จับตาสมรภูมิค้าปลีก/ค้าส่ง ตอน 2

กระทู้สนทนา
วันอาทิตย์ที่ 05 พฤษภาคม 2013 เวลา 20:05 น. กอง บก.ฐานเศรษฐกิจ การตลาด Marketing - คอลัมน์ : การตลาด Marketing
สุด


"แม็คโคร" เป็นหมากอีกตัวที่เครือซีพี มั่นใจว่าจะส่งผลให้เกมส์กระดานนี้จบลงด้วยชัยชนะ ความแข็งแกร่งของ "แม็คโคร"  จะกลายเป็นอีกขาธุรกิจที่ยืนคู่กับ "เซเว่น อีเลฟเว่น"  เลยทีเดียว เส้นทางก้าวสู่ การเป็น "ครัวของโลก"  จึงอยู่แค่เอื้อม

    เพราะนอกจาก "แม็คโคร"  จะเป็นหัวหอกในการตะลุยเออีซีแล้ว ยังมีเป้าหมายที่จะยิงตรงไปยังจีน ซึ่งที่ผ่านมาเครือซีพี ทั้งผลัก ทั้งดันให้ธุรกิจออกเดินแบบแข็งแกร่ง แต่จนแล้วจนรอด ก็ยังลุ่มๆ ดอนๆ

     "แม็คโคร" ที่มีกลุ่มเป้าหมายเป็น "โฮเรก้า"  มีทัพสินค้านับหมื่นรายการที่ป้อนให้กับโรงแรม ภัตตาคาร ร้านอาหาร ตลอดจนธุรกิจรับจัดเลี้ยง มีความแข็งแกร่งเรื่องของอาหารสด  มีความมั่นคงด้านการเงิน มีโนฮาวที่ยอดเยี่ยม  และสำคัญคือมีทีมงานที่เก่ง ซึ่งเป็นเหตุผลหลัก ที่ "ธนินท์ เจียรวนนท์"  ตัดสินใจซื้อ

     การเริ่มต้นในจีน จึงไม่มีคำว่า "ติดลบ"  และยังสามารถต่อยอดให้ธุรกิจเครือซีพีในจีน วิ่งฉิว ลืมตาอ้าปากได้ด้วย
     ส่วนในไทยไม่ต้องพูดถึง เพราะ "ธนินท์" ย้ำว่า ปีนี้แม็คโครมีแผนขยายสาขาเพียง 5 สาขา ทำให้มีสาขาทั่วประเทศเพียง 62 สาขา ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่น้อย หากเทียบกับการเปิดให้บริการในเมืองไทยมานานถึง 25 ปี ส่วนสาเหตุเพราะเจ้าของเดิม ค่อนข้างระมัดระวังในการลงทุน

     ทั้งๆที่ "แม็คโคร"  มีการเติบโตต่อเนื่องทุกปี และยังมีแนวโน้มเติบโตไม่หยุด  เพราะคนไทยให้ความสำคัญเรื่องอาหารการกิน และมีผู้ประกอบการค้าส่งที่มีความแข็งแกร่งทั้งเรื่องอาหาร อุปโภคบริโภค เพียงแค่รายเดียวในเมืองไทยเท่านั้น  ทุกอย่างรวบตัว "แม็คโคร"  จึงเต็มไปด้วยโอกาส

     เชื่อมั่นว่า "แม็คโคร" จะไม่ได้เติมเต็มเฉพาะซีพี ออลล์ หรือเซเว่นฯ เท่านั้น แต่จะช่วยเสริมเครือซีพี และเป็นช่องทางการจำหน่ายสินค้าให้กับผู้ผลิตสินค้าในเครือซีพีได้นับร้อยบริษัทด้วย

     เพราะในอนาคต "เครือซีพี"  ไม่ได้มุ่งเป้าหมายแค่การเป็นครัวของโลก ผ่านการเป็นผู้ผลิตอาหารสด  อาหารแช่แข็ง หรืออาหารที่มีวางจำหน่ายในปัจจุบัน แต่เป้าหมายของเครือซีพี คือ มีทั้งอาหารสมอง  และอาหารสำหรับสุขภาพ

     ซึ่งเครือซีพี เตรียมเปิดตัวหมวดอาหารเพื่อสุขภาพ ทั้งอาหารสำหรับผู้ที่เป็นโรคความดันสูง , อาหารสำหรับผู้เป็นเบาหวาน , อาหารสำหรับผู้สูงอายุ เป็นต้น  รวมถึงสินค้าอื่นๆ ที่จะถูกพัฒนาขึ้นเพื่อรองรับกับความต้องการของผู้บริโภค

     โดย ณ วันนี้ เครือซีพี มีธุรกิจค้าปลีกครอบคลุมทั้ง เซเว่น อีเลฟเว่น ในรูปแบบของร้านสะดวกซื้อ  , ซีพี เฟรชมาร์ท ,  ซีพี มาร์เก็ต , ซีพี เวิลด์ เป็นต้น รวมสาขาทั้งสิ้นกว่า 8 พันสาขา สามารถให้บริการผู้บริโภคได้ครอบคลุมทั่วประเทศ  ถือเป็นเชนค้าปลีกที่มีสาขาเข้าถึงผู้บริโภคคนไทยมากที่สุดในประเทศ  ย้ำถึงความแข็งแกร่งและเป็นเบอร์ 1 ในธุรกิจเมืองไทย

     อย่างไรก็ดี การสร้างเครือข่ายธุรกิจให้ครอบคลุมทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำถือเป็นเป้าหมายที่หลายองค์กรให้ความสำคัญ  รวมถึงกลุ่มเบอร์ลี่ ยุคเกอร์ (BJC)  ซึ่งเป็น 1 ในผู้ที่เคยยื่นเสนอซื้อธุรกิจของแม็คโคร เมื่อราวเดือนกรกฎาคม ปีก่อน แต่ดูเหมือนการเจรจาจะยังไม่บรรลุผล  โดยก่อนหน้านี้เบอร์ลี่ฯ  ก็เป็น 1 ในผู้ยื่นเสนอซื้อธุรกิจของคาร์ฟูร์ (ซึ่งต่อมาบิ๊กซีเป็นผู้ซื้อกิจการไป)  และแฟมิลี่มาร์ท (ปัจจุบันกลุ่มเซ็นทรัลเป็นผู้ซื้อกิจการไป)

     รวมไปถึงการพยายามสร้างโอกาสในธุรกิจค้าปลีก ผ่านเครือข่ายธุรกิจของนายเจริญ สิริวัฒนภักดี แต่ต้องยอมรับธุรกิจค้าปลีกของนายเจริญ เองก็ไม่ได้ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร จนล่าสุดเมื่อปลายปีที่ผ่านมาเบอร์ลี่ฯ ตัดสินใจดำเนินธุรกิจค้าปลีกของตนเอง ภายใต้ชื่อ BJC’S mart    ด้วยคอนเซ็ปต์ "มัลติ ฟอร์แมท-มัลติ บิสิเนส-มัลติ คันทรี"

    การผสมผสานการให้บริการด้วยนวัตกรรมค้าปลีก ทั้งการขายผ่านหน้าร้าน ซึ่งแต่ละสาขาจะมีสินค้าและบริการที่แตกต่างกันไป ภายใต้สินค้ากว่า 8 พันรายการ  และร้านค้าปลีกในรูปแบบของบีเจซี สมาร์ท บอร์ด หรือ BJC’S mart Virtural : QR Code ซึ่งจะติดตั้งอยู่ตามแหล่งชุมชน เช่น สถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส, อาคารสำนักงานขนาดใหญ่ , สนามบิน เป็นต้น  โดยลูกค้าสามารถสแกนสินค้าที่ต้องการและสั่งซื้อ ซึ่งเครื่องจะรับคำสั่งพร้อมจัดส่งสินค้าไปยังสถานที่ที่ต้องการภายใน 24 ชั่วโมง

    ซึ่งนอกจากการใช้ BJC’S mart นำร่องร้านค้าปลีกในเมืองไทยแล้ว ยังมีเป้าหมายจะนำไปขยายสาขาที่ประเทศเวียดนาม  แต่ที่สุดแล้วมีแนวโน้มว่า " BJC’S mart"  จะไม่เป็นที่ตอบรับเท่าที่ควร ทำให้อาจจะต้องชะลอแผนการลงทุนและขยายสาขาออกไป
      สิ่งเหล่านี้เป็นการบ่งบอกให้เห็นว่าเบอร์ลี่ฯ มีความมุ่งมั่นที่จะสร้างธุรกิจปลายน้ำให้เป็นรูปเป็นร่าง  แต่ไม่ใช่เรื่องง่ายอย่างที่คิด
     อีกหนึ่งบริษัทที่ให้ความสำคัญกับธุรกิจปลายน้ำเช่นกัน คือ "กลุ่มสหพัฒน์"  ซึ่งจะนำเสนอต่อไปในตอน 3 ...

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 33 ฉบับที่ 2,841 วันที่  5-8 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่