... บริหารชีวิตด้วย “ปรัชญาหมากล้อม” ...

วันหยุดพักผ่อน บรรยากาศเย็นสบาย ผมอ่านเจอบทความ (อาจเก่านิด)
ของ คุณก่อศักดิ์ ไชยรัศมีศักดิ์ แม่ทัพใหญ่ค่าย Cpall เลยอยากแบ่งปัน
เผื่อนำข้อคิดดีๆ ปรับใช้ ในการลงทุน, การทำธุรกิจ หรือ การใช้ชีวิต ได้ครับ

[Spoil] คลิกเพื่อดูข้อความที่ซ่อนไว้


“ก่อศักดิ์” แนะเคล็ดลับ บริหารชีวิตด้วย “ปรัชญาหมากล้อม”



“หมากล้อมเป็นเกมที่ต้องเล่นเอง เทียบกับการว่ายน้ำ ถ้าฟังแต่กฎกติกาจากคนอื่นเพียงอย่างเดียวก็จะไม่เข้าใจ ต้องว่ายน้ำเอง เหมือนที่ได้ยินกันว่าใครจะเป็นนักบินได้ก็ต้องมีชั่วโมงบิน เพราะฉะนั้นต้องเอาจริง ฝึกจริง มีวินัย หมั่นฝึกฝนตนเองอยู่เสมอ ตรงนี้เงินช่วยไม่ได้ เงินซื้อฝีมือไม่ได้ ฝีมือของหมากล้อมต้องมาจากการฝึกฝนเท่านั้น ฝึกไปจะเข้าใจหมากล้อมที่สอนเราเกี่ยวกับการใช้ชีวิต”

ทุกคนที่นั่งอยู่ในคอนเวนชั่น ฮอลล์ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (PIM) ไม่ว่าจะเป็นผู้บริหาร อาจารย์ และบุคลากรของ PIM ต่างอยู่ในความเงียบ พร้อมตั้งใจฟังสิ่งที่ ก่อศักดิ์ ไชยรัศมีศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ผู้บริหาร เซเว่น อีเลฟเว่น ถ่ายทอดกลยุทธ์การบริหารด้วยปรัชญาหมากล้อม

ก่อศักดิ์ เป็นคนหนึ่งที่ชื่นชอบการเล่น หมากล้อม เป็นชีวิตจิตใจ ครั้งแรกที่รู้จัก หมากล้อม ก็เมื่อครั้งสมัยเรียนชั้นมัธยมศึกษา แต่ได้มีโอกาสเรียน หมากล้อม อย่างจริงจังเมื่อ พ.ศ.2521 หรือเมื่อ 33 ปีมาแล้ว เนื่องจากต้องการรู้ว่ามีความเกี่ยวข้องกันระหว่าง “เม็ดหมากล้อม” ที่มีสีขาวและสีดำ กับ “หยิน-หยาง” ซึ่งเป็นปรัชญาของจีน หรือไม่

ซีอีโอ ซีพี ออลล์ เล่าถึงประโยชน์ของหมากล้อม ซึ่งนอกจากจะช่วยเรื่องสมาธิ พัฒนาสติและปัญญาแล้ว ยังได้สุขภาพอีกด้วย

ครั้งหนึ่ง ก่อศักดิ์ เคยเล่น หมากล้อม กับผู้เล่นที่มีอายุ 93 ปี เวลาเดินเหินก็เหมือนคนชราทั่วไปคือเดินช้ามาก แต่พอได้นั่งลงเล่น หมากล้อม การตอบสนองยังแม่นยำ ความคิดและการเดินหมากกลับคมและคล่องแคล่วว่องไวเหมือนคนหนุ่มสาว สุดท้ายตนเองก็เล่นแพ้คนชรา

“อย่าเพิ่งนึกว่าหมากล้อมเป็นเกมที่ไม่ได้ออกกำลังกาย หมากล้อมเป็นเกมที่ต้องใช้สมองตลอดเวลา หัวใจต้องสูบฉีดเลือดให้ไหลเวียนในร่างกาย สุขภาพของผู้ที่เล่นหมากล้อมจึงดีกันทุกคนเพราะเลือดไหลเวียนดี สมองแจ่มใส หัวใจแข็งแรง เล่นหมากล้อมแล้วสุขภาพดี” ผู้บริหาร ซีพี ออลล์ บอกยิ้มๆ



ประโยชน์ที่สำคัญอย่างยิ่งอีกประการของหมากล้อม คือ การเข้าถึงปรัชญาชีวิต

ก่อศักดิ์ เล่าว่า แม้ หมากล้อม จะเป็นเกมที่เก่าแก่ที่สุดในโลก มีประวัติความเป็นมากว่า 3,000 ปี แต่ก็ยังไม่มีใครรู้กำเนิดว่าเกิดขึ้นมาได้อย่างไร มีคนพูดถึงการเกิด หมากล้อม หลายแบบ แต่ที่น่าจะเป็นไปได้ คือ น่าจะเกิดจาก “สงคราม”

ซีอีโอ ซีพี ออลล์ เกริ่นให้พอเห็นภาพก่อนว่า หมากรุก เทียบแล้วเป็น 1 สนามรบที่ทัพของ 2 ฝ่ายมาเจอกันแล้วรบ จับขุนคู่ต่อสู้กินแล้วก็รู้แพ้รู้ชนะ ส่วน หมากล้อม นั้น “สงคราม” ใหญ่กว่าหมากรุกหลายเท่า เพราะมีเส้นทั้งแนวนอนและแนวตั้งอย่างละ 19 เส้น คิดเป็น 361 จุดตัด เท่ากับหมากรุก 6 กระดาน เพราะแต่ละกระดานของหมากรุกมี 64 ตา การเล่น หมากล้อม จึงไม่ต่างกับการเล่นหมากรุกพร้อมๆ กันถึง 6 กระดาน

เปรียบแล้วคือสงครามที่มีหลายสนามรบ สงครามจึงมีความซับซ้อน ยิ่งใหญ่ และยากกว่า เพราะต้องดูแลหลายสนามรบพร้อมกันบนกระดานเดียว



ผู้บริหารคนเดิม ยกตัวอย่าง “สงคราม 9 ทัพ” เมื่อต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ขณะนั้นกรุงรัตนโกสินทร์เพิ่งตั้งตัว ทุกอย่างยังลำบาก พม่าจึงเตรียมความพร้อมอย่างเต็มที่และมั่นใจว่าเหนือกว่าไทย จึงยกทัพมาโจมตี ดังนั้นเมื่อพม่ายกมา 9 ทัพ ก็ต้องเกิดอย่างน้อย 9 สนามรบ

จอมทัพฝ่ายไทยจึงต้องคิดคล้ายพม่าเพื่ออ่านเกมให้ออก แม่ทัพพม่าคนที่หนึ่ง สอง สาม อาจเก่งมาก แม่ทัพไทยอาจต้านไม่อยู่ แต่ต้องรับมือ เช่น ให้แม่ทัพคนที่แปด ซึ่งไม่มีทางชนะแม่ทัพพม่าคนที่หนึ่งได้ แต่ให้ไปรบเพื่อถ่วงเวลาให้นานที่สุด แล้วให้แม่ทัพคนที่หนึ่งของไทยไปรบกับแม่ทัพคนที่ห้าของพม่า ซึ่งฝีมือด้อยกว่า เมื่อแม่ทัพคนที่หนึ่งของไทยรบชนะแล้ว ก็ให้กลับมาช่วยแม่ทัพคนที่แปดรบกับแม่ทัพพม่าคนที่หนึ่ง เป็นต้น

ดังนั้นการชนะสงครามต้องคิดมาก ห่วงมาก เทียบกับ หมากล้อม คือ มีหลายสนามรบอยู่ในกระดานเดียวกัน แต่ละเม็ดหมากล้อมเท่ากับ 1 กองร้อย เป็นทรัพยากรที่มีค่า มีแต่คนต้องการ สนามรบใดมีเม็ดเพิ่มเข้าไปก็จะแข็งแรงขึ้น

เกมนี้จึงตรงกับชีวิตของคนเราที่มีความต้องการทรัพยากรที่มีค่ามากสุด คือ เวลา เพราะในหนึ่งวันเรามีอะไรต้องทำไม่รู้ตั้งกี่เรื่อง แล้วยังมีเรื่องครอบครัว การเรียน สังคม เพราะฉะนั้นต้องเลือกใช้เวลาอย่างชาญฉลาดที่สุด และใช้ให้ได้ผลที่สุด



“หมากล้อมสอนให้เราอยู่กับทรัพยากรมีจำกัด แต่ความต้องการมีไม่จำกัด การเรียนรู้หลายๆ สนามรบ จึงเป็นเกมที่เราต้องเรียนรู้การดูแลตัวเอง ถ้าดูแลไม่ดี บางคนทุ่มเททำงานได้ประโยชน์มากมายแต่ลืมครอบครัว ลืมสุขภาพ สุดท้ายคือเขาทำดีในสนามหนึ่งแต่อีกสนามหนึ่งทำได้ไม่ดี ต้นทุนของการทำดีในสนามหนึ่งอาจกลายเป็นผลเสียของอีกสนามหนึ่ง เรื่องราวต่างๆ ในชีวิตเรา จึงเปรียบเทียบได้เป็นสนามรบ

“การอยากเอาชนะสนามรบนี้ ทำให้ต้องทุ่มทรัพยากรไปมาก ดังนั้นย่อมมีทรัพยากรน้อยที่จะนำไปใช้ในสนามรบอื่น บนกระดานหมากล้อมทั้ง 2 ฝ่ายต่างมีทรัพยากรเท่ากัน อยู่ที่จะใช้อย่างไรให้คุ้มค่า ทั้งหมดคือกลยุทธ์การเล่นหมากล้อม” ก่อศักดิ์ ถ่ายทอด พร้อมบอกด้วยว่า

หมากล้อมเป็นเกมที่แปลก หากคิดเอาชนะก็จะแพ้ เมื่อทุ่มทรัพยากรไปแต่ละจุดเพื่อเอาชนะ ก็จะชนะได้แค่ “สนามรบ” แต่แพ้ “สงคราม” โดยรวม แต่จะชนะได้เพราะไม่คิดเอาชนะ

หมากล้อม ไม่ได้ฝึกให้เอาชนะ แต่ก็ไม่สอนให้ยอมแพ้ เป็นการเล่นที่ประคับประคองไม่เอาเปรียบกัน แต่แน่นอนว่าระหว่างเล่น ย่อมต้องมีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเผลออารมณ์ ดังนั้นจึงต้องเล่นแบบคุมไม่ให้คิดเอาชนะ แล้วทนกับกิเลสที่จะอยากเอาชนะให้นานกว่า หากคิดแต่จะเอาชนะ นั่นคือการกำลังทำให้ตนเองแพ้

หมากล้อม จึงเป็นเกม “แข่งกันทนยั่ว” เป็นเกมที่ยาก เพราะต้องควบคุมตนเอง หลักของการเล่น หมากล้อม สามารถนำมาใช้ในการบริหารได้ คือ ไม่คิดร้ายคู่ต่อสู้ เราจะไม่ใช้ทรัพยากรในการทำลายฝ่ายตรงข้าม แต่นำมาใช้เสริมความแข็งแกร่งให้ตนเอง หนีคู่ต่อสู้ไปให้ไกลที่สุด

“ทุกวันนี้ผมยังได้อะไรจากการเล่นหมากล้อมอยู่ตลอดเวลา ทั้งที่เล่นมากว่า 30 ปีแล้ว แต่ยังไม่หยุดเรียนรู้ เพราะฉะนั้นชีวิตการเรียนรู้ของผมคือหมากล้อม และคงต้องเรียนต่อไปเรื่อยๆ...” ก่อศักดิ์ ตบท้าย

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่