สาเหตุของการมีบุตรยากในฝ่ายหญิง ตามทัศนะการแพทย์แผนจีน

สาเหตุแห่งปัญหามีบุตรยากในฝ่ายหญิง ตามทัศนะการแพทย์แผนจีน เห็นว่า เกิดขึ้นได้จากสาเหตุ 6 ประการดังนี้

1) ชี่ของไตอ่อนแอ
อาจเกิดจากพลัง”ชี่” พร่องมาแต่กำเนิด หรืออาจเกิดจากการมีเพศสัมพันธ์มากเกินไป ซึ่งมีผลในการทำลายชี่ของไต ทำให้มีพลัง”ชี่”ของไต ไม่เพียงพอที่จะผลิตเทียนกุ่ยซึ่งเปรียบได้กับฮอร์โมส์เพศตามหลักการแพทย์แผนจีน (อ่านเรื่องเทียนกุ่ยได้ที่ http://is.gd/xELutq) และทำให้เส้นลมปราณ เริ่นม่าย(任脉) และชงม่าย(冲脉)พร่อง มดลูกขาดการบำรุงเลี้ยง ทำให้ไม่สามารถเก็บรักษาอสุจิไว้ การปฏิสนธิจึงไม่เกิดขึ้น

2) เลือดพร่อง
เลือดเป็นวัตถุดิบพื้นฐานสำหรับการปฏิสนธิ หากม้ามและกระเพาะอาหารผิดปกติ การผลิตเลือดจะถูกกระทบกระเทือน ทำให้เส้นลมปราณพร่องหรือทำงานผิดปกติ มดลูกจึงขาดการบำรุงเลี้ยง การปฏิสนธิก็ไม่เกิดขึ้น

3) ชี่ของตับไหลเวียนไม่สะดวก
การแพทย์แผนจีนเห็นว่า อารมณ์ที่เป็นปกติขึ้นอยู่กับความราบรื่นของการไหลเวียนของพลังชี่และเลือด ซึ่งตับเป็นอวัยวะสำคัญที่ทำหน้าที่ควบคุม หากอารมณ์ได้รับความกระทบกระเทือน โดยเฉพาะการผิดหวังและโกรธ จะทำให้ตับได้รับความกระทบกระเทือน และเกิดสภาวะชี่ของตับชะงักงันไม่ไหลเวียน เมื่อชี่และเลือดทำงานไม่สอดคล้องกัน เส้นลมปราณก็จะถูกกระทบกระเทือน ประจำเดือนจะไม่มาเป็นปกติ ซึ่งส่งผลให้ตั้งครรภ์ได้ยาก

4) เสมหะ และชื้น อุดตันในร่างกาย
เกิดจากโภชนาการที่ไม่เหมาะสม หรือหยางของไตและม้ามพร่อง ทำให้กระบวนการดูดซึมน้ำทำงานผิดปกติ ก่อให้เกิดเสมหะมากเกินไปในร่างกาย และเกิดความชื้นสะสม ทำให้การไหลเวียนของชี่ในร่างกายถูกรบกวน และเส้รลมปราณรอบมดลูกถูกกีดขวาง ส่งผลให้ประจำเดือนมาไม่เป็นปกติ และเกิดปัญหาในการตั้งครรภ์

5) เลือดไหลเวียนไม่สะดวก เกิดการคั่งค้างอยู่ภายในร่างกาย
การป่วยเรื้อรัง และชี่พร่อง เป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการไหลเวียนของเลือด และนำไปสู่อาการเลือดคั่ง หากการคั่งเกิดที่มดลูก และทำให้เส้นลมปราณชงม่าย(冲脉 thoroughfare vessel) และเริ่นม่าย(任脉 Conception Vessel) แย่ลง ส่งผลให้ประจำเดือนผิดปกติ และการปฏิสนธิเป็นไปได้ยาก

6) ความชื้น-ร้อน สะสมภายในร่างกาย
สุขอนามัยในบริเวณฝีเย็บไม่ดีทำให้ความชื้นและร้อนรุกรานเข้าสู่มดลูกได้ เมื่อเส้นลมปราณถูกกีดขวาง การส่งเลือดและพลังชี่จึงถูกขัดขวาง จึงเป็นการยากที่จะผสานสารจำเป็น"จิง"ที่มีมาแต่กำเนิดจากพ่อและแม่ไปสู่การเป็นตัวอ่อนในมดลูก
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่