ถอดรหัส “หมากล้อม” “กลยุทธ์บริสุทธิ์” รบชนะในสมรภูมิธุรกิจยุคดิจิตอล

กระทู้สนทนา
ถอดรหัส “หมากล้อม” “กลยุทธ์บริสุทธิ์” รบชนะในสมรภูมิธุรกิจยุคดิจิตอล



ในสมรภูมิธุรกิจยุคดิจิตอล  ไม่ใช่แค่มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นตลอดเวลา แต่ยังเป็นการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วอีกด้วย

การปรับตัวตามสถานการณ์และการรู้จักบริหารทรัพยากรที่มีอยู่ในมืออย่างพอเหมาะถือเป็นเคล็ดลับสำคัญ บริษัทหลายแห่งมุ่งเป้าหมายเพื่อแย่งชิงส่วนแบ่งการตลาดของคู่แข่งอย่างรุนแรงจนกระทั่งบาดเจ็บและต้องปิดตัวเองไป แท้จริงแล้วไม่ใช่กลยุทธ์ที่ถูกต้อง เพราะการชนะในตลาดใดตลาดหนึ่งอาจหมายถึงการสูญเสียตลาดอีกหลายแห่ง

การต่อสู้ทางธุรกิจจึงไม่ต่างอะไรกับกระดาน หมากล้อมหรือ “โกะ” ซึ่งถ้าผู้เล่นเข้าใจเกมและสถานการณ์ต่าง ๆ รู้จักเลือกใส่ “หมาก” หรือ “ทรัพยากร” เพื่อต่อสู้กับคู่แข่ง เลือกและประเมินข้อได้เปรียบเสียเปรียบในแต่ละตลาด ในแต่ละธุรกิจ ยอมแพ้ในจุดที่อ่อนแอ เพื่อไปชนะในตลาดที่ตัวเองแข็งแกร่งกว่า อาจจะสามารถกินส่วนแบ่งตลาดได้มากกว่าเสียด้วยซ้ำ

เพราะปรัชญาสูงสุดของโกะ คือ ไม่มุ่งร้ายทำลายคู่ต่อสู้ให้สิ้นซาก และต้องชนะได้โดยไม่คิดเอาชนะ เน้นการฝึกฝนเป็นสำคัญ อดทน เข้มแข็ง ไม่ก้าวร้าว คิดและมองอย่างกว้างไกล รู้เขารู้เราและใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์ต่อปัจเจกบุคคลทุกคน ซึ่งทั้งหมดทั้งปวงสามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้ในชีวิตจริง โดยเฉพาะการบริหารธุรกิจ

นี่เป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้นักธุรกิจระดับผู้บริหารหันมาเรียนรู้การเล่นหมากล้อมมากขึ้น บางคนกำลังเรียนปริญญาเอก ก็ยังให้เวลาเรียนรู้และเล่นหมากล้อม ทุ่มเทฝึกฝน เนื่องจากปรัชญาของหมากที่มีเพียง 2 สี ขาวและดำ สามารถแก้ปัญหาในชีวิตจริงได้ทุกเรื่อง



ถ้าเปรียบเทียบกับหมากรุกหรือเกมที่มีผู้เล่น 2 ฝ่ายปะทะกันมักมีรูปแบบเดียวกัน คือ การชนะต้องทำให้คนอื่นแพ้ เช่น จะชนะหมากรุกก็ต้องจับขุนคู่ต่อสู้กิน  จะชนะฟุตบอลก็ต้องเตะบอลเข้าประตูของอีกฝ่าย แต่หมากล้อมมีหลายสนามรบเกิดขึ้นพร้อมกัน ไม่เหมือนหมากรุกที่มีสนามเดียว

ในเกมหมากล้อม การทำให้คู่ต่อสู้แพ้สนามรบใดสนามรบหนึ่งอาจทำให้สนามรบอื่นๆของเราแพ้ได้ เพราะไปทุ่มกำลังเพื่อชนะแค่สนามรบเดียว แต่ต้องแพ้สงครามทั้งหมด เกมหมากล้อมจึงฝึกการใช้ทรัพยากรในหลายๆสนามรบเหมือนชีวิตมีหลายสนามรบ งาน ครอบครัว สุขภาพ สังคม และธุรกิจ

การบริหารธุรกิจอย่างชาญฉลาดจึงอยู่ที่การเล่นให้เกิดการถ่วงดุลกัน เกิดการแบ่งปันทรัพยากรพอสมควร เมื่อไหร่เกิดความโลภในที่ใดทีหนึ่งหรือเอาชนะในที่ใดที่หนึ่งจะทำให้ตัวเองแพ้  เป็นการสู้กับตัวเอง  คู่ต่อสู้ในธุรกิจเหมือนผู้เล่นโกะสองคนต้องต่อสู้และอดทนกับกิเลสของตัวเอง คนไหนทนการยั่วจากกิเลสได้นานกว่าจะชนะและมองเกมธุรกิจในระยะยาว




เรื่องการคิดยิ่งชัดเจน การเล่นโกะเป็นการฝึกคนเล่น และคิดกับสิ่งที่กำลังเกิดขึ้น ให้น้ำหนักกับปัจจัยต่างๆ และปรับตามสถานการณ์ ไม่มีอะไรตายตัว แต่ต้องคิดตามสถานการณ์ต่าง ๆ เรียกว่า “กลยุทธ์บริสุทธิ์”

ในโลกธุรกิจยุคปัจจุบัน การเรียนรู้กรณีตัวอย่างของบริษัทต่าง ๆ ในเรื่องการบริหาร การจัดการหรือการตลาด เพื่อนำมาแก้ปัญหาในวิกฤติต่าง ๆ ไม่ใช่สิ่งที่ควรทำแล้ว เนื่องจากโลกแห่งดิจิตอลทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างเปลี่ยนแปลงเร็วมาก ประเด็นสำคัญอยู่ที่การอ่านสถานการณ์ต่าง ๆ รอบตัว ให้น้ำหนักในแต่ละเรื่อง แต่ละปัจจัยและหาวิธีรับมือเอง นี่คือ กลยุทธ์บริสุทธิ์ของหมากล้อม ที่นำไปใช้ในการในการบริหารธุรกิจในโลกยุคดิจิตอล

โดยเฉพาะในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจที่มีปัญหาหลายๆ อย่างมารุมเร้าพร้อมกัน นักบริหารต้องรู้ว่า เรื่องใดได้เปรียบ เรื่องใดเสียเปรียบ ถ้าเข้าไปแก้ปัญหาต้องทุ่มทรัพยากรมากเพียงใด ต้องชั่งใจและเลือกที่จะยอมแพ้บางแห่ง ทุ่มพลังบางแห่ง เพื่อเอาให้อยู่ ถ้าสถานการณ์ไหนเอาไม่อยู่ก็ต้องประเมินใหม่ ต้องปรับความคิด




เช่น ย้อนไปกรณีวิกฤติต้มยำกุ้งเมื่อปี 2540 การเงินทั้งประเทศเหือดแห้งหมด มีเม็ดเงินจำกัดแต่มีปัญหา 7-8 เรื่อง องค์กรที่ถูกกระทบจะหาเงินไปช่วย 7-8 เรื่องทั้งหมดไม่ได้ ต้องเสียหายหมดแน่ๆ จึงต้องคิดใหม่ บางอย่างต้องยอมเสียและเลือกสู้บางอย่างเพื่อเอาให้อยู่

ยกตัวอย่างคำถามง่าย ๆ  ระหว่าง ”งานด่วน” กับ ”งานใหญ่” จะเลือกทำงานใดก่อน เช่น บริษัทมีงานที่ต้องรีบแก้ปัญหาโดยด่วน ขณะเดียวกัน มีงานใหญ่ที่บริษัทมีโอกาสได้พบนายแบงก์ใหญ่ที่ทำท่าจะให้โอกาสกู้เงินก้อนใหญ่เพื่อลุยโครงการใหม่

หลายคนมองงานใหญ่เป็นอันดับแรก อยากได้เงินกู้ก้อนใหญ่ แต่สุดท้ายเสียทั้งสองงาน งานด่วนถูกเพิกเฉย อีก 2 วัน งานด่วนจะเป็นงานด่วน ๆ อีก 3 วัน เป็นงานด่วน ๆ ๆ  และไม่ว่าอย่างไรก็ต้องเข้าไปแก้ไขก่อนที่บริษัทจะพัง ที่สุดต้องเสียเวลาไปแก้สถานการณ์และทำให้งานใหญ่เสียไป โครงการใหม่หยุดชะงักจนแบงก์เกิดความไม่มั่นใจทำให้บริษัทเสียเครดิต

ถ้ายึดหลักหมากล้อม นักบริหารจะไม่ตกหลุมกิเลสงานใหญ่และทำสิ่งที่สำคัญก่อน ประเมินสถานการณ์และหาวิธีปรับแก้เพื่อชนะอย่างแท้จริง อดทนเพื่อระยะยาว ซึ่งนี่ก็คือกลยุทธ์แท้จริงของธุรกิจเช่นเดียวกัน

โดย นายก่อศักดิ์ ไชยรัศมีศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน)
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่