พระธรรมของพระพุทธองค์ยังคงบริสุทธิ์อยู่เสมอ - ตอน ว่าด้วย ปฏิจจสมุปบาท ที่ไม่ปฏิเสธกฏแห่งกรรม

กระทู้สนทนา
สวัสดีครับเพื่อนๆสมาชิกห้องศาสนา

กระทู้นี้ผมตั้งขึ้น ก็เนื่องด้วย ท่านผู้อ่าน อาจจะเคยเห็นกระแสความขัดแย้งที่กล่าวธรรมไม่ตรงกัน
ซึ่งไม่ว่าจะเกิดจากอะไรก็แล้วแต่ จะไม่ขอสนทนาลึกไปถึงส่วนนั้น

แต่ต้องการจะนำเสนอ ข้อมูลความจริงให้ถูกต้อง เพื่อให้หลายๆท่านได้ทำความเข้าใจตาม
สิ่งที่เป็นความจริง

--------------------------------------------------------------------------------------

เรื่องประเด็น ก็คือ ธรรมของพระพุทธเจ้า บทหนึ่งนั้น เรารู้จักกันดีในนามว่า "ปฏิจจสมุปบาท"

ซึ่ง เป็นธรรมที่แสดงความสัมพันธ์ความเป็นไปของ รูปนาม เริ่มตั้งแต่

        อวิชชา สังขาร วิญญาณ นามรูป สฬายตนะ ผัสสะ เวทนา ตัณหา อุปาทาน ภพ ชาติ ชรา มรณะ.....

ซึ่ง ธรรมอันเป็นวงจรสืบต่อเหล่านี้ ล้วนครอบคลุมความเป็นไปแห่งรูปนาม ทั้งใน
        - ขณะจิตเดียว
        - หลายๆขณะจิต ในระหว่างมีชีวิตอยู่
        - หรือแม้แต่การให้ผลวิบากกรรม ไปยังชาติหน้า และชาติต่อๆไป



ใน อภิธรรมปิฎก คัมภีร์ที่สอง ชื่อว่า วิภังคปกรณ์นั้น
       ท่านได้แสดง ธรรมไว้สองนัย คือ
           - สุตตันตภาชนียนัย  
           - อภิธรรมภาชนียนัย  


สารบัญ วิภังคปกรณ์ http://www.84000.org/tipitaka/pitaka3/apidham02.php
(ด้านล่างของภาพนี้จะเห็นได้ว่ามีสองนัย)

      ซึ่ง ในอภิธรรมภาชนียนัย นั้นจะเป็น การเกิดขึ้นของ ปฏิจจสมุปบาททั้งหมด ภายในขณะจิตเดียว
              เรียกว่า "เอกจิตตักขณิกปฏิจจสมุปบาท"

       ส่วน สุตตันตภาชนียนัย นั้น จะเป็นการแสดงความเป็นไปในหลายขณะจิต
              เรียกว่า "นานักจิตตักขณิกปฏิจจสมุปบาท"
            - เช่น สังขาร คือ กรรมบาปบุญนั้น ก็ส่งผลให้เกิด วิญญาณ คือ วิบากจิตต่างๆ
                           ทั้งในระหว่างที่มีชีวิตอยู่ในชาตินั้น ในเวลาอันใกล้หรือไกลออกไป
                            หรือ ส่งผลให้เกิด ปฏิสนธิจิตในภพถัดไป หรือ วิบากจิตต่างๆ ในขณะมีชีวิตในชาติถัดๆไป เป็นต้น
            - หรือ ตัณหา อุปาทาน ที่ทำไว้ ก็เป็นปัจจัยให้เกิด ภพ เกิด ชาติ ในภพต่อๆไปไม่มีที่สุด ตราบเท่าที่อวิชชายังมีอยู่

     ความใน สุตตันตภาชนียนัย ใน วิภังคปกรณ์นี้ ก็สามารถศึกษาได้ จากลิ้งนี้คือ
           http://www.84000.org/tipitaka/pitaka3/v.php?B=35&A=3732&Z=3845

ซึ่งในส่วนนี้ เราจะเห็นความหมายของ ชาติว่า คือการเกิดขึ้นในภพใหม่นั้นเอง

[๒๖๖] ชาติเกิดเพราะภพเป็นปัจจัย เป็นไฉน
             ความเกิด ความเกิดพร้อม ความหยั่งลง ความเกิดจำเพาะ ความปรากฏ
แห่งขันธ์ ความได้อายตนะ ในหมู่สัตว์นั้นๆ ของเหล่าสัตว์นั้นๆ อันใด
นี้เรียกว่า ชาติเกิดเพราะภพเป็นปัจจัย

---------------------------------------------------------------------------------------



ได้มีความพยายามของ บางท่าน ที่อาจจะเข้าใจ ความหมาย ที่ท่านพระพรหมคุณภรณ์ แสดงไว้ผิดไป

จึงเป็นที่มาของการกล่าวหาว่า
     ท่านพระพรหมคุณภรณ์ สอนว่า ปฏิจจฯ ที่ส่งผลข้ามชาติได้ ไม่มีในพระไตรปิฎก

ซึ่งความจริงนั้น
       ท่านพระพรหมคุณาภรณ์ แสดงไว้ว่า "มีอยู่ในพระไตรปิฎก"
          ในคัมภีร์วิภังค์นั้นอาจจะมีน้อยหน่อย คือมีเพียง ๕ หน้า แต่ก็ถือว่า มีอยู่อย่างชัดเจน

ดังที่ท่านเขียนไว้ในพุทธธรรม บทที่ ๔ ว่า



-------------------------------------------------------------------------------------------

จากข้อมูลข้างบนซึ่งได้คัดในส่วนที่สำคัญ มาแสดง เชื่อว่าผู้อ่านคงจะพิจารณา
ทำความเข้าใจได้ไม่ยากนะครับ


ซึ่งเราท่านทั้งหลายก็คงทราบกันดีแล้วว่า

    "ปฏิจจสมุปบาท" ของพระพุทธองค์นั้นเป็นธรรมที่ลึกซึ้งกว้างขวาง มีหลายนัยยะ
             กินความจากทั้ง วงเล็กสุด คือขณะจิตเดียว และยังกินความไปถึงหลายขณะจิต
              ไม่ว่าจะเป็นชั่วครู่นี้ ชั่ววันนี้ ชั่วปีนี้ ชั่วชีวิตนี้ หรือแม้แต่ ภพชาติถัดๆไป
               รูปนาม กรรม บาปบุญ ต่างๆที่เราอยู่ทุกขณะ ล้วนส่งผลเชื่อมโยงกันไปได้หมด
              ตราบใดที่กรรมยังไม่ให้ผล ชวนะจิตทั้ง ๗ ขณะ ย่อมรอให้ผลไม่วันใดก็วันหนึ่ง

      กระแส แห่ง  ปฏิจจสมุปบาทนั้น เราจะตัดทำลายลงก็ด้วยการเจริญสติปัฏฐาน และตัดวงจรของมันลง
          ตรงที่ "ผัสสะ" นั่นเอง เมื่อเรากำหนดรู้เท่าทัน ผัสสะ อยู่เนืองๆ มันก็ย่อมไม่เป็นปัจจัยแก่ตัณหา อุปาทาน
            เมื่อหมั่นฝึกไปเรื่อยๆ วันใดวันหนึ่ง เมื่อเราหมดสิ้นซึ่ง อวิชชา    ก็ย่อมหมดเสียซึ่ง   วัฏฏสงสาร  วัฏฏทุกข์
                เข้าถึงความดับทุกข์อันสิ้นเชิง คือ พระนิพพาน

--------------------------------------------------------------------------------

วันนี้ผมขอสนทนาไว้เท่านี้ก่อน และขอความสุขความเจริญสันติภาพ
ความก้าวหน้าในทางโลกทางธรรม จงมีแก่เพื่อนๆสมาชิกทุกๆท่านนะครับ

ธรรมะสวัสดีครับ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่