หุ้นกลุ่มหลักทรัพย์มาแรงมากๆช่วงนี้เพราะข้อมุลเรื่องนี้หรือเปล่า แล้วมันจะเป็นไปอีกได้ตลอดปีนี้ไหม???

กระทู้สนทนา
ล่าหัว'วาณิชธนากร'แบงก์-โบรกเกอร์ยอมควักอัพค่าตัวจ่ายโบนัส12 เดือน
วันพุธที่ 29 พฤษภาคม 2013 เวลา 09:51 น. กอง บก.ฐานเศรษฐกิจ ข่าวหน้า1 - คอลัมน์ : Big Stories  

ตลาดหุ้นบูม มนุษย์ทองคำอู้ฟู่ มาร์เก็ตติ้งหุ้นรายได้พุ่งเลข 6 หลักต่อเดือน มือทองฟันค่าคอมมิสชันแตะเดือนละล้าน สมาคมบล.ผนึกมหาวิทยาลัยทั่วประเทศเร่งปั้นบุคลากรรองรับคนเล่นหุ้นเพิ่ม   ฟากวงการวาณิชธนกิจ ทั้งแบงก์-โบรกเกอร์ชิงตัวกันจ้าละหวั่น อัพค่าตัว 1 เท่า บางค่ายเริ่มเสนอทั้งสวัสดิการ เสนอโบนัสล่วงหน้า 6-12 เดือน ระดับคีย์แมน เงินเดือนเลข 6 หลัก

    ความคึกคักของตลาดหุ้นไทยในช่วง 4-5 เดือนแรกของปี 2556 ที่มูลค่าการซื้อขายหรือโวลุ่มเทรดพุ่งเท่าตัวมาอยู่ที่เฉลี่ย 5-6 หมื่นล้านบาทต่อวัน ส่งผลให้บุคลากรในภาคตลาดทุนโดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ด้านการตลาด หรือมาร์เก็ตติ้งมีรายได้เพิ่มขึ้นเท่าตัวเช่นกัน นอกจากนี้ยังพบว่าวาณิชธนากร หรือบุคลากรในสายงานวาณิชธนกิจก็มีงานล้นมือจากกระแสการนำกิจการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ กระแสการซื้อขายและควบรวมกิจการ ตลอดจนงานที่ปรึกษาอื่น ๆจากภาวะดังกล่าววงการตลาดทุนให้นิยามว่าเป็น"ยุคทอง"ของคนตลาดหุ้น
***ยุคทอง"มาร์เก็ตติ้ง"หุ้น
    นายสุชาย  สุทัศน์ธรรมกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์(บล.) ซีไอเอ็มบี(ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่าช่วง 4-5 เดือนที่ผ่านมา ถือเป็นช่วงเก็บเกี่ยวของมาร์เก็ตติ้ง และถือว่าเป็น"ยุคทอง" เนื่องจากมาร์เก็ตติ้งมีรายได้เพิ่มขึ้นเท่าตัว ยกตัวอย่าง มาร์เก็ตติ้งที่เป็นนักศึกษาจบใหม่ และมีอายุงาน 1-3 ปี มีรายได้รวมเฉลี่ยเพิ่มขึ้นเป็น 5-6 หมื่นบาทต่อเดือน (เงินเดือนบวกค่าคอมมิสชัน) จากเดิมที่มีรายได้รวมเฉลี่ย  2 หมื่นบาทต่อเดือน
    สำหรับนักลงทุนที่เป็นฐานใหญ่ในตลาดหุ้นปัจจุบันจะเป็นนักลงทุนระดับกลางและรายย่อย จ่ายค่าคอมมิสชันในอัตรา 0.2-0.25 % ของโวลุ่มซื้อขาย และหากซื้อขายผ่านระบบอินเตอร์เน็ตหรือเทรดออนไลน์จะเสียค่าคอมมิสชันในอัตรา 0.18-0.19%ของโวลุ่มซื้อขาย พบว่ามาร์เก็ตติ้งจะได้รับค่าคอมมิสชัน 20,000-50,000 บาทต่อเดือนต่อลูกค้า 1 ราย
    ส่วนนักลงทุนรายใหญ่ จะเป็นกลุ่มที่จ่ายค่าคอมมิสชันมากกว่า 1 แสนบาทต่อเดือนต่อราย ขณะที่พบว่ามาร์เก็ตติ้งบางคนมีรายได้แตะ 7 หลักต่อเดือน หรือทำโวลุ่มการซื้อขายได้เกิน 40 ล้านบาทต่อเดือนต่อราย แต่ลูกค้ากลุ่มนี้จะมีจำนวนรายไม่มาก
    ข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.)เปิดเผยว่า   ณ วันที่ 22 พฤษภาคม 2556 มีมาร์เก็ตติ้งทั้งระบบ 14,056 คน จากจำนวนบริษัทหลักทรัพย์ทั้งหมด  40 บริษัท
***"มือทอง"รายได้แตะล้านบาท/เดือน  
    ด้านดร.ก้องเกียรติ  โอภาสวงการ ประธานกรรมการบริหารบล. เอเซีย พลัสฯ กล่าวว่าสำหรับรายได้ของเจ้าหน้าที่การตลาดปีนี้คาดว่าบางรายอาจมีรายได้สูงสุดหลักล้านบาทต่อเดือน
    สอดคล้องกับมาร์เก็ตติ้งรายหนึ่งกล่าวว่า โวลุ่มการซื้อขายในตลาดหุ้นที่ปรับขึ้นมามากเกือบเท่าตัวในช่วง 4-5 เดือนมานี้ ยอมรับว่ารายได้มาร์เก็ตติ้งเพิ่มขึ้นเท่าตัว โดยบางรายมีรายได้เป็นตัวเลข 6 หลักต่อเดือนหรือหลักแสนบาท โดยเฉพาะมาร์เก็ตติ้งที่มีลูกค้ารายใหญ่และมีโวลุ่มเทรดเพิ่มขึ้นมาที่ระดับ 400-500 ล้านบาทต่อวันต่อคน จากปกติที่เทรด 200 ล้านบาทต่อวันต่อคนเท่านั้น
    อย่างไรก็ตามมาร์เก็ตติ้งรายนี้ยอมรับว่าความอู้ฟู้ของมาร์เก็ตติ้งรอบนี้เทียบไม่ได้กับในอดีต ซึ่งมีการจ่ายค่าคอมมิสชันที่อัตราคงที่  0.25 % ของมูลค่าการซื้อขายจนมาร์เก็ตติ้งบางคนได้ฉายาว่า "มาร์เก็ตติ้งมือทอง" เนื่องจากมีรายได้จากค่าคอมมิสชันที่เป็นตัวเลข 7 หลักต่อเดือน ขณะที่ปัจจุบันซึ่งเป็นยุคของการเปิดเสรีค่าคอมมิสชัน มาร์เก็ตติ้งที่มีลูกค้ารายใหญ่ จะถูกต่อรองค่าคอมมิสชัน โดยบางรายจ่ายต่ำที่ 0.004 % ของมูลค่าการซื้อขายเท่านั้น
***อายุงาน 7-8 ปี รายได้เลข 6 หลัก  
    ด้านนางภัทธีรา ดิลกรุ่งธีระภพ นายกสมาคมบริษัทหลักทรัพย์(สมาคม บล.)และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส(ประเทศไทย)ฯ กล่าวว่า ช่วงที่ตลาดหุ้นบูมเช่นนี้สามารถสร้างรายได้ให้มาร์เก็ตติ้งเป็นตัวเลข 6 หลักต่อเดือน ซึ่งกลุ่มดังกล่าว คือ มาร์เก็ตติ้งที่มีประสบการณ์ 7-8 ปีขึ้นไปและมีลูกค้าเทรดต่อเนื่อง รวมถึงบางรายก็มีลูกค้ารายใหญ่ด้วย
    ส่วนด้านมาร์เก็ตติ้งที่มีประสบการณ์ไม่มากหรืออายุงานประมาณ 1-2 ปี รายได้ก็ถือว่าสามารถแข่งขันกับอุตสาหกรรมอื่นๆได้ โดยปรับขึ้นจากระดับ 1.5 หมื่นบาทต่อเดือน เป็น 2-4 หมื่นบาทต่อเดือน จนทำให้เป็นแรงดึงดูดต่อกลุ่มนักศึกษาที่จบใหม่หันมาสนใจในอาชีพนี้มากขึ้นเช่นกัน
***วิกฤติ!ผนึกมหา'ลัยปั้นคน  
    นายกสมาคมบล.ยังสะท้อนภาพรวมของมาร์เก็ตติ้งในตลาดหุ้นว่า หากประเมินช่วง 1-2 ปีนี้ (ปี 2555-2556) ฐานนักลงทุนใหม่เพิ่มขึ้นมามาก เมื่อเทียบกับจำนวนมาร์เก็ตติ้งแล้วโดยเฉลี่ยจะอยู่ที่นักลงทุน 100 รายต่อมาร์เก็ตติ้ง 1 ราย ดังนั้นถือว่าเริ่มให้บริการไม่ทันเช่นกันหากบัญชีที่มีการซื้อขายสม่ำเสมอหรือบัญชีแอกทีฟเพิ่มขึ้นจากปัจจุบัน อิงจากบัญชีแอกทีฟประมาณ 30% ของจำนวนบัญชีทั้งหมด 8 แสนบัญชี  ดังนั้นสมาคมบล.ยังต้องการเพิ่มจำนวนมาร์เก็ตติ้งเพื่อรองรับฐานนักลงทุนที่เพิ่มขึ้นด้วย
    นายญาณศักดิ์  มโนมัยพิบูลย์ กรรมการอำนวยการสมาคมบล. กล่าวเสริมว่า สมาคมเดินสายให้ความรู้กับนักศึกษาในต่างจังหวัด และจัดสัมมนาเพื่อผลิตมาร์เก็ตติ้งและการขยายฐานนักลงทุน โดยได้ทำบันทึกข้อตกลงเบื้องต้นหรือเซ็นเอ็มโอยูกับมหาวิทยาลัยในต่างจังหวัดไปแล้วถึง 7 แห่ง ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยในจังหวัดเชียงใหม่ อุบลราชธานี พิษณุโลก ชลบุรี สุราษฎ์ธานี และหาดใหญ่ เป็นต้น
    นอกจากนี้สมาคมบล.ยังให้ทุนเพื่อสนับสนุนนักศึกษาสอบใบอนุญาตมาร์เก็ตติ้ง ร่วมกับศูนย์ส่งเสริมการพัฒนาความรู้ตลาดทุน(TSI) และสถาบันฝึกอบรม สมาคมบริษัทหลักทรัพย์(ATI)
    นายเผดิมภพ  สงเคราะห์ กรรมการผู้จัดการ สายงานจัดการเงินลงทุนบุคคล บล.กสิกรไทยฯ กล่าวว่า ปีนี้บริษัทรับมาร์เก็ตติ้งเพิ่มแล้วประมาณ 40 คน เพื่อรองรับการขยายฐานนักลงทุนซึ่งช่วง 3-4 เดือนที่ผ่านมามีจำนวนบัญชีนักลงทุนใหม่เพิ่มแล้วประมาณ 8,000-9,000 บัญชี จากสิ้นปี 2555 ที่มีจำนวนมาร์เก็ตติ้ง  300-400 คน  หรือมาร์เก็ตติ้ง 1 ราย ดูแลลูกค้า 80 บัญชี ขณะที่รายได้มาร์เก็ตติ้งปีนี้เฉลี่ยไม่น้อยกว่า 50,000 บาทต่อเดือน
*** 'วาณิชธนากร'ตึงตัว
    ด้านวงการวาณิชธนกิจ หรือไอบี นายประเสริฐ  ภัทรดิลก กรรมการผู้จัดการ บริษัทแอดไวซอรี่ พลัส จำกัด  กล่าวว่า  ปัจจุบันบุคลากรด้านวาณิชธนกิจทั้งอุตสาหกรรมภายใต้ชมรมวาณิชธนกิจมีจำนวน 500-600 คน และยอมรับว่าเริ่มเข้าสู่ภาวะตึงตัวจึงทำให้มีการแย่งชิงตัวบุคลากร  โดยมี 2 สาเหตุหลัก คือ
    1.ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ได้มีบุคลากรที่มีประสบการณ์เริ่มออกจากวงการและถูกบริษัทจดทะเบียนดึงตัวไปทำงานด้วยทั้งในส่วนงานด้านบัญชีและการเงิน และฝ่ายพัฒนาธุรกิจ รวมทั้งฝ่ายนักลงทุนสัมพันธ์ (IR) เนื่องจากมีความเชี่ยวชาญในการให้ข้อมูลทั้งกับบรรดานักวิเคราะห์ และนักลงทุน
    2 . ภาวะตลาดทุนที่บูมในปัจจุบัน รวมถึงการปรับตัวของภาคเอกชนเพื่อรองรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(เออีซี)ในปี 2558 ทำให้มีงานที่ปรึกษาหรือมีดีลเกิดขึ้นจำนวนมากทั้งการนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ หรือหุ้นไอพีโอ การซื้อขายและการควบรวมกิจการ ทำให้ที่ผ่านมาทั้งธนาคารพาณิชย์ และบริษัทหลักทรัพย์ หันมาให้ความสำคัญกับงานด้านวาณิชธนกิจอย่างจริงจัง และมีการรับบุคลากรเพิ่ม ส่วนบริษัทหลักทรัพย์บางแห่งที่ไม่ได้มีส่วนงานดังกล่าวก็เริ่มจัดตั้งทีมงานด้านวาณิชธนกิจขึ้นมาแล้ว
***เสนอโบนัส 6-12 เดือน
    นายประเสริฐ กล่าวว่า สำหรับผลตอบแทนของวาณิชธนากร ยอมรับว่าสูงในระดับตัวเลข 6 หลักต่อเดือนสำหรับระดับคีย์แมน หรือระดับหัวหน้า และหากมีการเจรจาดึงตัวบุคลากรกันก็มักจะมีการย้ายเป็นทีมเช่นกัน ซึ่งยอมรับว่าจะมีการตกลงกันนอกจากผลตอบแทนรายได้จากเงินเดือนแล้วก็ยังมีเรื่องของโบนัสและสวัสดิการเพิ่มขึ้นด้วย ซึ่งบางบริษัทมีการตกลงจ่ายโบนัส 6-12 เดือน เป็นต้น
    นางสาวสุวภา  เจริญยิ่ง กรรมการผู้จัดการสายงานวาณิชธนกิจและที่ปรึกษาการลงทุน บล.ธนชาตฯ กล่าวว่า สำหรับบริษัทถือว่ามีบุคลากรด้านไอบีประมาณกว่า 30 คน มากที่สุดในอุตสาหกรรมซึ่งยอมรับว่าในอุตสาหกรรมบุคลากรไอบีขาด เนื่องจากภาวะตลาดหุ้นที่เอื้ออำนวยทั้งการผลักดันบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ดีลซื้อและควบรวมกิจการ
    เช่นเดียว ดร.ก้องเกียรติ  โอภาสวงการ ประธานกรรมการบริหาร บล.เอเซีย พลัสฯ กล่าวว่า ปีนี้บริษัททำงานแทบไม่ทัน และยังสนใจรับบุคลากรด้านไอบีเพิ่ม โดยเฉพาะงานไอพีโอ ซึ่งภาวะตลาดที่ดีทำให้บริษัทที่อยู่นอกตลาดเดิมไม่สนใจก็ให้ความสนใจเข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นมากขึ้น โดยปีนี้บริษัทยังมีดีลในมือ 22  ราย  ซึ่งปีนี้เพิ่มขึ้นมา 6 ราย  ไม่รวมดีลไอพีโอจากต่างประเทศ คือ ลูกค้าจากจีนอีก 5 ราย
    สอดคล้องกับแหล่งข่าวจากวงการธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศที่กล่าวว่า บุคลากรด้านวาณิชธนกิจขาดแคลนมาก โดยเฉพาะผู้ที่มีความเชี่ยวชาญดีลควบรวมกิจการ การลงทุนในต่างประเทศ และการให้คำปรึกษาด้านการลงทุน ทั้งนี้เนื่องจากความต้องการควบรวมกิจการ และความต้องการร่วมลงทุน ทั้งบริษัทจากต่างประเทศที่ต้องการเข้ามาลงทุนในประเทศไทย และบริษัทไทยที่ต้องการขยายธุรกิจไปยังต่างประเทศมีเพิ่มมากขึ้น
    แหล่งข่าวรายนี้ยังสะท้อนว่าธุรกิจด้านการให้คำปรึกษาด้านการเงิน การลงทุน การประเมินค่ากิจการ ต้องอาศัยทั้งเวลาและประสบการณ์ และต้องใช้เวลาประมาณ 5-10 ปี ในการสร้างบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญ เมื่อถูกดึงตัวไปทำให้เกิดปัญหาในการให้บริการลูกค้า ซึ่งมีความต้องการมากขึ้นในปัจจุบัน โดยเฉพาะบริษัทไทยซึ่งต้องการขยายกิจการไปต่างประเทศเป็นจำนวนมาก

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 33 ฉบับที่ 2,848
วันที่  30 พฤษภาคม - 1 มิถุนายน พ.ศ. 2556

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่