เปิดงานวิจัยทุน สสส. ทำไมแพทย์ชนบทลาออก

เปิดงานวิจัยทุน สสส. ทำไมแพทย์ชนบทลาออก ชี้ยุค “เฉลิม อยู่บำรุง” แจกเงินให้เปล่ายังรั้งไม่อยู่

11 เมษายน 2013

หลังจากนพ.ประดิษฐ์ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ประกาศจ่ายผลตอบแทนให้กับข้าราชการกระทรวงสาธารณสุขใหม่ โดยจ่ายตามงานที่ทำหรือที่เรียกว่า “จ่ายตามภาระงาน (Pay for Performance- P4P)” ใครทำงานมากได้มาก ใครทำงานน้อยได้น้อย เป็นเหตุให้มีการต่อต้านประท้วงขับไล่ให้รัฐมนตรีสาธารณสุขลาออก ทั้งนี้จากเดิมที่ระบบการจ่ายผลตอบแทนของกระทรวงสาธารณสุขมีความเหลื่อมล้ำค่อนข้างมากระหว่าง 1. แพทย์ด้วยกันเอง ที่อายุงาน 1-10 ปี จะทำงานหนักแต่ผลตอบแทนน้อย กับแพทย์ที่อายุงาน 10 ปีขึ้นไป ได้ผลตอบแทนมากแต่งานน้อยกว่า และ 2. ระหว่างแพทย์กับทีมงานสุขภาพด้านอื่นๆ อาทิ เภสัชกร ทันตแพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่ส่วนอื่นๆ

การเปลี่ยนอัตราผลแทนใหม่ครั้งนี้ เป็นการปรับเปลี่ยนจากการจ่ายผลตอบแทนเดิมในปี 2552 ที่นายเฉลิม อยู่บำรุง อดีตกระทรวงสาธารณสุข ได้ประกาศเพิ่มค่าตอบแทนแพทย์ในกระทรวงสาธารณสุข เสมือนเป็นเงินให้เปล่า โดยการนำอายุงานของแพทย์เข้ามาคำนวณ ร่วมกับระดับความทุรกันดารของพื้นที่ การเพิ่มค่าตอบแทนให้กับแพทย์ในชนบทครั้งนั้น ทำให้ค่าตอบแทนแพทย์จบใหม่ในพื้นที่ปกติเพิ่มขึ้นประมาณ 53,100 บาท (ดูตารางประกอบ) ทั้งนี้เพื่อจูงใจให้แพทย์ในชนบทไม่ลาออก ซึ่งเงินที่นำมาจ่ายให้กับแพทย์นั้นมาจากเงินบำรุงของแต่ละโรงพยาบาล แต่มีบางปีที่ต้องของบประมาณจากกระทรวงการคลัง เนื่องจากโรงพยาบาลแบกภาระไม่ไหว



จากงานวิจัย “การคงอยู่ในชนบทและในราชการของแพทย์ภายหลังการเพิ่มค่าตอบแทนในการปฏิบัติงานที่ชนบท” ซึ่งเป็นงานวิจัยของ “นงลักษณ์ พะไกยะ, กฤษฎา ว่องวิญญู, วรางคณา วรราช, สัญญา ศรีรัตนะ และจิราภรณ์ หลาบคำ” ซึ่งงานวิจัยนี้ได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการคงอยู่ในชนบทของแพทย์หลังการเพิ่มเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายในปี 2552 เป็นการเก็บข้อมูลทุติยภูมิจากกระทรวงสาธารณสุข เพื่อให้รู้ถึงรูปแบบการเคลื่อนย้ายของแพทย์ในระหว่างปี 2544-2554 และวิเคราะห์โอกาสของการคงอยู่ในกระทรวงสาธารณสุขและในชนบท

ผลการศึกษาพบว่า แนวโน้มการเคลื่อนย้ายของแพทย์จากชนบทภายหลังการเพิ่มค่าตอบแทนในการปฏิบัติงานที่ชนบทก่อนการชดใช้ทุนครบ 3 ปีนั้นไม่แตกต่างกับก่อนการเพิ่มเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายปี 2552 นอกจากนั้นยังพบว่า การออกจากกระทรวงสาธารณสุขมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น แม้ว่าหลังการเพิ่มเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายอาจจะทำให้การลาออกจากราชการไม่เพิ่มขึ้นมากนักในช่วง 2 รุ่นหลัง แต่ในด้านการคงอยู่ในชนบทของแพทย์ยังลดลงในทุกรุ่น แม้แต่รุ่นที่ได้รับผลจากการเพิ่มเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายในปี 2552 ได้แก่ รุ่นปี 2549 และ 2550 ซึ่งการคงอยู่ในชนบทของแพทย์ลดลงเช่นเดียวกันกับรุ่นก่อนๆ

จากข้อมูลของแพทยสภา ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2553 ประเทศไทยมีแพทย์ที่ขึ้นทะเบียนและสามารถติดต่อได้ จำนวน 39,406 คน ในจำนวนนี้เป็นแพทย์ที่ให้บริการในสถานพยาบาลในชนบท ได้แก่ โรงพยาบาลชุมชน และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล 4,705 คน คิดเป็น 12% ของแพทย์ทั้งหมด ซึ่งดูแลประชากรร้อยละ 54 แสดงให้เห็นถึงการกระจายตัวที่ไม่เหมาะสมระหว่างเมืองกับชนบท

อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข พบว่า อัตราการลาออกของแพทย์ในแต่ละปียังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง โดยมาจากหลายสาเหตุด้วยกัน (ดูตารางการลาออกของแพทย์แต่ละปีประกอบ)



จากผลการศึกษาชี้ให้เห็นว่า การเคลื่อนย้ายของแพทย์จากชนบทภายหลังการเพิ่มค่าตอบแทนในการปฏิบัติงานในชนบทยังคงเกิดขึ้นต่อเนื่องและไม่ได้ลดลงแต่อย่างใด ไม่ว่าจะเป็นการลาออกจากราชการหรือออกจากชนบทก่อนการเสร็จสิ้นสัญญาทุน 3 ปี

จึงอาจกล่าวได้ว่า การเพิ่มค่าตอบแทนไม่อาจส่งผลต่อการคงอยู่ในชนบทของแพทย์ได้ ซึ่งการจะรักษากำลังคนไว้ในระบบให้นานขึ้นควรพิจารณาแรงจูงใจที่หลากหลาย ทั้งมาตรการด้านการเงินและไม่ใช่การเงิน โดยในส่วนของมาตรการการเงินควรจะออกแบบให้สามารถสร้างแรงจูงใจมากขึ้น เช่น การเพิ่มค่าตอบแทนที่เหมาะสมและสอดคล้องกับความทุรกันดารมากขึ้น หรือผูกติดกับภาระงาน ความยากลำบาก เป็นต้น และควรทำควบคู่ไปกับมาตรการที่ไม่ใช้การเงิน เช่น สวัสดิการต่างๆ ความก้าวหน้าในวิชาชีพ การศึกษาต่อเนื่อง การมีระบบแพทย์พี่เลี้ยง เป็นต้น

การเพิ่มแรงจูงใจในด้านการเงินเพียงอย่างเดียวไม่สามารถดึงดูดแพทย์ไว้ในชนบทได้ สอดคล้องกับงานวิจัยต่างๆ ที่ชี้ให้เห็นว่า ปัจจัยที่จะสามารถดึงดูดกำลังคนด้านสุขภาพมาทำงานในชนบทนั้นประกอบด้วย 1. ปัจจัยส่วนบุคคล เช่น มีภูมิลำเนาในชนบท มีค่านิยมชอบชนบท 2. ปัจจัยด้านครอบครัว 3. ปัจจัยด้านการเงินและรายได้ 4. ปัจจัยความก้าวหน้าในอาชีพ เช่น มีโอกาสศึกษาต่อ มีโอกาสไปสู่ตำแหน่งที่สูงขึ้น มีพี่เลี้ยง/การติดตามงานที่ดี 5. ปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมในการทำงาน เช่นมีโครงสร้างพื้นฐาน ทรัพยากรเพียงพอ มีบ้านพัก

ทั้งนี้ ผลงานวิจัยที่เคยศึกษาส่วนมากสอดคล้องกับการศึกษาของ “นงลักษณ์และคณะ” ซึ่งสรุปว่า แม้แพทย์จะให้ความสำคัญกับปัจจัยการเงินมากที่สุดในการเลือกทำงานในชนบท แต่สิทธิประโยชน์ที่ไม่ใช่ตัวเงินมีความสำคัญใกล้เคียงกัน ไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาลอยู่ใกล้ภูมิลำเนา มีโอกาสศึกษาต่อเฉพาะทาง โรงพยาบาลขนาดเล็ก การได้รับการเลื่อนขั้นที่เร็วขึ้น การมีแพทย์ที่ปรึกษาและจำนวนเวรที่ไม่มากนัก

งานวิจัยระบุว่าการพัฒนามาตรการที่จะจูงใจให้แพทย์ทำงานในชนบทนั้น ควรต้องมีการออกแบบที่ตั้งอยู่บนข้อมูลเชิงวิชาการ และมีความครอบคลุมทั้งแรงจูงใจที่เป็นตัวเงินและไม่เป็นตัวเงิน โดยไม่ควรให้น้ำหนักเฉพาะด้านการเงินเพียงด้านเดียว และควรมีการเฝ้าระวังสถานการณ์อย่างสม่ำเสมอ ประเมินและปรับเปลี่ยนมาตรการให้สอดคล้องบริบทอื่นๆ ที่เปลี่ยนไป

งานวิจัยได้ระบุถึงการแก้ปัญหาแพทย์ในชนบทว่า ประเทศไทยได้มีมาตรการต่างๆ เพื่อสร้างแรงจูงใจและดึงดูดแพทย์เข้าสู่สถานบริการชนบทที่หลากหลาย เพื่อลดความแตกต่างของการกระจายแพทย์ระหว่างเมืองและชนบท ได้แก่

1. มาตรการด้านการผลิต โดยการทำสัญญาชดใช้ทุนเป็นเวลา 3 ปี และปรับ 400,000 บาท การผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อประชาชนในชนบทซึ่งเริ่มในปี 2537 โครงการหนึ่งอำเภอหนึ่งแพทย์ ในปี 2548 และโครงการอื่นๆ ส่งผลให้การผลิตแพทย์เพิ่มขึ้นประมาณปีละ 700-1,000 คน ตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมา(ปี 2545 ผลิตได้ 1,417 คน)

2. มาตรการด้านการเงิน โดยมีการเพิ่มค่าตอบแทนสำหรับแพทย์ที่ทำงานในชนบท เริ่มจากปี 2518 ต่อมาในปี 2538 มีการจ่ายค่อตอบแทนพิเศษกรณีที่ไม่รักษาคนไข้นอกเวลาราชการ มีการเพิ่มค่าตอบแทนพิเศษสำหรับพื้นที่ทุรกันดารและเสี่ยงภัยในปี 2540 และปี 2548

3. การดำเนินมาตรการที่ไม่ใช่ตัวเงิน ได้แก่ โควตาการอบรมเฉพาะทาง โอกาสก้าวหน้าในตำแหน่ง การมอบรางวัลแพทย์ดีเด่นในชนบท ตลอดจนการมีชมรมเพื่อหนุนเสริมซึ่งกันและกัน เป็นต้น

แม้อาจจะยังไม่สามารถระบุได้ว่า ในมาตรการต่างๆ ที่ผ่านมานั้น มีมาตรการใดบ้างที่มีประสิทธิภาพต่อการคงอยู่ในชนบทของแพทย์ แต่โดยภาพรวมแล้วส่งผลให้มีแพทย์เพิ่มขึ้นในภูมิภาคต่างๆ อย่างเห็นได้ชัด โดยเห็นได้จากสัดส่วนของแพทย์ต่อประชาชนในภาพต่างๆ สูงขึ้น แต่ยังปรากฏความเหลื่อมล้ำของการกระจายตัวของแพทย์ จากข้อมูลปี 2553 พบว่า สัดส่วนแพทย์ต่อประชากรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือกับกรุงเทพฯ มีความแตกต่างลดลงจาก 10 เท่า ในปี 2536 เป็น 7.5 เท่า ในปี 2553 โดยมีสัดส่วนแพทย์ต่อประชากรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 1:4,591 คน, ภาคใต้ 1:3,148 คน, ภาคเหนือ 1:3,059 คน, ภาคกลาง 1:2,699 คน, และกรุงเทพฯ 1:628 คน แต่สถานการณ์การลาออกของแพทย์ก็ยังเป็นไปตามตารางที่แสดงข้างต้น

(ยังมีต่อ)
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่