อุปนิสัยดีชั่ว เป็นสิ่งที่อัลลอฮฺทรงสร้างมาให้ หรือว่ามนุษย์ทำขึ้นมาเอง ??

บางท่านอาจจะตั้งคำถามว่า “บรรดาคุณลักษณะที่ดีและไม่ดีที่อยู่ในจิตใจของมนุษย์เหล่านี้ เป็นอุปนิสัยตามธรรมชาติ ที่อัลลอฮ์ ตะอาลา ทรงสรรสร้างให้มา หรือว่าเป็นคุณลักษณะของจิตใจ ที่มนุษย์ได้กระทำขึ้นมาเองจนติดเป็นนิสัยของเขา ??” โดย อาจารย์ อารีฟีน แสงวิมาน อัล-อัซฮารีย์ ผู้อำนวยการสถาบันอัล-กุดวะฮฺ

ตอบ ..

มนุษย์ถูกสร้างขึ้นมาโดยอยู่ในสภาพที่เตรียมพร้อมสำหรับบรรดาคุณลักษณะที่ดีและไม่ดี ซึ่งหลักดังกล่าว อัลลอฮ์ ตะอาลา ทรงตรัสไว้ว่า ..

إِنَّا خَلَقْنَا الْإِنسَانَ مِن نُّطْفَةٍ أَمْشَاجٍ نَّبْتَلِيهِ فَجَعَلْنَاهُ سَمِيعاً بَصِيراً

“แท้จริง เราได้บันดาลมนุษย์มาจากหยดอสุจิที่ผสม (ระหว่างอสุจิของฝ่ายชายและรังไข่ของฝ่ายหญิง) ซึ่งเราจะทดสอบเขา และเราได้บันดาลให้เขาเป็นผู้ได้ยินอีกทั้งมองเห็นได้” [อัลอินซาน: 2]



ตามหลักวิทยาศาสตร์ได้ค้นพบว่าในตัวของอสุจิที่ปฏิสนธิกับรังไข่ของฝ่ายหญิง ที่อัลลอฮ์ทรงสร้างมนุษย์ขึ้นมานั้น จะมีเซลล์ต่างๆ ซึ่งก็คือหน่วยของสิ่งมีชีวิตที่มีขนาดเล็กมากมาย และในแต่ละเซลล์จะมีนิวเคลียสซึ่งจะอยู่ส่วนกลางของเซลล์ และในนิวเคลียสนี้ จะมีโครโมโซม (Chromosome) หรือแถบพันธุกรรมอันประกอบไปด้วยสารพันธุกรรม (DNA) ซึ่งทำหน้าที่เก็บหน่วยพันธุกรรม หรือ ยีน (Gene) ซึ่งทำหน้าที่กำหนดลักษณะทางพันธุกรรมต่างๆ ของมนุษย์ไว้อย่างครบถ้วน


หน่วยพันธุกรรมหรือยีนนั้นจะบรรจุลักษณะทางพันธุกรรมที่อัลลอฮ์ ตะอาลาได้กำหนดให้มามีบทบาทในการแสดงคุณลักษณะธรรมชาติของมนุษย์ที่มีทั้งดีและไม่ดี ไม่ว่าจะเป็นอุปนิสัยหรือรูปร่างสัณฐาน แล้วมนุษย์ก็ถือกำเนิดขึ้นมาตามลักษณะดังกล่าว


และพระองค์ก็ทรงให้มนุษย์แบกรับคุณสมบัติในลักษณะที่ดี (เช่น ความยำเกรง) และไม่ดี (เช่น ความดื้อรั้น) เหล่านั้นไว้ แล้วพระองค์ก็ทรงให้เขาเกิดมาโดยมีสติปัญญา มีประสาทสัมผัสการได้ยินและมีการมองเห็น ทั้งนี้เพื่อเป็นสื่อในการเรียนรู้หลักคำสอนของศาสนาที่อัลลอฮ์ตะอาลาทรงบัญญัติไว้แล้วว่าสิ่งใดดีที่ต้องนำมาปฏิบัติและสิ่งใดไม่ดีที่ต้องหลีกห่าง แล้วพระองค์ก็ทรงให้พวกเขาเข้าไปอยู่ในสนามแห่งการทดสอบ ณ โลกดุนยาแห่งนี้ (มุฮัมมัด สะอีด รอมะดอน อัลบูฏีย์, อัลหิกัม อัลอะฏออียะฮ์ ชัรห์ วะ ตะห์ลีล, เล่ม 2, หน้า 57.)


พระองค์ทรงตรัสว่า ..

وَنَفْسٍ وَمَا سَوَّاهَا فَأَلْهَمَهَا فُجُورَهَا وَتَقْوَاهَا

“ขอยืนยันกับชีวิตหนึ่ง และการที่พระองค์ทรงสรรสร้างมัน (ให้เป็นรูปร่าง) แล้วพระองค์ก็ทรงบันดาลให้มัน (คือชีวิตนั้น) มี(คุณลักษณะ) ความดื้นรั้นและ (มีคุณลักษณะ) ความยำเกรง (ระคนกันไป)” [อัชชัมซ์: 7- 8]


และพระองค์ทรงตรัสเช่นกันว่า ..

وَأُحْضِرَتِ الأَنْفُسُ الشُّحَّ

“และบรรดาชีวิต (มนุษย์) ถูกทำให้มีอุปนิสัยตระหนี่” [อันนิซาอฺ: 128]



หมายความว่า มนุษย์นั้นถูกสร้างขึ้นมาในลักษณะเตรียมพร้อมที่จะแสดงคุณลักษณะทั้งที่ดีและไม่ดีออกมา แต่การร่ำเรียนวิชาความรู้ การอบรมบ่มนิสัย และสภาพสังคมรอบข้างนั้นย่อมมีบทบาทสำคัญในการกำหนดและยับยั้งคุณลักษณะดังกล่าว


บางท่านก็อาจจะถามเช่นกันว่า “เหตุใดที่พระองค์ทรงสร้างให้มนุษย์มีคุณลักษณะที่ไม่ดีอยู่ด้วย แล้วหลังจากนั้นพระองค์ก็ทรงสั่งใช้ให้หลุดพ้นจากมัน?”


เราขอตอบคำถามข้อนี้ด้วยข้อเท็จจริง 2 ประการ ต่อไปนี้ คือ ..

ประการแรก : แก่นแท้ของบรรดาคุณลักษณะที่ไม่ดีเหล่านี้นั้น หากไม่พิจารณาถึงการแสดงออกในหนทางที่ไม่ถูกต้องและเลยเถิดแล้ว ถือว่ายังเป็นผลดีในเชิงบวกและเป็นตัวยาที่มาบำบัดให้มีความสมดุล มีคุณประโยชน์ในการดำรงชีวิตทั้งในด้านของปัจเจกชนและกลุ่มชนโดยรวม ดังนั้นหากความเห็นแก่ตัวไม่มีอยู่เลยในตัวตนของความเป็นมนุษย์แล้ว แน่นอนเขาก็จะไม่ให้ความสำคัญและไม่ดูแลเอาใจใส่ตนเอง ไม่สนใจในการครอบครองทรัพย์สินและปกป้องสิทธิที่เขาพึงได้รับ


ในทำนองเดียวกันหากมนุษย์ไม่มีความตระหนี่อยู่เลย เขาก็จะใช้จ่ายทรัพย์สินทั้งหมดที่ได้ทุ่มเทอย่างเหน็ดเหนื่อยกว่าจะได้มันมาอย่างไม่ยั้งคิด หากเขาไม่มีความรักในทรัพย์สินเลย เขาก็จะไม่ขวนขวายแสวงหามัน แผ่นดินก็จะไม่ได้รับการทำนุบำรุงด้วยการเพาะปลูก ทำการเกษตร การดำรงชีวิตก็จะไร้เสถียรภาพ และหากไม่มีความโกรธเลย หมายถึง ผู้ถูกอธรรมไม่นำความโกรธไปใช้ในการปกป้องสิทธิของตนเอง แน่นอนความอธรรมย่อมแผ่ขยาย บรรดาสิทธิต่างๆ จะถูกริดรอน เป็นต้น และคุณลักษณะที่ไม่ดีทั้งหลาย เช่น ความโอหัง ลำพอง ความอิจฉาริษยา ทั้งหมดนี้เป็นกิ่งก้านสาขาและเป็นผลสืบเนื่องมาจากอุปนิสัยหลัก นั่นก็คือความเห็นแก่ตัว


ดังนั้น ในตัวของคุณลักษณะไม่ดีเหล่านี้ ก็มีคุณประโยชน์และมีบทบาทในแง่บวกต่อการดำเนินชีวิตมนุษย์และการอยู่ร่วมในสังคมของพวกเขา เนื่องจากอัลลอฮ์ตะอาลานั้น แน่นอนว่าพระองค์ย่อมมีเคล็ดลับ (ฮิกมะฮ์) อันงดงามในการให้มนุษย์มีความเตรียมพร้อมที่จะเผชิญหน้ากับมัน


แต่หากมนุษย์ไม่ได้รับการอบรมบ่มนิสัยและขาดปัจจัยต่างๆ ที่มากำชับ ยับยั้งและควบคุมคุณลักษณะที่ไม่ดีดังกล่าวแล้ว จิตใจขุ่นมัวก็จะเข้ามาครอบงำ และส่งผลให้เกิดการละเมิดขอบเขตที่ศาสนาได้วางไว้ เมื่อนั้นคุณประโยชน์ของมันจะกลับกลายเป็นยาพิษที่อันตราย


ประการที่สอง : คำถามดังกล่าวนี้ สมควรที่จะออกมาจากบุคคลที่ไม่ทราบว่า อัลลอฮ์ตะอาลา จะทรงให้ปวงบ่าวของพระองค์พื้นคืนชีพขึ้นมาอีกครั้งหนึ่งในวันโลกหน้า เพื่อจะได้รับผลการตอบแทน ซึ่งหากทำดีย่อมได้รับผลการตอบแทนดีและหากทำชั่วย่อมได้รับผลการตอบแทนที่เลวร้าย แต่ผู้ที่ตระหนักดีว่า การที่อัลลอฮ์ทรงสร้างให้มนุษย์อยู่บนธรรมชาติของคุณลักษณะที่น่าตำหนิเหล่านี้ และในขณะเดียวกันเขาก็ตระหนักว่าพระองค์ก็ทรงสั่งใช้ให้หลุดพ้นจากมันนั้น ก็เพราะว่า พระองค์ทรงตระเตรียมผลการตอบแทนอย่างสมบูรณ์แก่เขาในวันกิยามะฮ์ ตอบแทนความผาสุกแก่ผู้ประพฤติความดีงามและลงโทษผู้ประพฤติความชั่ว ดังนั้นหากมนุษย์ไม่ถูกบัญชาใช้ให้มีการทุ่มเทความพยายามในการหลีกห่างจากคุณลักษณะอันน่าตำหนิเหล่านี้ แล้วสิ่งอันใดเล่าที่จะนำมาเป็นการทดสอบและเป็นสัญญาในการตอบแทนและให้ผลบุญ?


เมื่อท่านทราบดีว่า โลกดุนยาแห่งนี้คือโลกแห่งการทุ่มเทความพยายามและความอุตสาหะ เป็นสนามแห่งการทดสอบที่มนุษย์ถูกผลักให้ไปอยู่ และเมื่อท่านได้ทำการพิจารณา คำตรัสของอัลลอฮ์ ตะอาลา ที่ว่า ..

يَا أَيُّهَا الْإِنسَانُ إِنَّكَ كَادِحٌ إِلَى رَبِّكَ كَدْحاً فَمُلَاقِيهِ

“โอ้มวลมนุษย์เอ๋ย แท้จริงเจ้าเป็นผู้บากบั่นสู่องค์อภิบาลของเจ้าอย่างจริงจัง แล้วเจ้าก็ต้องได้พบพระองค์อย่างแน่นอน” [อัลอินชิกอก: 6]



แน่นอนท่านก็จะทราบได้ว่า เหตุใดพระองค์ทรงวางบทบัญญัติใช้ให้มีความเพียรพยายามในการยับยั้งจากบรรดาคุณลักษณะที่น่าตำหนิและท่านจะรู้ว่าการดำเนินชีวิตของมนุษย์บนผืนแผ่นดินนี้หากไม่มีบทบัญญัติใช้ที่ไม่มีผลการตอบแทนจากสิ่งดังกล่าว ย่อมเป็นความไร้สาระที่ไม่มีประโยชน์อันใด


นอกจากนี้ การถูกบัญญัติใช้ให้หลีกห่างจากบรรดาคุณลักษณะเหล่านี้นั้น มิใช่หมายความว่า ต้องถอนรากถอนโคนมันออกไป เพราะการกระทำดังกล่าวย่อมเป็นไปไม่ได้ ตราบใดที่มนุษย์ยังคงเป็นมนุษย์ และตราบใดที่ความเป็นมนุษย์ยังคงหมายถึงผู้ที่ถูกสร้างขึ้นมาโดยอยู่บนคุณลักษณะเหล่านี้ตามที่เราได้บอกให้ทราบแล้วในคำตอบประการแรก แก่นแท้ของคุณลักษณะเหล่านี้ ไม่ใช่เป็นคุณลักษณะที่เลว แต่มันต้องการการขัดเกลาและอบรมบ่มนิสัย เพื่อไม่ให้ละเมิดขอบเขตที่ศาสนากำหนดไว้ และเพื่อไม่ให้คุณลักษณะเหล่านี้เปลี่ยนสภาพจากยาบำบัดเป็นยาพิษที่อันตรายต่อการดำเนินชีวิตของมนุษย์ ดังนั้นการอบรมบ่มนิสัย การขัดเกลาจิตใจและยับยั้งบรรดาคุณลักษณะที่ไม่ดีเหล่านี้แหละ ที่เรียกว่า การ "ญิฮาด" ต่อสู้ในวิถีทางของอัลเลาะฮ์


อัลเลาะฮ์ทรงตรัสว่า ..

قَدْ أَفْلَحَ مَن تَزَكَّى وَذَكَرَ اسْمَ رَبِّهِ فَصَلَّى

“แน่แท้ ผู้ชำระมลฑิลตนเอง ย่อมประสบความสมหวัง และเขาได้กล่าวรำลึกพระนามแห่งองค์อภิบาลของเขา แล้วเขาก็ทำการละหมาด” [อัลอะลา: 14 – 15]



พระองค์ตรัสเช่นกันว่า ..

قَدْ أَفْلَحَ مَن زَكَّاهَا وَقَدْ خَابَ مَن دَسَّاهَا

“แน่แท้ ผู้ชำระจิตใจจนสะอาด เขาย่อมประสบความสมหวัง และผู้หมกมุ่นมัน (คืออารมณ์ใฝ่ต่ำ) เขาย่อมขาดทุน” [อัชชัมซ์: 9 – 10]



อ้างอิงจาก: วิทยโวหาร ฮิกัม อิบนุ อะฏออิลลาฮ์ เล่ม 2, หน้า 132-137


ที่มา : https://www.facebook.com/photo.php?fbid=331162690319815&set=a.115788235190596.11540.100002782610160&type=1


วัลลอฮุ ตะอาลา อะลา วะ อะลัม
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่