เสียง "คณิต" หลังม่านปรองดอง ถึง "ยิ่งลักษณ์และพวก" "เขาแค่ใช้ผมเป็นเครื่องมือจ่ายเงิน 7 ล้าน"

ประชาชาติธุรกิจออนไลน์

ในจังหวะที่รัฐบาลเห็นความสำคัญของเศรษฐกิจเป็นเรื่องหลัก
เร่งเดินหน้าขยับหมากการเมืองเพื่อจำกัดอำนาจฝ่ายตรงข้าม อย่างศาล-องค์กรอิสระ

แต่อีกฉากมุมหนึ่งของกระดานการเมือง กลับยังมีผู้ที่รัฐบาล "ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร"
นิยามว่าเป็น "เหยื่อ" จากเหตุการณ์วุ่นวายทางการเมืองที่เกิดขึ้นตลอดช่วง 6 ปีหลังสุด

บางคนยังถูกจองจำในคุก บางคนยังมีคดีความติดตัว
จนเป็นมูลเหตุให้หลายกลุ่มลุกขึ้นมาจุดพลุเรื่องการนิรโทษกรรม
เรียกร้องปลดปล่อยนักโทษการเมืองให้เป็นอิสระ
เพราะเชื่อว่าการนิรโทษกรรมเป็นจุดเริ่มของการปรองดอง

พลุที่ถูกจุดมีทั้งแนวคิดการเติมเรื่องนิรโทษกรรมลงไปในรัฐธรรมนูญ
ออก พระราชกำหนด จนถึงออกพระราชบัญญัติ

แต่ทุกองคาพยพที่ออกมาเคลื่อนไหว กลับลืมนึกถึงข้อเสนอของ
คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและเพื่อค้นหาความจริงเพื่อความปรองดองแห่งชาติ
(คอป.) ที่สังเคราะห์ทางออกความขัดแย้งไว้เป็นหมวดหมู่ เป็นขั้นตอน

เพราะพลันที่ คอป.ทำงานจนครบวาระ 2 ปิ เมื่อกลางเดือนกรกฎาคม 2555
และเก็บข้าวของปิดฉากการทำหน้าที่อย่างเป็นทางการ
หลังนำเสนอรายงานอันเป็นความจริงฉบับสุดท้ายที่ คอป.รวบรวม
เผยแพร่สู่สาธารณะเมื่อเดือนกันยายน 2555 จำนวน 276 หน้า

นับจากนั้นชื่อของ "คณิต ณ นคร" ประธาน คอป. กลับเงียบหายไป
พร้อมหลายข้อเสนอที่แนะนำรัฐบาล และผู้เกี่ยวข้องที่เอาไปซ่อนไว้ในลิ้นชัก

เป็นครั้งที่ 3 ในรอบ 20 ปีของ "คณิต" กับหมวก 3 ใบ ที่รัฐบาล 3 ชุด
มอบหมายทำความจริงในเหตุการณ์ต่าง ๆ ให้ปรากฏ ตั้งแต่ค้นหา
ความจริงในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ-เหตุการณ์การฆ่าตัดตอนในยุครัฐบาล
พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร-เหตุการณ์ความไม่สงบเมื่อเดือนเมษา-พฤษภา 53

เพียงแต่ข้อเสนอทั้ง 3 ครั้ง 3 เหตุการณ์ถูกพับเก็บ ไม่มีการตอบสนองใด ๆ
จากผู้มีอำนาจ

โดยเฉพาะข้อเสนอ คอป.ที่เกี่ยวเนื่องกับเหตุการณ์ปี 2553 ซึ่ง "คณิต" เชื่อว่า
เป็นหนทางนำไปสู่การปรองดอง ลดดีกรีความขัดแย้งของประเทศ
มีตั้งแต่เสนอให้รัฐบาลยกเลิกการตีตรวนนักโทษ
ชดเชยเงินเยียวยาให้แก่ผู้ได้รับผลกระทบเป็นงวด
จัดระเบียบกระบวนการยุติธรรมใหม่ทั้งโครงสร้าง

กระทั่งเรียกร้องให้ "พ.ต.ท.ทักษิณ" ผู้ที่เขาเชื่อว่าเป็นเชื้อไฟแห่งความขัดแย้ง
ยุติความเคลื่อนไหวโดยให้นึกถึง "ปรีดี พรมยงค์"
อดีตนายกรัฐมนตรีที่ลี้ภัยการเมืองจนจบชีวิตที่ประเทศฝรั่งเศสมาเป็นเยี่ยงอย่าง

แต่เรื่องราว ข้อเสนอ และความเห็น ของ "คณิต" ผ่านหนังสือ "ด่วนที่สุด" ของ คอป. 6
ฉบับ ที่ส่งตรงถึงตึกไทยคู่ฟ้า ผ่านสายตา 1 คู่ 2 ข้างของนายกฯ "ยิ่งลักษณ์" นั้น
"คณิต" เชื่อว่ารัฐบาลไม่เคยปฏิบัติตาม

ตลอด 7 เดือนที่เงียบหายไปจากเวทีปรองดอง "คณิต" ตัดพ้อเสมอว่า
ตนเองเป็นเพียงหนังหน้าไฟ ที่ผู้มีอำนาจหยิบชื่อขึ้นมาเพื่อเป็น
เกราะป้องกันจากผลกระทบทางการเมือง

ดังนั้นเมื่อเขายินยอมเปิดหน้าอีกครั้งในวันที่เปิดเผยผลงานที่รวบรวม
ข้อเสนอ-คำแนะนำทั้งหมดของ คอป.ที่มีต่อรัฐบาล รวมถึงข้อเขียน-งานวิจารณ์
ของเขา รวบรวมเป็นหนังสือชื่อ "ประชาธิปไตย กับการตั้งรังเกียจทางสังคม"

เขาจึงฝากผ่าน "ประชาชาติธุรกิจ" ไปถึงรัฐบาลที่ไม่เคยทำตามข้อเสนอ คอป.ว่า

"ข้อเสนอของเราพูดถึงการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ปี 2553 มีระยะสั้น
ระยะกลาง ระยะยาว บอกว่า การนิรโทษกรรมคืออะไร แต่เขาก็ไม่ได้ปฏิบติตามที่เราว่า
เราเสนอไปหมด แล้วตอนเลือกตั้งหาเสียงก็เอาผมไปเป็นหนังหน้าไฟ
แต่พอเอาเข้าจริงไม่ทำอะไรเลย"

"อย่างที่เราเสนอเยียวยา เราก็บอกว่าให้เยียวยาตามหลักสากล
เขาก็บอกว่าให้เราไปดูสิว่าเยียวยาตามหลักสากล เขาเยียวยากันขนาดไหน
เราก็แนะนำให้จ่ายเงินเป็นงวด แต่สุดท้ายเขาไปให้เท่าไหร่... 7.5 ล้าน
แล้วมาบอกว่าเป็นคำแนะนำของเรา แต่มันบิดเบือนหมดเลย
และข้อเสนอทุกอย่างก็ไม่เห็นเป็นรูปธรรม
เพียงแค่เขาใช้ผมเป็นเครื่องมือที่ไปให้เงินเยียวยา 7 ล้านกว่าบาท"

"แล้วผมจะรู้สึกยังไง ผมก็รู้สึกว่าสังคมเราใช้ไม่ได้
การเมืองมัวแต่เล่นกันไม่เอาจริงเอาจัง สมัยนี้มันยุคใหม่แล้ว
ควรเอาจริงเอาจังกันหน่อย"

คณิตบอกว่า ปัจจัยที่รัฐบาลบิดเบือนข้อเสนอของ คอป.นั้น เพราะสิ่งที่
เขาแนะนำไป ผู้มีอำนาจไม่ได้ประโยชน์ หนำซ้ำยังกระทบไปถึงบุคคล
ระดับรัฐมนตรีบางคน-ส.ส.เสื้อแดงบางรายที่ทำหน้าที่เป็นผู้แทนราษฎรในสภา


"คอป.เสนอไปว่า แม้ไม่ได้เป็นก่อการร้าย แต่การปราศรัยรุนแรง
เรื่องเผาอาคารสถานที่เข้าข่ายตามกฎหมายอาญามาตรา 85
ผู้ใดโฆษณาหรือประกาศให้แก่บุคคลทั่วไปให้กระทำความผิด
และความผิดนั้นมีกำหนดโทษไม่ต่ำกว่าหกเดือน
ผู้นั้นต้องระวางโทษกึ่งหนึ่งของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น"

และเมื่อบุคคลเหล่านั้นเป็นถึงระดับรัฐมนตรี ข้อเสนอของ
คอป.จึงเป็นเหมือนอุปสรรคที่ไปขวางทางอำนาจของนักการเมืองหรือไม่ คณิตสวนกลับว่า
"เห็นหรือเปล่า นี่ไงสิ่งที่ คอป.เสนอไป สิ่งไหนที่เป็นประโยชน์เขาก็หยิบมา
ที่ไม่เป็นประโยชน์เขาก็ไม่ทำ เขาก็ ignore เลย"

"เราต้องการอยากให้บ้านเมืองสงบ ถ้าอยากให้บ้านเมืองสงบก็ต้องช่วยกันทำ
คุณจะไปคิดว่าอย่างนั้นได้ไง แล้วนี่ไปชักใยอยู่ข้างนอก มาที่ฮ่องกงใช่ไหม
(หัวเราะ) มันเสียหาย"

ไม่เพียงคนในรัฐบาลที่ "คณิต" มองว่า ไม่ทำตามข้อเสนอของ คอป.เท่านั้น
ที่เป็นอุปสรรคต่อการสร้างความปรองดอง
แต่กระบวนการยุติธรรมทั้งโครงสร้างก็มีปัญหาเช่นเดียวกัน
จึงทำให้งานปรองดองของเขายากเหมือนเข็นครกขึ้นภูเขา

แม้รัฐบาลจะมีความพยายามปฏิรูปโครงสร้างกระบวนการยุติธรรม ผ่านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
มีแนวคิดในการจัดระเบียบอำนาจศาลใหม่ แต่ "คณิต" มองว่าไม่มีทางทำสำเร็จ

"ไม่มีทางหรอก รัฐธรรมนูญนี่แหละจะเพิ่มความขัดแย้ง
ต้องความจริงใจที่ปฏิรูปกันเท่านั้น
และผมเห็นว่ากระบวนการยุติธรรมนี่แหละที่จะทำให้ทุกอย่างสงบได้
แต่กระบวนการยุติธรรมเรามีความแย่อยู่ 3 อย่าง
1.ประสิทธิภาพแย่ ยิงกันในผับต่อหน้าคนเยอะแยะ ยังยกฟ้องเลยเห็นไหม
2.เป็นกระบวนการที่คุกคามสิทธิของประชาชนเยอะ"

"ตอนผมทำ คอป.ไปเปิดเวทีที่ จ.อุบลราชธานี มีชาวบ้านมาบอกว่าพี่น้องเขาถูกจับ
เขาไปประกัน ศาลเรียกหลักประกัน 1 ล้านบาท ผมถามว่าต้องใช้หลักประกันไหม
เขาตอบว่าใช้โดยกู้เงินนอกระบบมาเป็นหลักประกัน ทั้งที่ตามกฎหมายบอกว่า
มีหลักประกันหรือไม่ก็ได้ แต่เรายึดหลักประกัน คนก็เดือดร้อน ชาวบ้านจะไปหาที่ไหน"

เมื่อกระบวนการยุติธรรมของไทยบางครั้งย่อหย่อน บางครั้งกลับเถรตรงเกินไป
ข้อเรียกร้องการนิรโทษกรรมให้กับผู้กระทำความผิดในข้อกล่าวหาคดีฉกรรจ์ เช่น
เผาศาลากลางจังหวัด จึงไม่ใช่คำตอบแห่การปรองดองทั้งหมด
ดังนั้นต้องมีการปฏิรูประบบยุติธรรมควบคู่ไปด้วย

แม้จะมีการอ้างว่าการนิรโทษกรรมนั้น ยกประโยชน์แก่ผู้ต้องหาประเภทปลาซิว-ปลาสร้อย
ไม่รวมแกนนำผู้สั่งการ เพื่อลดโทษความขัดแย้ง
แต่เขาเชื่อว่าการทำเช่นนั้นไม่ได้ทำให้สังคมลดความหวาดระแวงลง

"มันไม่ใช่คำตอบ แม้จะบอกว่าการนิรโทษกรรมเฉพาะผู้ชุมนุม ไม่เกี่ยวกับแกนนำ
ผมคิดว่ามันเป็นแค่วิธีพูด ผม

คิดว่าต้องค้นหาความจริงที่เกิดขึ้น ทำเรื่องที่ผมยกขึ้นมาให้กระจ่างเสียก่อน
แต่นี่ยังไม่กระจ่าง ยังมัว ๆ ทำให้กฎหมายนิรโทษกรรมก็เลยมัว ๆ มันยังไม่รู้ทิศทาง
คนเผาศาลากลางควรถูกจำคุก ปล่อยตัวไม่ได้"

แกนนำพรรคเพื่อไทยฝ่ายหัวก้าวหน้าหลายคน มักยกตัวอย่างการนิรโทษกรรม
ในเหตุการณ์นองเลือดครั้งอดีตที่ยกโทษให้กับผู้ต้องหาทั้งหมด
แต่ "คณิต" มองว่า ในปัจจุบันไม่ควรเป็นอย่างนั้น

"14 ตุลา สมัยนั้นเป็นอำนาจทหาร แต่ตอนนี้เราต้องการประชาธิปไตยไหมล่ะ
ทำให้มันเป็นประชาธิปไตยขึ้นมาสิ
คนที่เผาศาลากลางต้องอยู่ในคุกต่อถ้ามีการยุยงก็ต้องจัดการ
เราต้องไปเอาปลากระโห้ให้ได้ ไปเอาปลาซิวปลาสร้อยได้ไง แต่ต้องดูแยกแยะให้ดี
ขณะเดียวกันกระบวนการยุติธรรมเราไม่เคลื่อนไหวอะไรเลย
กระบวนการยุติธรรมไทยมีพฤติกรรม 3 อย่าง 1.พฤติกรรมเคยทำงานสบาย ๆ 2.กลัว
3.ประจบประแจง ประจบเจ้านาย ประจบการเมือง เลยวุ่นวาย"

ขณะที่สถานการณ์การเมือง ด้านการช่วยเหลือนักโทษการเมืองยังดูเหมือนคลุมเครือ
ไม่เห็นเค้าลางแนวทางแน่ชัดว่าจะออกมาในรูปแบบใด
แต่กระบวนการสร้องความปรองดองผ่านเวที "ประชาเสวนา"
ที่รัฐบาลกดปุ่มอนุมัติงบประมาณทั้งสิ้น 168.23 ล้านบาท
โดยมีคณะกรรมการประสานงานและติดตามผลการดำเนินงานตาม
ข้อเสนอของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและเพื่อค้นหาความจริง
เพื่อความปรองดองแห่งชาติ (ปคอป.) เป็นผู้ดำเนินงาน จัดสานเสวนา 108 เวที

"คณิต" เชื่อว่า เป็นสิงที่ดี แต่เขาตั้งข้อสังเกต ถามคำถามกลับไปยังรัฐบาลว่า
กำลังเบี่ยงเบนประเด็น เพื่อให้กระแสนิรโทษกรรมเบาบางลงไป "เสวนาดี
ผมเห็นด้วยที่มาคุยกัน แต่ไม่ใช่คุยกันเฉย ๆ มันต้องจริงจัง
แต่นี่ดูเหมือนไม่จริงจัง หมายความว่าเบี่ยงเบนไป
ให้ไปพูดกันเพื่อจะได้ไม่ต้องทำอะไร อย่างนั้นหรือเปล่า"

ถามเขาว่าชาตินี้ เราจะปรองดองกันได้ไหม "คณิต" ตอบว่า ผมยังมองไม่ค่อยออก
มีครั้งหนึ่งที่ผมนอนไม่หลับจนต้องบันทึกลงในหนังสือที่ผมเขียนว่า

"ในขณะที่ผมทำงานของ คอป.นั้น มีอยู่คืนหนึ่งในต้นเดือนมิถุนายน 2555
ผมนอนไม่หลับตลอดทั้งคืน คือเมื่อ พ.ร.บ.ว่าด้วยความปรองดองแห่งชาติ พ.ศ. ...
เข้าสู่รัฐสภา จนทำท่าว่าความรุนแรงอาจจะเกิดขึ้นได้อีก จน
คอป.ต้องออกจดหมายเปิดผนึก จะด้วยเหตุผลอะไรก็ตามที
นับว่าเป็นโชคดีของประเทศชาติที่ไม่เกิดความรุนแรงตามที่ คอป.มีความห่วงใย"

"คณิต" มักบอกในวงสนทนาแบบกึ่งทางการ และไม่เป็นทางการ หลายครั้งว่า
ตัวเขาโชคร้าย พอประเทศชาติมีปัญหามักนึกถึงเขา
เมื่อถามเขาว่าจะมีโอกาสกลับมาช่วยประเทศชาติในยามวิกฤตอีกครั้งไหม

"คณิต" ตอบว่า ผมก็ได้แต่ภาวนาว่า ไม่ให้เกิดอะไรขึ้น
   
   
http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1365590852&grpid=09&catid=16

ระดับอ.จ.คณิต ...ท่านจะวิจารณ์อย่างไร  ก็รับฟังด้วยความเคารพ ....
มี... แต่ ... นิดนึงค่ะ  ทำไมรัฐบาลต้องปฎิบัติตามทุกข้อเสนอด้วย ....
ปฏิรูปขบวนการยุติธรรม ...ใครก็อยากทำ  แต่แตะต้องได้ไหม ?
วันนี้  อำนาจตุลาการ ...ที่ไม่ได้มาจากปชช. ใหญ่คับฟ้า  ใครแตะต้องได้บ้าง
เชิญเพื่อนๆ  อ่านและวิจารณ์กันบ้าง  ....เกิน 3 บันทัด  คงมีหลายคนรังเกียจการอ่าน
    ยิ้ม


สาวแว่น
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่