมากในช่วงเวลาสั้น ๆ   คำแนะนำหรือคำปลอบประโลมใจของผมก็คือ  นี่คือสิ่งที่จะต้องเกิดขึ้นถ้าเราอยู่ในตลาดหุ้นมานาน  วอเร็น บัฟเฟตต์ เองถึงกับบอกว่า   ถ้าคุณไม่สามารถมองเห็นพอร์ตหรือราคาหุ้นลดลงไปถึง 50% ได้  คุณก็ไม่ควรอยู่ในเกมของการลงทุน
   เรื่องที่สองก็คือ  การตกของหุ้นในรอบนี้เป็นสิ่งที่ผมเคยคาดไว้หรือไม่?   คำตอบก็คือ  ผมเองคิดไว้ตั้งแต่ปลายปีที่แล้วว่าปีนี้น่าจะเป็นปีที่หุ้นอาจจะไม่ดี  ว่าที่จริงผมเองคิดว่ามีโอกาสที่ผลตอบแทนของปีนี้จะ  “ติดลบ”  ด้วยซ้ำ  เหตุผลของผมก็คือ  ตลาดหุ้นไทยย้อนหลังไปถึงปี 2552 หรือ 4 ปีที่ผ่านมานั้นให้ผลตอบแทนที่  “สุดยอด” นั่นคือ  ปี 2552 หุ้นขึ้นมา 63%  ปี 53 หุ้นขึ้นอีก 41%  ส่วนปี 54 นั้น หุ้นนิ่งเท่ากับปี 53 หรืออาจจะเรียกว่า  “หยุดพัก”  หลังจากนั้นในปี 55  หุ้นก็เริ่มวิ่งใหม่  ขึ้นมาอีก 36%   จากดัชนีสิ้นปี 51 ที่ประมาณ 450 จุดขึ้นมาเป็น 1392 เมื่อสิ้นปี 55 หรือขึ้นมาสูงเป็นกว่า 3 เท่าในเวลา 4 ปี  ซึ่งเป็นสถิติที่ตลาดไทยไม่เคยเจอ  และถ้าปี 56 ตลาดหุ้นขึ้นมามากอีก  มันก็เป็นอะไรที่  “สุดโต่ง”  เมื่อเทียบกับสถิติ “ระยะยาว”  ของตลาดหุ้นไทยที่ผลตอบแทนประจำปีที่เป็นบวกต่อปีที่ผลตอบแทนเป็นลบนั้น  เป็นแค่ 60:40  และผลตอบแทนเฉลี่ยต่อปีเป็นแค่ประมาณ 10%   ดังนั้น  ความหวังของผมในตอนสิ้นปี 2555 ก็คือ  ดัชนีตลาดในปี 2556 จะไม่เป็นลบ  แต่การณ์กลับเป็นว่า  เพียง 3-4 เดือนของปี 2556 ตลาดก็ขึ้นไปแล้วเกือบ 20%  ซึ่งทำให้ผมคิดว่า  การ “ปรับตัว”  น่าจะเกิดขึ้นได้เสมอ  ก็ได้แต่หวังว่าผลตอบแทนเมื่อสิ้นปีนี้จะไม่เป็นลบ
   เรื่องต่อมาก็คือ  ผมได้ทำอะไรเมื่อหุ้นตกลงมาแรง?  คำตอบก็คือ  ผมไม่ได้ทำอะไรเลย  ว่าที่จริงในทุกครั้งที่หุ้นตกแรงไม่ว่าจะในปีไหนหรือตกจากสาเหตุอะไร  ผมไม่เคยที่จะขายหุ้น  ผมคิดว่าในยามที่คนกำลัง “ขวัญผวา”  และเทขายหุ้นเหมือนฟ้าจะถล่มนั้น  หุ้นย่อมจะต้องตกเกินความเป็นจริง  ดังนั้น  ถ้าเราขายหุ้นในวันนั้น  เราก็จะขายได้ต่ำกว่าความเป็นจริง  ผมคิดว่าถ้าเราคิดว่าพื้นฐานของกิจการเปลี่ยนจริง ๆ  เราก็รอขายในอีก 2- 3 วันที่คนหายตื่นตระหนกจะดีกว่า   ถ้าจะว่าไป  ในทุกครั้งที่เกิด “แพนิค”  หลังจากนั้นก็จะต้องมีการ  “รีบาวด์” ให้เราขายได้เสมอ  แต่ในกรณีที่พื้นฐานไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง  ผมก็ไม่ทำอะไร  บางทีถ้าหุ้นตัวที่เราสนใจตกลงมามากจนคุ้มค่า   ผมก็จะเข้าไปซื้อเท่าที่จะหาเงินมาได้
   เรื่องที่สี่ก็คือ  ในระดับดัชนีขณะนี้  มองไปข้างหน้าเราสามารถลงทุนระยะยาวโดยการเข้ามาซื้อหุ้นได้หรือไม่?   นี่เป็นคำถามที่ตอบยาก  ประเด็นก็คือ  ในภาวะที่หุ้นร้อนแรงมาก (แม้ว่าจะปรับตัวลงมาบ้าง)  ผมเองคิดว่าหุ้นที่มีราคาถูกมาก ๆ  นั้นหาได้ค่อนข้างยากหรือไม่ก็เป็นหุ้นที่อาจจะถูกแต่ก็มีความเสี่ยงบางอย่างที่อาจจะสูงสำหรับผม   ดังนั้น  ถ้าผมยังไม่มีหุ้นอยู่เลยหรือมีหุ้นจำนวนน้อยและมีเงินสดเหลือมาก  ผมก็คงจะ  “รอ”  หรือไม่ก็เลือกหุ้นบางตัวที่มีความปลอดภัยสูงและก็คงไม่เข้าไปลงทุนมากมายอะไรนัก   ผมคิดว่ายังน่าจะมีเวลาที่หุ้นจะตกต่ำลงมากกว่านี้  หรือไม่เราก็อาจจะพบหุ้นบางตัวที่โดดเด่นขึ้นมาจนมีคุณค่าและเป็นหุ้นที่มี Margin of Safety สูงพอที่เราจะลงทุนได้อย่างสบายใจ  จำไว้ว่าเราไม่มีแรงกดดันอะไรที่จะต้องตัดสินใจในสิ่งที่เราไม่แน่ใจ  อย่าลืมว่า วอเร็น บัฟเฟตต์ เองนั้น  บ่อยครั้ง  นั่งทับเงินสดเป็นพัน ๆ ล้านเหรียญ เป็นปี ๆ
   คำถามสุดท้ายก็คือ  ถ้าเรามีหุ้นอยู่เต็มพอร์ต   เราควรทยอยขายออกไปไหมเพื่อ “ลดความเสี่ยง”  เหนือสิ่งอื่นใด  เราได้กำไรมามากแล้วในช่วงหลายปีที่ผ่านมา  ควรไหมที่เราจะ “ล็อก” กำไรหรือเม็ดเงินไว้  รอดูให้ทุกอย่าง “คลี่คลาย”  แล้วค่อยกลับมาลงทุนใหม่?   สำหรับคำถามนี้ผมเองยอมรับว่าตอบไม่ได้เหมือนกัน  จริงอยู่  ผมเองก็คิดว่าหุ้นในเวลานี้ไม่ถูกหรือบางทีอาจจะแพงด้วยซ้ำ  แต่ถ้าเราขายไปแล้วถือเงินสดหรือลงทุนในตราสารหนี้ก็ตาม  ผลตอบแทนที่ได้ก็จะต่ำมากอาจจะเพียง 2-3%  ในขณะที่การลงทุนในหุ้นนั้นอาจจะไม่ดี   แต่พอร์ตเราก็ยังอาจจะพอไปได้ให้ผลตอบแทนอาจจะ 4-5% แม้ว่าดัชนีตลาดอาจจะติดลบ  ในกรณีแบบนี้   การถือหุ้นไว้ก็ยังดีกว่า   และเมื่อตลาดเริ่มฟื้นตัว  พอร์ตของเราก็อาจจะเดินหน้าต่อไป  ดังนั้น  ดู ๆ  แล้ว  การที่จะขายหุ้นเพื่อถือเงินสดนั้น  อาจจะไม่ให้ประโยชน์อะไรและอาจจะทำให้พลาดอย่างแรงกรณีที่หุ้นไม่ได้ปรับลดดังคาด  และถ้าหากว่าหุ้นกลับขึ้นไปโดยที่เราไม่กล้ากลับเข้าไปในตลาดเร็วพอ  ความเสียหายก็จะเพิ่มทวีคูณ   ด้วยเหตุผลดังกล่าว  ผมจึงมักจะ “อดทน” ถือหุ้นไว้แม้ในใจจะหวั่นว่าหุ้นอาจจะปรับตัวลงหนักได้ตลอดเวลา

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่